"โอไมครอน" BA.2.75 เจอแล้วในไทย หมอธีระ ย้ำ แรงกว่า BA.5 ดื้อต่อยารักษา
"โอไมครอน" Omicron BA.2.75 เจอแล้วในไทยที่ จ.ตรัง หมอธีระ ย้ำ ไม่กระจอก เชื้อแรงกว่า BA.4 / BA.5 แถมดื้อต่อยารักษา
(19 ก.ค.2565 ) "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 401,359 คน ตายเพิ่ม 909 คน รวมแล้วติดไป 568,111,043 คน เสียชีวิตรวม 6,388,680 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิดสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล อิตาลี และสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 66.23 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 54.67
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทย จะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.
จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัปเดตเรื่องน่าสนใจ
- Novavax 3 เข็ม มีระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดต่อเชื้อไวรัส โอไมครอน Omicron พอ ๆ กับ mRNA vaccine (BNT162b2) 3 เข็ม Bhiman JN และคณะวิจัยจากประเทศแอฟริกาใต้ เผยแพร่ผลการศึกษาใน bioRxiv เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
- ไวรัสโรคโควิด-19 Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 เดิมพบครั้งแรกที่อินเดีย และกระจายไปหลายต่อหลายประเทศ โดยมีข้อมูลจากการวิจัย สรุปดังที่เคยเล่าไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนได้ ดังนี้
ทีมวิจัยจาก Indian SARS-CoV-2 Genomics Consortium (INSACOG) ให้ข้อมูลผ่านสื่อท้องถิ่น (Times of India, 4 July 2022) ว่า สายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน Omicron ที่ตรวจพบในอินเดียมากนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล ทั้ง BA.2.74, BA.2.75, และ BA.2.76 ได้รับการประเมินเบื้องต้นพบว่า มีแนวโน้มที่จะมีความแข็งแรง (Viral fitness) มากกว่า BA.5
Yamasoba D และคณะวิจัยจากญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการวิจัยใน bioRxiv วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 โดยศึกษาพบว่า BA.2.75 นั้น มีลักษณะการดื้อต่อยา
แอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาหลายชนิด เฉกเช่นเดียวกับ Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ระบาดมาก่อน แต่ยาแอนติบอดีบางชนิด ก็ยังสามารถใช้ได้ผลในการจัดการเชื้อ เช่น Regdanvimab, Sotrovimab, Tixagevimab
ในขณะที่ Cao YR จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการแบบไม่เป็นทางการ ชี้ให้เห็นว่า BA.2.75 นั้นมีแนวโน้มจะจับกับตัวรับ ACE2 ได้มากกว่า BA.4 และ BA.5 แต่ในเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันนั้น ศึกษาโดยดูภูมิคุ้มกันจากคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว เกิดติดเชื้อโรคโควิด-19 พบว่า BA.2.75 ดื้อกว่า BA.2.12.1 แต่อาจน้อยกว่า BA.4 และ BA.5 ยกเว้นกรณีที่เป็นคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามาก่อน BA.2.75 จะดื้อต่อภูมิมากกว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron BA.1 และ BA.2 มาก่อน
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการ และจากการวิจัยอื่น ๆ ในเวลาอันใกล้นี้ เพื่อให้ยืนยันลักษณะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ BA.2.75 ล่าสุด Rajnarayanan R จาก Arkansas State University ได้รายงานอัปเดตการตรวจพบสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ซึ่งเป็นที่จับตามองของทั่วโลกนี้ ที่น่าสนใจคือ มีรายงานว่า พบในประเทศไทยแล้ว จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจที่มาจากจังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565
สถานการณ์ระบาดของไทยเรายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานล่าสุด18 กรกฎาคม 2565 ของ European Centre for Disease Prevention and Control (ECDC) ชี้ให้เห็นว่า Omicron BA.4 และ BA.5 ในยุโรปนั้นกำลังระบาดหนัก และทำให้มีผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นชัดเจนทุกช่วงอายุ นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยรุนแรงจนเข้าไอซียู และเครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นชัดเจนมากในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
หมอธีระ ย้ำว่า ไทยเราคงต้องระวังนะครับ เพราะธรรมชาติของโรคนั้นมักสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก และมีโอกาสสูงที่เราจะกำลังเผชิญกับการระบาดที่มีสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ไปพร้อมกันได้ หากไม่ป้องกันให้ดี
จากความรู้ที่มีตอนนี้ BA.4 BA.5 และ BA.2.75 นั้นไม่กระจอก ใช้ชีวิตได้ ทำมาหากินได้ ศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ควรป้องกันตัวเสมอ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม หากเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ประมาท ก็จะลดความเสี่ยงลงไปได้มาก การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นมีความจำเป็นนะครับ และที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง สำคัญมาก...
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - https://www.komchadluek.net/
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057