บันเทิง

ละครพีเรียดแต่ละยุคสมัยบอกความเป็นไปของสังคมไทย

ละครพีเรียดแต่ละยุคสมัยบอกความเป็นไปของสังคมไทย

14 มิ.ย. 2554

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็เริ่มมีวิวัฒนาการใหม่ๆ ก้าวเข้ามา ละครพีเรียด หรือละครย้อนยุค แต่จะเป็นยุคไหน ต่างสะท้อนสังคมเมืองไทยในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพีเรียดยุคเก่าอย่าง สู่ฝันนิรันดร ทาสรัก อาญารัก นางทาส หรือจะเขยิบยุคขึ้นมาอีกหน่อย

 อย่าง วนิดา วนาลี แต่ปางก่อน หนึ่งในทรวง ดอกแก้ว ดวงตาสวรรค์ ปริศนา เจ้าสาวอานนท์ รัตนาวดี มาลัยสามชาย บ้านทรายทอง เขมรินทร์ อินทิรา คือหัตถาครองพิภพ รอยรักรอยบาป เรือนซ่อนรัก เจ้าจอม ตะวันยอแสง ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบในเรื่องต่างบ่งบอกถึงยุคสมัย และสภาพสังคมไทย เทคโนโลยี วิวัฒนาการในยุคนั้นๆ ว่ามีความแตกต่างจากละครยุคปัจจุบันอย่างไร

 ประเดิมกันด้วยเรื่องภาษา - เด่นชัดสุดๆ เพราะเวลาเล่นละครพีเรียดนักแสดงจะประสบปัญหาเรื่องภาษาเป็นอันดับแรก หากเป็นพีเรียดที่ต้องเล่นบทเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง อย่างละครเรื่อง ดั่งดวงหฤทัย หรือต้องเข้าบทกับพระเอกที่เป็นเชื้อพระวงศ์อย่าง ปริศนา ก็ต้องใช้ศัพท์แสงเป็นราชาศัพท์ แต่ถ้าเป็นละครย้อนยุคอย่าง สู่ฝันนิรันดร (นก-หมิว) ทวิภพ แต่ปางก่อน คำโบราณมากมายจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ถ้าเป็นพีเรียดยุคใหม่หน่อย คำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคำว่ากระผม อิฉัน ขอรับ หล่อน ฯลฯ ที่ใช้บ่อยๆ ในสมัยก่อน ปัจจุบันนี้ก็ไม่นิยมใช้ ทำเอานักแสดงลิ้นแข็งไปตามๆ กัน แหม...ก็ใครจะคิดว่า คำว่าอำแดง จะหมายถึงนางสาว หรือคำว่า แฝร่น จะหมายถึงแฟนกันล่ะ แต่อย่างคำว่า สตอเบอร์รี่ หรือคำว่า ซุป’ตาร์ ที่เรานิยมพูดกันตอนนี้ก็อย่าหวังว่าจะไปโผล่ในหนังพีเรียดนะจ๊ะ

 ค่านิยมที่สังคมนิยมปฏิบัติ - รู้ๆ กันมาแต่โบราณว่า คนไทยนิยมกินหมาก แม้ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนกินหมากแล้วก็ตาม ในละครเรื่องอาญารัก หรือ นางทาส ไม่มีทางที่จะเห็นทาสคนไหนเคี้ยวหมากฝรั่ง แต่เราจะเห็นทาสในเรือนต่างเคี้ยวหมากเป็นเรื่องปกติ หรือแม้การสูบบุหรี่ ถ้าเป็นในละครพีเรียดเราคงไม่มีทางเห็นคุณหลวงคว้าบุหรี่มาร์ลโบโรมาสูบหรอก แต่เราจะเห็นคว้าบุหรี่กลีบบัว หรือไปป์แทน หรือจะเป็นค่านิยมในการสวมหมวกเวลาออกนอกบ้าน (เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่ใช้จริงในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรืองอำนาจ) จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นตัวละครในเรื่องวนิดา บ้านทรายทอง หรือดวงตาสวรรค์ ใส่หมวกสวยๆ ไปไหนมาไหน

 ต่อกันด้วยอาชีพ - ละครพีเรียดโดยมากมักให้พระเอก นางเอก มีเชื้อเจ้า ไม่ว่าจะเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง หรือถ้าไม่ใช่เจ้า ก็ต้องมีหน้าที่การงานที่เป็นที่นับหน้าถือตาในสมัยนั้น (เท่าที่ดูก็คงไม่พ้นอาชีพราชการ) ไม่ว่าจะเป็นหมอ ทหาร ตำรวจ ครู ฯลฯ เพราะคนสมัยก่อนมองว่าอาชีพราชการมีความมั่นคงทางอาชีพมากกว่าอาชีพอื่น ส่วนนางเอกต่อให้แก่นแก้วแค่ไหนก็จะเป็นได้แค่แม่บ้าน ครู หรือไม่ก็พนักงานบัญชีเท่านั้น เพราะความเป็นผู้หญิงทำให้หาอาชีพที่โลดโผนได้น้อย แหม...ไม่เหมือนตอนนี้ เห็นผู้หญิงทำงานแทบทุกอาชีพ อาจจะด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงต้องไปทำงานนอกบ้าน แถมการทำงานเอกชนในตอนนี้ดูเหมือนจะมีรายได้มากกว่าทำงานอาชีพราชการเป็นไหนๆ

