"โควิด" กักตัว 5 เสี่ยงแพร่เชื้อสูงมาก ต้องกักตัวกี่วันถึงพ้นขีดอันตราย
"โควิด" หมอธีระ เผยกักตัวแค่ 5 วัน คงไม่พอเสี่ยงแพร่เชื้อสูงมาก ระยะเวลาเท่าไหร่มีโอกาสแพร่กี่ % และต้องกักตัวกี่วันถึงพ้นขีดอันตราย ดูด่วน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ "โควิด" ในประเทศไทย และแนวทางการรักษา การกักตัว โดยระบุ ว่า
31 กรกฎาคม 2565... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 652,804 คน ตายเพิ่ม 1,110 คน รวมแล้วติดไป 581,441,004 คน เสียชีวิตรวม 6,418,666 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 79.03 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.25
รศ.นพ. ธีระ ระบุเพิ่มเติมว่า
สถานการณ์ระบาด "โควิด" ของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...สิ่งที่ควรทราบเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันสำหรับโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron นั้นชัดเจนว่า
-การแยกตัวจากคนอื่นแค่ 5 วันนั้นไม่เพียงพอ มีโอกาสถึง 50% ที่จะยังมีเชื้อในร่างกายและแพร่ให้คนอื่นได้
-หากแยกตัว 7 วัน ก็ยังมีโอกาสถึง 25%
-ในขณะที่ 10 วัน โอกาสแพร่เชื้อมีราว 10%
-แต่หลัง 14 วันไปแล้ว ข้อมูลทางการแพทย์ชี้ว่าน่าจะปลอดภัย
ดังนั้น หากเป็นไปได้ ติดเชื้อแล้วแยกตัวสองสัปดาห์จะดีที่สุด
แต่ถ้าต้องกลับมาทำงานที่จำเป็นก่อนสองสัปดาห์ ให้ตระหนักเสมอว่ามีโอกาสหลุด และแพร่ให้คนใกล้ชิดหรือคนที่พบปะด้วยในชีวิตประจำวัน จึงต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด โดย
1. เลือกใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่าหากเป็นไปได้
2. ต้องแน่ใจว่า"หายจากอาการป่วยแล้ว" และควร "ตรวจ ATK ได้ผลเป็นลบ"
...โอกาสเป็นกลับซ้ำ (rebound) หลังได้ยาต้านไวรัส
ข่าวล่าสุด ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 และได้รับยาต้านไวรัสจนครบไปแล้วนั้น ปรากฏว่าตรวจพบผลบวกอีกครั้งหลังจากหายช่วงแรกไปเพียง 4 วัน จึงต้องทำการแยกตัวจากผู้อื่นอีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ
ข้อมูลทางการแพทย์จากผลการศึกษาวิจัยนั้นพบว่า การเป็นกลับซ้ำ หรือ rebound นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ราว 5% (แม้ในชีวิตจริง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหลายคนในอเมริกาจะมีความเห็นว่าอาจถึง 10% ก็ตาม)
การเป็นกลับซ้ำนั้น มักเกิดหลังจากได้รับยาต้านไวรัสจนครบ ไม่มีอาการ และผลตรวจเป็นลบไปแล้วเฉลี่ย 2-8 วัน แล้วกลับมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ และ/หรือผลตรวจกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง (ATK ขึ้นมาเป็นสองขีด)
คนไทยเราจำเป็นต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง rebound เพราะปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสมากขึ้น ดังนั้นหากช่วงแรกอาการหายไป แล้วเป็นกลับมาใหม่ หรือตรวจเป็นลบ แล้วกลับมาเป็นบวกใหม่ ก็จำเป็นต้องแยกตัวออกจากสมาชิกในบ้าน หรือที่ทำงานอีกครั้ง โดยปฏิบัติตามระยะเวลาแยกตัวที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้
ส่วนคำถามที่ว่า จะต้องเริ่มยาเพื่อรักษาใหม่หรือไม่? ข้อมูลในปัจจุบันยังมีน้อยมาก คำแนะนำในการปฏิบัติตอนนี้คือ รักษาตามอาการไปก่อน ยังไม่ควรกินยาต้านไวรัสซ้ำ แต่ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่ดูแล เพื่อจะได้เฝ้าระวัง สังเกตอาการและดูแลรักษาได้ทันท่วงที
...สำหรับข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินโดยสารไถลออกนอกรันเวย์เมื่อวานนี้
เจ้าหน้าที่และผู้โดยสารกว่า 160 คน ที่อยู่ในเครื่องบินเป็นเวลานาน ควรเฝ้าระวัง สังเกตอาการอีกสักสัปดาห์ด้วยนะครับ
เพราะการติดอยู่ในเครื่องที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศเป็นเวลานานนั้นจะเสี่ยงมากต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้