ผู้ติดเชื้อ "โควิด" เพิ่มเเน่หลัง วันหยุดยาว เตือน เลี่ยงสถานบันเทิง
กระทรวงสาธารณสุข คาดหลังวันหยุดยาว อาจพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น เริ่มจาก กทม. แล้วต่อด้วยภูมิภาค เน้นย้ำ ระมัดระวังการไปสถานที่ท่องเที่ยว
นพ.จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ "โควิด" ช่วง 3 - 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาในหลายประเทศ ลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มเล็กกลับเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ ประเทศไทย ยังคงระดับการเตือนภัย "โควิด" อยู่ที่ระดับ 2 โดยเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจและภาวะปอดอักเสบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไทยจะมีการเฝ้าระวัง หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศ ทั้งนี้ พบว่าในจำนวนผู้ป่วยอาการหนักมีอัตราการเพิ่มขึ้น และข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขณะนี้ก็เพิ่มขึ้น
ส่วนกันเฝ้าระวังในผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด ในสัปดาห์ที่ผ่านมามี 132 ราย ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว 128 ราย คิดเป็นร้อยละ 97
ทั้งนี้ ในช่วงที่พบการระบาด สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบว่า มีโอกาสสูงในคนเคยติดเชื้อ BA.1 และ BA.2 มาแล้ว สามารถติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันอาจจะยังไม่เพียงพอ
โดยวัคซีนโควิด เข็มกระตุ้นยังคงมีความจำเป็น นับห่าง 4 เดือน จากการรับวัคซีนเข็มสุดท้าย หากครบกำหนดระยะเวลา ขอให้เข้ารับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นต่อ
สำหรับข้อมูลจำนวนผู้ป่วย "โควิด" ที่มีภาวะปอดอักเสบกำลังรักษาในโรงพยาบาลข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม อัตราครองเตียง ระดับ 2-3 พบ นนทบุรี ครองเตียงสูงสุด อยู่ที่ร้อยละ 42.60 รองลงมากรุงเทพฯ พบการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ร้อยละ 38.20, ชัยภูมิ อัตราครองเตียง ร้อยละ 30.50, สมุทรปราการ ร้อยละ 29.80, และ ปทุมธานี อัตราครองเตียง ร้อยละ 29.30
ซึ่งในช่วงวันหยุดยาวนี้ และหลังหยุดยาว อาจจะมีการพบการแพร่ระบาด "โควิด" ที่เพิ่มขึ้น อาจจะเริ่มจาก กทม. ก่อน และจึงค่อยพบในพื้นที่ภูมิภาค เน้นย้ำประชาชนที่จะไปเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ขอให้ระมัดระวังและยังคงมีมาตรการส่วนบุคคลอยู่ และหลีกเลี่ยงการไปสถานบันเทิง ซึ่งตามคาดการณ์ฉากทัศน์ของกรมควบคุมโรค จะพบผู้ป่วยสูงสุดในสัปดาห์ที่ 33
ส่วนการคาดการณ์ สถานการณ์ ผู้ป่วย "โควิด" รายใหม่ที่รักษาในโรงพยาบาลรายสัปดาห์ หรือแบบฉากทัศน์ หากทุกคนยังช่วยกันป้องกันมาตรการส่วนบุคคลและมีการเว้นระยะห่างตามสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรม กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดจะลดลง หากลดหย่อนมาตรการ อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาล เพิ่มอยู่ที่ 4,000 คนต่อวัน ทำให้ภาพรวมพบผู้ติดเชื้อ เป็น 28,000 รายต่อ สัปดาห์
ทั้งนี้ หากพบว่า จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่า 400 รายต่อวัน อาจจะทำให้ต้องมีมาตรการบางอย่างเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด หากพบว่ามากกว่า 40 รายต่อวัน อาจต้องมีการปรับมาตรการเช่นเดียวกัน
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีน "โควิด" เข็มกระตุ้น พบว่า ในจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเข้ารับการฉีดน้อยลง โดยภาพรวม อยู่ที่ร้อยละ 43 ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ อยู่ที่ร้อยละ 60 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 3 ไปแล้ว ร้อยละ 47.5 หรือ 6,030,107โดส และพบว่า จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เกินกว่าร้อยละ 60 อัตราการเสียชีวิตจะไม่มาก
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057