 เรื่องเทคโนโลยี - เป็นที่แน่นอนว่าละครพีเรียดเราไม่มีทางเห็นคุณหลวงมานั่งส่งอีเมล หรือแชทกับนางร้ายทางบีบีอย่างแน่นอน เรื่องเล่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ในไอโฟน ไอแพดก็คงไม่มีอย่างแน่นอน การติดต่อสื่อสารหากเป็นละครพีเรียดยุคเก่าหน่อย อย่างละครเรื่อง ทาสรัก ก็จะใช้นกพิราบบ้าง ม้าเร็วบ้าง เขยิบยุคละครขึ้นมาอีกนิด ก็เป็นทางจดหมาย โทรเลข (ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว) ก่อนที่จะเขยิบขึ้นมาเป็นโทรศัพท์ อย่างเรื่อง วนาลี เรือนซ่อนรัก ขิงก็ราข่าก็แรง มาลัยสามชาย ฯลฯ เราอาจเห็นตัวละครมีการใช้โทรศัพท์บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องใหญ่ๆ แถมแป้นกดเลขยังเป็นแบบหมุน หากเป็นสมัยเราคงเรียกว่าโทรศัพท์ตกยุค แต่ในยุคนั้นก็ต้องเรียกว่าบ้านไหนมีฐานะทางบ้านก็ไม่ธรรมดาล่ะ ส่วนโทรศัพท์มือถืออาจยังไม่ต้องนึกถึง หรือถ้าในยุคนั้นมีจริงก็คงเป็นรุ่นเครื่องใหญ่ๆ ที่คว้าออกมาทีนึกว่ากระติกน้ำ จะไปหาที่เล่นเน็ตได้ แชทได้คงจะไม่มีร้อก

 ส่วนการติดตามข่าวสาร หากเป็นปัจจุบันคงเป็นโทรทัศน์ มือถือ หรือไม่ก็ทางคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กที่ติดอินเทอร์เน็ต แต่ในละครพีเรียดส่วนใหญ่เราจะเห็นนักแสดงติดตามข่าวสารทางวิทยุ ซึ่งก็เป็นวิทยุเครื่องใหญ่ๆ ที่หาซื้อในยุคปัจจุบันไม่ได้แล้ว หนังสือพิมพ์ก็มีบ้าง แต่อาจไม่มีหลากหลายให้เลือกสรรเหมือนยุคปัจจุบัน อาจเป็นเพราะยุคสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้ามาก ขนาดโทรทัศน์สีที่เรามีแทบทุกครัวเรือน แต่ในละครพีเรียดหรูสุดก็เป็นแค่ขาวดำ ไม่ต้องไปค้นหาจอแอลซีดี จอแบนให้เมื่อย

 ส่วนเรื่องการคมนาคม - การเดินทางไปไหนมาไหนค่อนข้างลำบาก ไม่มีนางเอกละครพีเรียดเรื่องไหนนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาอย่างแน่นอน ละครยุคเก่าๆ พระ-นางมักเดินทางด้วยเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือบด เรือลาก อาจเป็นเพราะสมัยก่อนเมืองไทยมีคู คลอง ค่อนข้างมาก ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รัฐบาลได้ถมคูคลองเหล่านั้นเพื่อทำถนน ทำให้การเดินทางต้องเปลี่ยนจากนั่งเรือเข้าวัง เป็นนั่งรถลากแทน และค่อยๆ เขยิบเป็นรถออโต้ (ที่นำเข้าจากต่างประเทศ) ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศก็นิยมทางเรือ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบิน

 เรื่องเครื่องแต่งกาย - นักแสดงสาวๆ ต่างดี๊ด๊าที่จะได้เล่นละครพีเรียด เพราะนอกจากจะได้แต่งตัวสวยงาม ทั้งๆ ที่ไม่สามารถใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว หากเป็นละครยุคเก่าเหมือนเรื่อง นางทาส ทาสรัก เราจะเห็นการแต่งกายแบบนุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ พันผ้าแถบ เป็นชายก็นุ่งโจงกระเบน ไม่ก็สวมกางเกงแพร อาจมีเสื้อบ้าง แต่ถ้าหากเขยิบยุคมาอีกหน่อยเป็นละครพีเรียดเรื่อง เจ้าสาวของอานน์ บ้านทรายทอง มาลัยสามชาย เสื้อผ้าก็จะเป็นชุดเดรส กระโปรงสุ่ม หรือไม่ก็เป็นเสื้อประดับลูกไม้ และสวมหมวกสวยๆ หากเป็นฝ่ายชายก็อาจเห็นใส่ชุดสูทสากลบ้าง สวมชุดราชประแตน เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่เราเริ่มรับวัฒนธรรมของฝรั่งเข้ามา

 แม้แต่เครื่องประทินผิวก็ยังแตกต่าง หากเป็นละครยุคใหม่เราอาจเห็นนางเองทาปากด้วยลิปสติก ทาอายแชโดว์ กรีดอายไลน์เนอร์ ฉีดน้ำหอม แต่ถ้าเป็นพีเรียดยุคใหม่อย่างวนิดา เราอาจจะเห็นนางร้ายใช้น้ำหอมฝรั่ง แต่หากเป็นยุคเก่าอย่าง นางทาส อาจเห็นแค่ตัวเอกของเรื่องใช้น้ำอบหรือน้ำปรุงลูบตัวเท่านั้น ในละครเรื่องคือหัตถาครองพิภพเรายังเห็นสะบันนาทาปากให้แดงด้วยก้านธูป แต่คิดเหมือนกันว่า ในละครเรื่อง วนาลี ลิปสติกอาจเข้ามาเมืองไทยแล้ว เพราะเห็นนางร้ายในเรื่องปากแดงตลอดเวลา

 นอกจากความสนุกสนานของเนื้อเรื่อง ละครพีเรียดยังสามารถบอกเล่าถึงยุคสมัยและสภาพสังคมไทยที่ผ่านไปได้อย่างน่าสนใจ...หากเบื่อที่จะเรียนรู้สังคมไทยเก่าๆ จากตำรา ละครพีเรียดอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