โควิด-19

"อาการโอไมครอน"  ในเด็ก พบ 5 อาการโควิด ที่เจอมากสุด รุนแรงต้องรับออกซิเจน

"อาการโอไมครอน" ในเด็ก พบ 5 อาการโควิด ที่เจอมากสุด รุนแรงต้องรับออกซิเจน

15 ส.ค. 2565

"อาการโอไมครอน" ในเด็ก หมอธีระ เผย ผลศึกษาพบ 5 อาการโควิด ที่เจอมากที่สุด รุนแรงกว่าเดลตา ถึงขั้น ติดโควิด แล้วต้องรับออกซิเจน ช่วงอายุเท่าไหร่เจออาการแบบไหน เช็คเลย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ หมอธีระ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และ "อาการโอไมครอน" ในเด็กแต่ละช่วงวัยที่เกิดอาการต่างๆ ขึ้นหลังจากที่ได้รับ เชื้อ โอไมครอน เข้าไปในร่างกาย โดยมีการแบ่ง ลักษณะ อาการโควิด ที่พบในเด็กออกเป็น 5 กลุ่มอาการ ซึ่งแต่ละช่วงอายุ มักจะมี "อาการโอไมครอน" ที่แสดงออกมาแตกต่างกัน โดย หมอธีระ ระบุ ว่า 

สำหรับข้อมูลพบ "อาการโอไมครอน" ในเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron โดยระบุ ว่า Shoji K และคณะ จากประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์โรคติดเชื้อ Journal of Infections and Chemotherapy วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

โดยศึกษาเปรียบเทียบอาการป่วยในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สมัยสายพันธุ์เดลต้า (ช่วง 1 สิงหาคมถึง 31 ธันวาคม 2564) จำนวน 458 คน กับสายพันธุ์ Omicron (ช่วง 1 มกราคมถึง 15 พฤษภาคม 2565) จำนวน 389 คน

 

พบว่าในยุค Omicron นี้ เด็กๆ จะมีอาการหลายอย่างที่แตกต่างจากสมัยเดลต้า

 

1. มีอายุเฉลี่ยที่ป่วยน้อยกว่าสมัยเดลต้า

 

2.เด็กอายุ 2-12 ปีนั้นจะพบว่ามีไข้ (ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป) มากกว่าสมัยเดลต้า

 

3.เด็กอายุ 2-12 ปีนั้นจะพบว่าอาการชักได้มากกว่าสมัยเดลต้า

 

4.ในเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป จะพบอาการเจ็บคอมากกว่าสมัยเดลต้า

 

5. ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป พบอาการดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ น้อยกว่าสมัยเดลต้า

 

และสุดท้ายคือ จำนวนผู้ป่วยเด็กที่ต้องให้อ๊อกซิเจนนั้นมีมากกว่าสมัยเดลต้า แต่อัตราการป่วยหนักจนต้องรับการรักษาในไอซียูนั้นไม่ได้แตกต่างจากสมัยเดลต้า

 

ข้อมูลข้างต้นจากทางประเทศญี่ปุ่น ช่วยสะท้อนให้คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ได้ตระหนักถึงอาการของเด็กที่ติดเชื้อในสมัย Omicron นี้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันสังเกตอาการที่พบบ่อยในเด็ก เช่น ไข้ เจ็บคอ เพื่อที่จะได้นำเด็กๆ ไปตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสที่จะเกิดผลแทรกซ้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องชักหรือการป่วยหนักตามมา

 

การพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนตามอายุที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องจำเป็น 

 

และที่สำคัญยิ่งคือ การสอนเด็กๆ ให้รู้จักวิธีป้องกันตัวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เช่น การใส่หน้ากาก ล้างมือ และระมัดระวังการพูดคุยระหว่างกินอาหารกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน กินไม่คุย จะคุยควรใส่หน้ากาก

 

 

สำหรับสถานการณ์ การระบาดของ โควิด เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 491,159 คน ตายเพิ่ม 871 คน รวมแล้วติดไป 595,050,336 คน เสียชีวิตรวม 6,454,248 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

ทั้งนี้สัดส่วนของประเทศจากเอเชียมีมากถึงครึ่งหนึ่งของ 20 อันดับแรก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.78 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.77

 

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

 

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

รศ.นพ. ธีระ ระบุถึงการป้องกันโควิด โดยการ ฉีดวัคซีนโควิด ว่า  ข่าวที่แพร่กันในโซเชียลว่า จะได้ภูมิคุ้มกันดีที่สุดหากฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อนั้น 

 

อาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า ฉันฉีดวัคซีนมาแล้ว ยอมลดการ์ดดีกว่า เพื่อที่จะติดเชื้อจะได้ภูมิสูงๆ แล้วจะป้องกันได้ 

 

ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นชัดเจนว่าไวรัสกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มที่ผ่านมาพบว่ามักมีสมรรถนะที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้น ดังที่เห็นจาก Omicron สายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดขณะนี้อย่างเช่น BA.5 รวมถึงสายพันธุ์อื่น อาทิ BA.4 และ BA.2.12.1 

 

บทความวิชาการทบทวนความรู้จาก Nature Reviews Immunology ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ชี้ให้เห็นว่า ต่อให้ฉีดวัคซีน แล้วมีการติดเชื้อสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ระดับภูมิคุ้มกันต่อ BA.5 ก็อยู่ในระดับน้อย 

 

เฉกเช่นเดียวกัน หากไวรัสกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะติดเชื้อ ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นมาก็อาจไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้ในอนาคต

 

ตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า วัคซีนต่างๆ ที่มีมานั้นมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันชัดเจน โดย mRNA vaccines กระตุ้นภูมิได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ ทั้งไวรัลเวคเตอร์และเชื้อตาย อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการศึกษาแล้วพบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบต่างแพลตฟอร์มจะช่วยกระตุ้นภูมิได้ดีขึ้นหรือเทียบเท่าแพลตฟอร์มเดียวกัน 

 

ที่สำคัญคือ ต้องรู้เท่าทันว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดโอกาสเสียชีวิต แต่ฉีดแล้ว หากไม่ป้องกันตัว ก็จะป่วยได้ ยังป่วยรุนแรงได้ ยังเสียชีวิตได้ 

 

และที่สำคัญที่สุดคือ ความทุกข์จากภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน โดยเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศได้

 

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอในภาวะการระบาดเช่นนี้จึงมีความจำเป็น

 

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นหัวใจสำคัญ

 

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด...