"ติดโควิด" หายแล้ว ไม่เจอภาวะ ลองโควิด เพราะอะไร โชคดี หรือ มีภูมิ
ดร.อนันต์ เปิดผลวิจัย "ติดโควิด" หายแล้ว ไม่เจอภาวะ "ลองโควิด" Long Covid เป็นเพราะอะไร โชคดี หรือ มีภูมิคุ้มกัน
หากพูดถึงภาวะ ลองโควิด (Long COVID) เชื่อว่า หลายคนน่าจะรู้จักกันดีแล้ว โดยเฉพาะคนที่เคยติดโควิด คงรู้สึกกังวล เพราะไม่อยากต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าเชื้อโควิด จะหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย และทำให้ผู้ที่หายป่วยบางราย ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง แล้วคนที่เคยติดโควิด มีโอกาสที่จะไม่เจอภาวะ ลองโควิด หรือไม่
(18 ส.ค.2565) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Anan Jongkaewwattana ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนโควิด แล้วเผลอไปติดโควิดมา ถ้าหายแล้วและไม่มีอาการ ลองโควิด Long COVID จะถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เพราะภูมิคุ้มกันบริเวณที่ภูมิจากวัคซีนไปไม่ถึงที่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือ ในจมูกของเราจะได้รับภูมิที่ธรรมชาติให้มา และเนื่องจากจมูกเป็นส่วนของร่างกายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อ และเพิ่มจำนวนของไวรัสการที่มีภูมิคุ้มกันที่พร้อมรบ ภูมิดังกล่าวที่ได้มาก็จะช่วยเรารบในการติดเชื้อซ้ำครั้งต่อไป ถึงแม้จะเกิดขึ้นได้อีก การเพิ่มจำนวนของไวรัสก็จะไม่มากเท่าเดิม
ดร.อนันต์ ระบุว่า หลังติดเชื้อ นอกจากในจมูกของเราจะมีแอนติบอดีชนิด IgA รอจับไวรัสในจมูกแล้ว งานวิจัยชิ้นล่าสุดของทีมสิงคโปร์ นำเซลล์ในเยื่อจมูกของผู้ที่ได้รับวัคซีน กับ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อไปเปรียบเทียบดู พบว่า ผู้ที่เคยสัมผัสกับไวรัสตัวจริงในบริเวณจมูก มีเม็ดเลือดขาว T cell ที่จำโปรตีนของไวรัสได้หลายชนิด ที่ไม่จำกัดแค่โปรตีนสไปค์เท่านั้น เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ ถ้าไปเจอเซลล์ที่มีโปรตีนที่จำได้อีกครั้ง ก็จะเข้าทำลายไม่ให้ไวรัสมีเวลาเพิ่มจำนวนได้มากมาย เหมือนก่อนที่ตำแหน่งในจมูกนั้นเอง
ทีมวิจัยพบว่า ในบรรดาโปรตีนที่ T cell ในจมูกจำได้แม่น และจำนวนเยอะที่สุดคือ โปรตีนชื่อว่า Nsp12 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนสูตรใด ๆ ถ้าไม่เคยติดโควิด เราไม่มีทางมี T cell ที่รู้จักโปรตีนตัวนี้ ที่สำคัญคือ ไม่ว่าไวรัสจะกลายพันธุ์หนีภูมิอย่างไร Nsp12 ดูเหมือนจะอยู่นิ่งมาก ไม่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนสไปค์ ดังนั้น สิ่งที่ T cell จำได้ก็จะใช้งานได้อยู่ แต่น่าเสียดายที่ T cell ในจมูกหลังติดเชื้อลดลงไปตามกาลเวลาเหมือนแอนติบอดี
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่า ระดับของ T cell ยังไม่เปลี่ยนแปลง 3 เดือน หลังติดเชื้อ แต่พอดูอีกทีที่ 6 เดือนพบว่า ระดับลดลงไปมากกว่าครึ่ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เห็นคนติดเชื้อซ้ำแล้วมีอาการได้ หลังจากติดเชื้อไปนาน ๆ แล้วนั่นเอง
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote