"อาการลองโควิด" เช็ค 4 อาการ เป็นนานเกิน 2 เดือน ควรพบ หมอ ด่วน
เจ็บแต่ไม่จบ เปิด "อาการลองโควิด" เจอ 4 อาการนี้ เป็นนานเกิน 2 เดือน ควรพบ หมอ ด่วน เปิดข้อมูลใหม่ ติดโควิด เสี่ยง โรคทางสมอง-ระบบประสาท ระยะยาว
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายจาก ติดโควิด แล้ว อาการที่จะตามมาคือ ภาวะลองโควิด long covid เจ็บแต่ไม่จบ..หลังหายจากโควิดตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และจะมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่ต้น พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ระยะเวลาของอาการมีตั้งแต่หลายเดือน จนถึงเป็นปี หลายอาการรักษาได้ แต่หลายอาการต้องรักษาระยะยาว และอาจมีผลต่อร่างกายถาวร แล้วอาการลองโควิด แบบไหน ที่เมื่อมีอาการผิดปกติ หลังจากติดเชื้อโควิดนานเกินกว่า 2 เดือน ควรที่จะต้องไปพบหมอด่วน
โดยปกติแล้ว ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรือชื่ออื่น ๆ ที่เรียก ได้แก่ Post-COVID Syndrome, Long COVID, Post-COVID Conditions, Post-acute COVID-19, Chronic COVID และ Long-haul COVID-19 เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโควิด-19 และรักษาจนหายแล้ว แต่ยังคงมีอาการผิดปกติ โดยอาการลองโควิดส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่
- ไอเรื้อรัง
- อ่อนเพลียมาก
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- ผมร่วง
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- สมองล้า ความจำแย่ลง สมาธิสั้น
- นอนไม่หลับ
- หายใจลำบาก หายใจผิดปกติ
- ภาวะซึมเศร้า
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
80% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการใดอาการหนึ่ง โดยอาจมีอาการได้ยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ แม้จะหายจากการติดเชื้อโควิด-19 มานานกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม
ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า อาการลองโควิด 4 แบบ เมื่อมีอาการผิดปกติหลังจากติดเชื้อโควิด นานเกินกว่า 2 เดือน ควรไปพบแพทย์ คือ
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น ชา
- แขนขาอ่อนแรง
- เหนื่อยจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้
ด้าน หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผลการวิจัย เกี่ยวกับอาการลองโควิด ว่าล่าสุด Greenhalgh T และคณะ ได้เผยแพร่แนวทางการดูแลผู้ป่วย Long COVID ในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal ซึ่งแนวทางนี้ครอบคลุมตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินปัจจัยเสี่ยง การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และแนวทางการดูแลรักษาและส่งต่อ
"การติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางสมองและระบบประสาทในระยะยาว"
Xu E และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลวิจัยสำคัญในวารสารการแพทย์ระดับโลก Nature Medicine เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2565
โดยดูอัตราการเกิดโรคทางสมองและระบบประสาท ณ 12 เดือน ระหว่างกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิด จำนวน 154,068 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อ จำนวนกว่า 11 ล้านคน ทั้งในช่วงเวลาเดียวกันและในอดีต จากฐานข้อมูล the US Department of Veterans Affairs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรสูงอายุ อายุเฉลี่ยราว 60 ปี (±15 ปี) และเป็นเพศชายราวร้อยละ 90 ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท มากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อถึง 1.42 เท่า โดยมีอัตราการเกิดเฉลี่ย 70 คนจาก 1,000 คน ณ 12 เดือน หรือราว 7%
ปัญหาทางสมองและระบบประสาทนั้น เกิดได้ทั้งในคนที่ติดเชื้อที่แล้วอาการน้อย และที่อาการรุนแรง เกิดได้ตั้งแต่อาการผิดปกติด้านความคิด ความจำ อารมณ์ หลอดเลือดสมองแตกตีบตัน สมองอักเสบ ชัก ไมเกรน การรับรู้ความรู้สึกที่ผิดปกติ และอื่น ๆ
หมอธีระ ระบุว่า ผลการวิจัยนี้ ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงผลกระทบระยะยาวของอาการลองโควิด หลังติดเชื้อโรคโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้จะผ่านไป 12 เดือน หลังจากติดเชื้อก็ตาม และงานวิจัยนี้ก็เพิ่มเติมให้เห็นว่า เกิดความเสี่ยงต่อสมองและระบบประสาทด้วยเช่นกัน
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote