บันเทิง

Killing Bono

Killing Bono

23 มิ.ย. 2554

เรื่องของเรื่องว่าด้วยไอ้หนุ่มคนหนึ่ง ตีอกชกหัว พร่ำโทษเพื่อนร่วมชั้นเรียนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักร้องเอาเสียเลย ถึงขั้นลุกขึ้นหยิบปืนหวังปลิดชีพคู่แข่งให้ตายไปรู้แล้วรู้รอด

 หนังเปิดเรื่องไว้อย่างนั้นนะครับ แต่พอกลับมาเล่ารายละเอียดตั้งแต่ต้นอีกครั้ง พล็อตของ “Killing Bono” กลับเดินเรื่องได้สนุก เป็นหนังวัยรุ่นที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศเสียงดนตรี ความห่ามเพี้ยนของพฤติกรรมตัวละคร การพูดถึงความฝันของเด็กวัยรุ่นที่อยากจะเป็นศิลปินดัง ผ่านแรงขับดันโดยพลังของคนหนุ่มที่ไม่หยุดต่อความฝัน ความมุทะลุสิ้นคิด จนถึงอารมณ์ดราม่าที่ไม่ได้จงใจบีบเค้น หากแต่ขับเน้นให้เห็นถึงผลจากการกระทำของตัวละคร

 จากเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันตั้งวงดนตรีขึ้นในโรงเรียน แต่ยังไม่ทันไรก็มีเหตุให้ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเสียก่อน เมื่อเพื่อนๆ ตำแหน่งนักร้องนำให้ ‘พอล’ ทั้งๆ ที่ ‘เนล’ หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงเชื่อในความสามารถการแต่งและร้องเพลงของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้เพื่อนๆ ยอมรับในเพลงที่เขาแต่งได้ จึงตัดสินจะแยกตัวออกไป โดยชักชวนน้องชาย ‘อีวาน’ ออกมาตั้งวงดนตรีของตัวเอง

 ดูเผินๆ ‘เนล’ ดูน่าจะเอาดีทางดนตรีได้ในอนาคต เพราะนอกจากทั้งร้องและแต่งเพลงเองได้แล้ว เขายังเป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเมืองอีกด้วย เสียแต่ว่าเพลงของเขานั้นมันไม่เข้ากับกระแสนิยมเอาเสียเลย โดยเฉพาะเนื้อหาแปลกๆ มีทั้งความรุนแรง เรื่องของยาเสพติด และนัยทางเพศแวดล้อมอยู่เต็มไปหมด

 เวลาเดียวกัน วง ‘The Hype’ ที่ตัวเองจากมาเริ่มไปได้ดี หลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘U2’ ส่วน ‘พอล’ นักร้องนำก็เปลี่ยนชื่อแซ่ใหม่ว่า ‘โบโน่’ มีโอกาสทำเพลงอัดแผ่นและออกตระเวนทัวร์คอนเสิร์ต ขณะที่เส้นทางดนตรี ‘เนล’ และน้องชาย ดูจะขรุขระ ไปได้ไม่สวยเท่า ตั้งแต่เจอเจ้าของค่ายเพลงกำมะลอ ที่ทำงานก็ดูจะไม่เห็นด้วย เล่นโชว์ที่ไหนๆ ก็ไม่มีคนดู จนสุดท้ายต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือเจ้าพ่อมาเฟีย เจ้าของไนต์คลับโชว์เปลื้องผ้า ที่ต้องแลกกับผลประโยชน์มหาศาลหากได้เซ็นสัญญาออกอัลบั้ม

