โควิด-19

"ติดโควิด" เปิด แนวทางรักษา หลังเป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง ไป ทำงาน ต้องทำไง

"ติดโควิด" เปิด แนวทางรักษา หลังเป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง ไป ทำงาน ต้องทำไง

05 ต.ค. 2565

กระทรวงสาธารณสุข เปิด แนวทาง "รักษาโควิด" หลังเป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง "ติดโควิด" ไม่มีอาการ หากจำเป็นต้องไปทำงาน ให้ สวมแมสก์ 2 ชั้น

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ปรับลดมาตรการป้องกันควบคุมโรค "โควิด" จากโรคติดต่ออันตราย ซึ่งประกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น กล่าวคือแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตลดลง และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด อยู่ในระดับสูง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา 

 

 

 

(5 ต.ค.2565) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่อง “ติดโควิด 19 แนวทางการรักษาทุกกลุ่มวัย” ว่า ขณะนี้โรคโควิด19 มีความรุนแรงลดลง จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง วันนี้ผู้เสียชีวิตต่ำกว่าหลักสิบราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด จึงต้องขอย้ำว่า ควรไปรับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม จะช่วยลดความรุนแรงจากการติดโควิดได้

 

 

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจ ATK ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกวัน ควรตรวจเมื่อมีอาการเข้าข่ายสงสัย เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกเป็นต้น หากผลเป็นบวกแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอเล็กน้อย ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หรือมีไข้ต่ำ ๆ ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสและอาจรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ลดเสมหะ ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนมาก ๆ แนะนำให้แยกตัวเอง 5 วัน แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน หรือไปทำงาน ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMH 100% คือ ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่น แต่หากมีอาการไอมาก ไอบ่อย ไอถี่ หรือมีน้ำมูกมาก ขอให้หยุดงาน และงดเดินทาง 5 วัน เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายเชื้อ แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น ได้แก่ 

  • วัดไข้ได้ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน 
  • วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94% 
  • มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัว 
  • มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง  
  • มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 
  • ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง เป็นต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์

 

 

“หากผลตรวจเป็นลบ ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจจะสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง 2-3 วัน ถ้ามีอาการค่อยตรวจ ATK ซ้ำ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ แนะนำว่ายังจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ โดยการสวมหน้ากากอนามัยให้ประเมินตามความเสี่ยง” นพ.ธงชัยกล่าว

 

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด19 หากไม่มีอาการ จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ให้ปฏิบัติตาม DMH อย่างเคร่งครัด 5 วัน, กรณีมีอาการเล็กน้อย หรือเอกซเรย์ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือโรคร่วมที่สำคัญ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ปฏิบัติตาม DMH เคร่งครัด 5 วัน, หากมีปัจจัยเสี่ยง หรือโรคร่วมสำคัญ อาจมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะพิจารณาให้ยาแพกซ์โลวิด หรือ เรมดิซิเวียร์ หรือ โมลนูพิราเวียร์ และหากมีปอดอักเสบต้องให้ออกซิเจน หรือความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รักษาแบบผู้ป่วยใน โดยแพทย์จะให้ยาเรมดิซิเวียร์ 

 

ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ หากไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมดิซิเวียร์ หรือหากมีปอดอักเสบ จะให้ยาเรมดิซิเวียร์ สำหรับใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงาน หรือยื่นเคลมประกัน กรณีผู้ป่วยนอก แพทย์จะออกใบรับรองให้ 5 วัน ส่วนกรณีผู้ป่วยใน ซึ่งอาจจะรักษานานกว่า 5 วัน แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์ตามระยะเวลาที่รักษา

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057