"โอไมครอน" BA.5 ครองพื้นที่แพร่ระบาดในไทยมากสุด พบ BA.2.75 แล้ว 5 ราย
"โอไมครอน" BA.5 ครองพื้นที่การแพร่ระบาดในไทยมากสุด ขณะที่พบ BA.2.75 แล้ว 5 ราย ส่วน สายพันธุ์ย่อย BA.4.6 มีมานานแล้ว และยังไม่พบในไทย
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงถึงสถานการณ์การระบาดของ โควิด19 ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการตรวจ 382 ตัวอย่าง พบว่าเป็น "โอไมครอน" BA.1 พบ 1 ตัวอย่าง, BA.2 พบ 48 ตัวอย่าง, BA.4 / BA.5 พบ 260 ตัวอย่าง, BA.2.75 พบ 1 ตัวอย่าง สำหรับสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 ครองสัดส่วนการระบาดในกรุงเทพมหานครแล้ว 91% ภูมิภาค 79.3%
เมื่อนำมาถอดรหัสพันธุกรรมด้วยวิธี Whole genome ตั้งแต่ พฤษภาคม 2565 พบว่า BA.5 พบ 77.13% BA.4 พบ 21.90% BA.2.75 พบ 0.97% ซึ่งหมายความว่า BA.5 แพร่เร็วจริงและไวกว่า BA.4 ในเรื่องความรุนแรงของ BA.5 ไม่ต่างจาก BA.1/BA.2
ทั้งนี้ พบ "โอไมครอน" BA.2.75 เพิ่มเป็นจำนวน 5 ราย รายละเอียดดังนี้
1. ชายไทย อายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง วันที่ 23-24 มิถุนายน 2565 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปประชุมสโมสรโรตารีที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย วันที่ 28 มิถุนายน 2565 มีอาการป่วย เจ็บคอ มีเสมหะ ไอ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปอดอักเสบ
2. ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดแพร่ เข้าร่วมประชุม ณ สโมสรโรตารี วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เริ่มมีอาการไอมีเสมหะ เจ็บคอ ไข้ ปวดศรีษะ หายใจเหนื่อย (ลูกสาวผู้ป่วยเดินทางไปกรุงเทพฯ พักกับเพื่อนที่ป่วยโควิด ลูกสาวป่วยกักตัวที่คอนโด 10 วัน แล้วเดินทางกลับมาบ้านที่แพร่)
3. ชายไทย อายุ 18 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดน่าน อาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก 14 วันก่อนป่วยมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่โรงเรียนโดยมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
4. ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา อาชีพข้าราชการบำนาญ เป็นผู้ป่วยติดเตียงตั้งแต่ปี 2560 ไม่เคยได้รับวัคซีนเนื่องจากแพ้ง่าย เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ 38 องศาเซลเชียส รพ.สงขลา ตรวจ PCR ผลเป็นบวกรักษาตัวในวอร์ดปกติ 2 วัน หลังจากนั้นเข้า ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ
5. หญิงไทย อายุ 85 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วยติดเตียง
ซึ่งต่อไปจะเห็นสัดส่วนของ BA.2.75 ว่าเร็วจริงเปอร์เซ็นต์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่เร็วก็จะโผล่มาสักพักแล้วก็หายไป
การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ "โอไมครอน" BA.4.6 มีมาตั้งแต่ปี 2020 มีข้อมูล GISAID ประมาณ 6,819 ตัวอย่างในหลายประเทศ แต่ที่เป็นประเด็นเนื่องจากเมื่อเดือนกรกฎาคมพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น โดย องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล แค่รับรู้ว่ามีตำแหน่งการกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่า แพร่เร็วหรือไม่ รวมถึงความรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์นี้
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ได้ที่นี่
(https://awards.komchadluek.net/#)