"โอไมครอน" BA.2.75 อาจนำระบาดสายพันธุ์หลัก แพร่เชื้อไว กลายพันธุ์มากสุด
ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูล "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 (เซนทอรัส) อาจเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาด หลังมีการกลายพันธุ์มากที่สุด ได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูล "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 รวมทั้งสายพันธุ์ที่พบระบาดขึ้นมาใหม่ อย่างรวดเร็ว BA.2.75 (เซนทอรัส) และ BA.3.5.1 (Bad Ned) สรุปได้หรือไม่ว่าจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่สามารถอยู่ร่วมกัน ในสถานะของโรคประจำถิ่น คำตอบคือ "ขึ้นกับสภาวะประชาชนแต่ละประเทศ"
จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบว่า
1. BA.2.75 (The Super Contagious Omicron Subvariant) ชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ "เซนทอรัส" Centaurus มีการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับไวรัสโควิด19 ทุกสายพันธุ์ที่เคยมีการระบาดมา โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม อู่ฮั่น มากกว่า 100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ถึง 200% โดยวัดเป็นสัปดาห์ เปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน (BA.5)
2. BA.3.5.1 (Bad Ned) กลายพันธุ์มากเป็นอันดับสอง รองจากเซนทอรัสต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 90 ตำแหน่ง
3. BA.5 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 85 ตำแหน่ง
4. BA.4 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80 ตำแหน่ง
5. BA.2.12.1 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 75-78 ตำแหน่ง
6. BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 75 ตำแหน่ง
คาดว่าอีกไม่นาน เซนทอรัส หรือ BA.2.75 ซึ่งขณะนี้กลายพันธุ์ไปมากกว่า 100 ตำแหน่ง (ต่างจากอู่ฮั่น) จะระบาดเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่ทุกสายพันธุ์ที่กล่าวมาข้างต้น และเป็นสายพันธุ์แรกที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เตรียมชุดตรวจไว้รองรับผลกระทบของการระบาด
จากการศึกษาธรรมชาติแห่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 โดยอาศัยข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 รวบรวมจากผู้ติดเชื้อกว่า 11.8 ล้านราย ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกช่วยกันถอดรหัสและอัปโหลดข้อมูลขึ้นบนระบบคลาวด์ของฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" พบว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยที่อุบัติขึ้นมาใหม่หากมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" มากเท่าไร ก็จะส่งผลให้สายพันธุ์นั้นมีการแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น (growth advantage) โดยแปรผันตรงกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น แต่อาจไม่สัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ส่วน "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ไปอย่างมากเช่นกันทำให้บางตำแหน่งของหนาม (spike) ที่อยู่บนเปลือกนอกของอนุภาคไวรัส มีการเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา บางตำแหน่งของหนามมีการกลายพันธุ์ไปเหมือนกับสายพันธุ์ อัลฟา เบตา และแกมมา นอกจากนั้นผลทดสอบทางห้องปฏิบัติการยังพบว่า BA.4 และ BA.5 เจริญในเซลล์ปอดมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงในหลอดทดลองได้ดี โดยเซลล์ติดเชื้อมีการหลอมรวมกัน (fusion) กลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (giant cell) อันสามารถดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายให้เข้ามาทำลายเกิดการอักเสบของปอดขึ้นได้ อีกทั้งพบการว่า BA.4 และ BA.5 สามารถเจริญในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและในปอดหนูทดลองได้ดี ทำให้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่เป็นสายพันธุ์อันตรายต่อมนุษย์ เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลตา
BA.4 และ BA.5 คาดว่าสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศโปรตุเกสได้เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรุนแรงต้องเข้า รพ. และเสียชีวิตมีจำนวนไม่เกินกว่าระบบสาธารณสุขของทั้งสองประเทศจะรองรับได้
การระบาดของ BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทยหากเทียบอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้เจ็บป่วยอาการรุนแรง และผู้เสียชีวิต กับประเทศอื่นที่กล่าวมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คงต้องรออีกระยะถึงจะสรุปได้ว่าจะมีผู้เจ็บป่วย เสียชีวิตเหมือนในช่วงการระบาดของเดลตาหรือไม่
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - https://www.komchadluek.net/
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057