ครูไม่ทน ส่งสัญญาถึง ตรีนุช ขาดการมีส่วนร่วม "หลักสูตรฐานสมรรถนะ"
หลักสูตรฐานสมรรถนะ ศธ.ปิดกั้น ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมคำถามโรงเรียนที่พร้อม และ ไม่พร้อมจะทำอย่างไร
ต้นเดือน เมษายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศนโยบายปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ประกอบด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชมรมครูสังกัดกรุงเทพฯ วอนศธ.ทบทวนใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”
“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แนวคิดสวยหรู ดูดี ของเล่นใหม่ศธ.
“องค์กรครู” ไม่สบายใจ "เรียนมายังไงฯ" ถามกลับนายกฯ เด็กก้าวร้าวเพราะใคร
เนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กำหนดสมรรถนะไว้ 5 ด้าน มีตัวบ่งชี้กว่า 1,200 ตัว ใช้เวลาเรียน1,000 ชั่วโมง
ในปีการศึกษาหน้า หลักสูตรอิงมาตรฐาน 51 ศธ. กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยลดเนื้อหาที่เด็กเรียนเป็น7กลุ่มสาระฯ ปรับสมรรถนะลงเหลือ 6 ด้าน ใช้เวลาเรียนลดลงเหลือแค่ 800 ชั่วโมง ปลดล็อกด้านตัวชี้วัด
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เสียงสะท้อนจากฝ่ายปฏิบัติงวยงงกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง
ประเด็นหลัก คือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เดือนกันยายน 2564 ทั้ง ๆ ที่ประเทศ ยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศทุกวัน และเสียชีวิตจำนวนมาก
ขณะที่ครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน ยังทำงานที่บ้าน นักเรียนเรียนออนไลน์ ผู้ปกครอง ตลอดจนครอบครัว ชุมชน ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงกับโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19
ประเมินเสียงคัดค้านนี้ ไม่ใช่มีเพียงเสียงจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดองค์กรครูทั่วประเทศได้แสดงออกแพร่ไปในวงกว้าง ยังมีทีท่าขยายวงออกไปสู่ผู้ปกครอง จนอาจกลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด
ยังมีประเด็น ความเสี่ยงต่อการระบาดโควิด-19 ที่ รมว.ศธ.เองไม่ยอมรับรู้ หากยังมีอีกหลายประเด็นที่อาจกระทบถึงต่อเก้าอี้รัฐมนตรีของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง หลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ไปแล้ว แว่วว่ามีแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ที่เฝ้าจ้องผลงานของครูเหน่ง ตรีนุช ที่ค่อนข้างมีจุดอ่อนมากมาย
ประเมินได้จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับสั่งการในลักษณะห่วงใยในการทำงานหลายต่อหลายวาระ เช่นกัน ห้ามหักเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท และล่าสุดในการประชุมคณรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 7กันยายน ที่ผ่านมา นายกฯ กำชับทั้งเร่งกระทรวงศึกษาธิการให้จ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ให้เร็วที่สุด
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. จัดได้ว่าขยันผุดโครงการประเมินสารพัดในศธ. เพื่อสำรวจสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมาย ทั้งประเมินสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีการส่งคนจากส่วนกลางลงพื้นที่ เพื่อรับทราบ แก้ไขปัญหา และปรับนโยบาย ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น แต่กลายเป็นเรื่องขี่ช้างจับตั๊กแตน ขยันแบบผิดที่ ผิดจังหวะ ผิดเวลา ผิดหน่วยงาน สิ้นเปลืองงบ ฯ ทักท้วงแล้วก็ยังเฉยเมย
แม้การยกพลจากส่วนกลางแห่แหนนับพันคน ออกไปสำรวจรับฟังแผนบูรณาการการศึกษา 77 จว. นำร่อง 349 แห่ง ในช่วงแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในยุค รมว.ศธ.ก่อนหน้านี้ เพื่อได้เห็นการเกิดของ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน,โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือสแตนด์อโลน อย่างเป็นรูปธรรม แล้ววันนี้เงียบสนิท ไม่มีใครพูดถึงแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองถึงคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช(หลักสูตรฐานสมรรณะ) ที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้ลงนามแต่งตั้งไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
กลับไม่ปรากฏรายชื่อ ครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดนักวิชาการ รวมถึงนักจิตวิทยาเด็กทางการศึกษา ครูแนะแนวไทย ตลอดผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ได้รับยอมรับ ทั้ง ๆที่มีผลงานโดดเด่นได้รางวัลจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดสรรหาขึ้นมายกยก่องเชิดชูในทุกปี ล้วนมีอยู่มากมาย ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับกระทรวงฯระดับประเทศ ไปถึงนานาชาติ อยู่ร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่มากพอ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
จึงเป็นที่มาของเสียงถามหาและการทบทวนประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของบรรดาคณะกรรมการฯ จำนวนถึง 23 คน ตลอดผลงานที่เป็นรูปธรรมที่ส่งให้แต่ละคนไปสู่ความสำเร็จ สถานภาพ ดังกล่าว เพื่อลบข้อครหา “ คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ” หรือ “คิดอยู่บนหอคอยงาช้าง” ด้วยเกรงว่าจะเกิดความล้มเหลวดังเช่นการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษแรก ที่ส่งต่อความล้มเหลวมาถึงทุกวันนี้
และเนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการฯ อีกจำนวน 23 คน ชุดนี้มีทั้งนักการเมือง และนักวิชาการ จำนวนหนึ่งล้วนเคยได้รางวัลเป็นการตอบแทนจากผลงานที่เข้าไปร่วม ต่างได้รับดอกออกผลในองค์กรอิสระ และตำแหน่งอันมีบทบาทสำคัญไม่ทางตรงหรือทางอ้อม ตกทอดมาถึงทุกวันนี้ ก็หลายคนที่ยังคาใจในฐานสมรรถนะแห่งพฤติกรรม
หากจะว่าไปแล้ว นักคิด นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย เหล่านี้บางคนส่วนใหญ่ เขาไม่เคยหยุดคิดที่จะสอนปลาให้ปีนต้นไม้ ก็ไม่ใช่แปลกอะไร ในเมื่อฐานสมรรถนะแต่ละคนถูกตั้งโปรแกรมมาอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านและเรียกร้องให้ชะลอถึงการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 จะคลี่คลาย ในเมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศ ยังเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่ได้เลย ย่อมมีน้ำหนัก เป็นเหตุเป็นผล
แม้แต่การจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะในรูปแบบใดที่เปิดเผยได้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิเสรีภาพและการดำเนินการใด ๆ ต้องรับฟัง เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน แต่ควรจะจัดในสถานการณ์ที่มีความเป็นปกติ เพราะสภาพแวดล้อมของโรงเรียนจะเอื้ออำนวยต่อการทดลอง เมื่อนำหลักสูตรไปใช้จริงในสภาพการณ์ที่เป็นปกติ จะสามารถทำให้การใช้หลักสูตรบรรลุเป้าหมายได้ ก็รับได้
เมื่อร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังมีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขหลายเรื่อง ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น
การเริ่มนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง และกาญจนบุรี เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้ม เพียง จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม องค์กรครู ต่างๆ ถึงออกมาท้วงติง มีทั้ง สมาพันธ์ครูภาคใต้ ร่วมกับองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ออกโรงคัดค้าน พูดตรงกันว่ายังไม่มีความพร้อมกับการใช้หลักสูตรใหม่นี้ในระยะเวลาอันใกล้ ด้วยเหตุผลไปในทิศทางเดียวกันกับสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)
รวมทั้งการตั้งข้อสังเกต ถึง ทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ. ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ส่อว่าอาจต้องพลอยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเชิงกล่าวหาได้ว่า มีการเอื้อประโยชน์อะไรกันด้วยหรือไม่
การที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธฺการ ประกาศแผนการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะว่า จะใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อม,ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ถามกลับ “ตรีนุช เทียนทอง” ทำไมไม่ออกแบบนำร่องทดลองใช้ร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ ไปพร้อมกันในโรงเรียนที่มีความพร้อมและไม่มีความพร้อม ที่มีขนาดเท่ากัน หรือขนาดที่ใกล้เคียงไปพร้อมกันทีเดียว ในแต่ละพื้นที่กำหนดไว้จะดีกว่าการเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมอยู่แล้วแบบทดสอบนั้นอาจจะห่างไกลความเป็นจริง เมื่อนำมาปฏิบัติ
ครูไม่ทน ส่งเสียงถึง “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้รับผิดชอบกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้ลูกหลานไทย ควรเปิดใจ รับฟังบ้างนะ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นใครควรรับผิดชอบ