 ‘เนล’ และ ‘อีวาน’ พกเงินก้อนใหญ่ไปลอนดอน ตระเวนแนะนำผลงานเพื่อจะได้มีโอกาสทำเพลงอย่างที่ตั้งใจ หลายครั้งที่มีโอกาสแต่ด้วย ‘อัตตา’ ของ ‘เนล’ ทำให้พวกเขาพลาดหวังบ่อยครั้ง ก่อนจะลงเอยกับค่ายเพลงเล็กๆ แห่งหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่ได้เต็มใจอยากจะเซ็นสัญญากับ ‘เนล’ สักเท่าไหร่นัก) เส้นทางดนตรีของพี่น้องคู่นี้ดูมีท่าทีสดใส หาก ‘เนล’ ไม่ประพฤติตัวนอกลู่นอกทางบ่อยๆ จนผู้จัดการวงและน้องชายสุดที่รักเอือมระอา

 เพราะเป็นหนังวัยรุ่น “Killing Bono” จึงเต็มไปด้วยเพลงสนุกๆ มากมาย โดยเฉพาะดนตรีพังก์ร็อก และด้วยความที่ไม่ใช่หนังชีวประวัติของวง ‘U2’ ดังนั้นสาวกวงร็อกไอริชบันลือโลกวงนี้ อาจจะผิดหวังที่ไม่มีโอกาสฟังเพลงของพวกเขาอย่างจุใจ แต่หลายๆ เพลงที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ ก็ฟังเพลินไม่แพ้กัน

 หนังมาในแนวทางดราม่าคอมเมดี้ แต่ก็เป็นตลกร้ายที่นอกจากเหน็บแนมวงการดนตรีในยุโรปแล้ว ยังสะท้อนสังคมในเมืองดับลินของไอร์แลนด์ในยุค 70’s ที่เหล่าอันธพาลและแก๊งอาชญากรรมคือผู้มีอิทธิพลประจำเมือง หนังไม่เพียงเล่าถึงชะตากรรมที่สองพี่น้อง ‘เนล’ และ ‘อีวาน’ ต้องเผชิญในฐานะคนอยากดังแต่ไม่เคยสมหวังอย่างเคร่งเครียดจริงจัง หากแต่แทรกมุกตลกเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางให้เราได้อมยิ้มไว้มากมาย ตั้งแต่สถานที่ที่วงของ ‘เนล’ มีโอกาสได้เล่น ทั้งในโบสถ์เอย ไนต์คลับโชว์เปลื้องผ้าเอย แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่า แทบทุกครั้งที่พวกเขาขึ้นเล่น ต้องมีงานใหญ่ๆ สำคัญๆ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเสมอ (แน่นอนว่าใครจะมาดูวงพวกเขาเล่นกันล่ะ) หรือแม้กระทั่งต้องกู้หนี้ยืมสินแก๊งมาเฟีย เพื่อใช้เป็นทุนเดินทางไปลอนดอน เมืองที่สร้างศิลปินระดับโลกไว้มากมายหวังเจริญรอยตามคนเหล่านั้น

 แม้จะไม่โด่งดังอย่าง ‘U2’ แต่คนอย่าง ‘เนล’ ก็ยังมีอุดมการณ์ทางดนตรีของตัวเองอย่างชัดเจน อาทิ ไม่แต่งเพลงให้ใครร้อง ไม่ใช่ตัวเองหรือนักร้องคนนั้นไม่เหมาะกับเพลงที่เขาเขียน และไม่ยอมเล่นเป็นวงเปิดหรือออกทัวร์คอนเสิร์ตกับใคร เพราะอยากสร้างชื่อด้วยตนเอง

 เป็นหนังวัยรุ่นเล็กๆ ที่พอดูได้ ท่ามกลางหนังแอ็กชั่นฮีโร่ อึกทึก ครึกโครม แข่งกันโชว์ความวินาศสันตะโร ในช่วงฤดูกาลซัมเมอร์ของฮอลลีวู้ด

ชื่อเรื่อง : Killing Bono
ผู้เขียนบท : Ben Bond, Dick Clement, Ian La Frenais, Simon Maxwell, Neil McCormick
ผู้กำกับ : Nick Hamm
นักแสดง : Ben Barnes, Robert Sheehan, Martin McCann, Pete Postlethwaite
เรตติ้ง : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 16 มิ.ย.54 เฉพาะเครือเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์

"ณัฐพงษ์  โอฆะพนม"