"ติดโควิดซ้ำ" ผลวิจัย พบ เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า เป็น โรคหัวใจ ถึง 3 เท่า
เมื่อ โควิด ไม่จบง่าย ๆ ผลวิจัย พบ "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตายเพิ่ม 2 เท่า มีแนวโน้มเป็น โรคหัวใจ มากกว่าคน ติดโควิด ครั้งเดียว ถึง 3 เท่า
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้เสียชีวิตลดลง แต่ด้วยนโยบายด้านการป้องกันโควิด ที่ผ่อนคลาย ก็ทำให้คนที่เคยติดเชื้อโควิด มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ซึ่งพบแล้วหลายตัวอย่าง แม้อาการจะไม่รุนแรง แต่ผลวิจัยล่าสุด กลับพบว่า ผู้ที่ "ติดโควิดซ้ำ" เสี่ยงตายสูงกว่า คนที่เคยติดโควิดครั้งแรกถึง 2 เท่า
โดยวารสาร Nature Medicine ตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ที่รวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 6 เมษายน 2565 มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด 1 ครั้ง จำนวน 443,588 คน และติดเชื้อตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จำนวน 40,947 คน และมีประมาณ 5,300,000 คน ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด-19
ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ติดโควิดซ้ำ มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนติดโควิดครั้งแรกถึง 2 เท่า และยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล มากกว่าคนที่ติดเชื้อโควิดเพียงครั้งเดียวถึง 3 เท่า
ดร.ซิยาด อัล-อะลี จาก Washington University School of Medicine ในเซนต์หลุยส์ ระบุว่า การติดโควิดซ้ำ เพิ่มความเสี่ยงทั้งแบบเฉียบพลันและลองโควิด นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิดซ้ำ ยังมีความเสี่ยงสูงที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด หัวใจ เลือด ไต เบาหวาน สุขภาพจิต กระดูก และกล้ามเนื้อ และความผิดปกติของระบบประสาท
ทั้งนี้ ผลการวิจัย ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดซ้ำ มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับปอดมากกว่าคนติดโควิดครั้งเดียวถึง 3 เท่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางระบบประสาท มากกว่าผู้ที่ติดเชื้อเพียงครั้งเดียวถึง 60% และผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่สูงในช่วงเดือนแรกหลังการติดเชื้อซ้ำ และยังมีอาการปรากฏเด่นชัดในอีก 6 เดือนข้างหน้าด้วย
สาเหตุติดโควิดซ้ำ
จากข้อมูลพบว่า เราสามารถติดโควิดซ้ำได้ โดยส่วนมากการติดโควิดซ้ำ จะเกิดจากการติดเชื้อจากโควิดสายพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่หายจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีโอกาสติดโควิดรอบสองเป็นสายพันธุ์โอไมครอนได้
โดยข้อมูลการติดเชื้อซ้ำในโควิดสายพันธุ์โอไมครอน พบว่า มีโอกาสติดโควิดซ้ำ มากถึง 10-20% ภายใน 1-2 เดือน หลังหายจากเชื้อที่ได้รับในการติดโควิด-19 รอบแรก เนื่องจากภูมิต้านทานในร่างกายตก จนทำให้มีโอกาสติดเชื้อเทียบเท่าผู้ที่ไม่เคยติดโควิด-19 มาก่อน
อาการติดโควิดซ้ำ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาการโควิดรอบใหม่ จะรุนแรงน้อยกว่าการติดโควิดในรอบแรก เพราะร่างกายจะได้ภูมิต้านทานในระดับหนึ่งจากการติดเชื้อในครั้งแรก ทำให้เมื่อติดเชื้อซ้ำอาการจะลดลงกว่าตอนที่ติดเชื้อในครั้งแรก
ใครที่กังวลว่าโควิดสามารถติดได้กี่รอบ ในการติดเชื้อครั้งที่ 3 และ 4 ต่อไปเรื่อย อาการจะลดลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกันกับโรคติดต่อทางทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่อาการเมื่อติดในรอบแรกจะรุนแรงที่สุด
กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงติดโควิดซ้ำ
- ผู้ที่ผ่านการติดเชื้อรอบแรกมาแล้ว 3-6 เดือน ภูมิต้านทานลดลงเท่าผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
- ผู้ที่ลดมาตรการการป้องกันตัวเอง
- ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยที่ต้องล้างไต
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก
- ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิ
- ผู้ป่วย HIV (ที่มี CD4 ต่ำกว่า 200 / ผู้ป่วยขาดยา)
อย่างไรก็ตาม การติดโควิดซ้ำ อย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลเสียต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น ไวรัสจะไปทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอักเสบ เสี่ยงทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์สมอง เซลล์ประสาท ถุงลมปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ จึงควรระมัดระวังตัวไม่ให้ติดโควิด-19 จะส่งผลดีต่อร่างกายของเราที่สุด