บันเทิง

คมเคียวคมปากกา - ปริศนาธรรม นำจิตสู่อิสรา

คมเคียวคมปากกา - ปริศนาธรรม นำจิตสู่อิสรา

08 ก.ค. 2554

เขียนต้นฉบับวันพุธที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘

          ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาแล้ว  ผลออกมาเป็นอย่างไรก็รู้แล้ว  ยอมรับผลการเลือกตั้งแล้ว  เห็นด้วยไม่เห็นด้วยหรือชอบไม่ชอบอย่างไรก็ตั้งใจทำใจแล้ว  ต่อไปก็คือรอดูกระบวนของมันดำเนินไป  ตามจังหวะจะโคนของ “อำนาจรัฐผลัดเปลี่ยนเวียนวน”  และหลายคนก็เตือนว่าระหว่างนี้ต้องระวังสุขภาพกาย  สุขภาพวาจา  และสุขภาพจิตไว้ให้ดีด้วย  ทั้งฝ่ายที่คิดว่าตนชนะและฝ่ายที่คิดว่าตนแพ้  เห็นคนฮึกเหิมก็น่าห่วง  เห็นคนหดหู่ก็น่าห่วง  อารมณ์ใดที่มันเกินเหตุไปล้วนน่ากลัว  ไม่เพียงกระทบกระทั่งกับผู้อื่น  ยังอาจทำร้ายตัวเอง  กระแสเลือกข้างเลือกตั้ง  กระแสรักไม่รัก  กระแสเกลียดไม่เกลียด  ยังไม่จบ  ยังไม่ยุติ  ด้วยการเลือกตั้งแม้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ดีที่สุด  แต่มิใช่จุด “ชี้ขาด”  อะไรเลยในวันนี้  เพียงอาจ “ชี้ชะตา” แบบชะตาดีชะตาร้ายได้บ้าง  ผู้ชนะและมีโอกาสก็ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป  ท่ามกลางการตรวจสอบจากทุกฝ่าย

          ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจาก อาจารย์เจริญ  กุลสุวรรณ  หรือเจ้าของนาม “ทยาลุ”  ผู้เรียกตัวเองว่า “ศิลปินสิ้นชาติ”  (หมายถึงศิลปินผู้อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา  ผู้ปรารถนาสิ้นชาติภาพ)  ชื่อหนังสือ “ปริศนาธรรม นำจิตสู่อิสรา”  จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ  รูปเล่มสี่เลี่ยมจัตุรัส  กระดาษอาร์ตสี่สีทั้งเล่ม

          ในเล่มบรรจุไว้ซึ่งภาพจิตรกรรมจำนวน ๑๑ ภาพ  และข้อเขียนไขปริศนาธรรมสั้นๆ จำนวน ๑๑ เรื่อง โดย “ทยาลุ”  (ความหมายคือ มีความเอ็นดู  มีความสงสาร)  ท่านผู้นี้เป็นศิลปินดีเด่นภาคอีสานผู้มีความสามารถทั้งวาดรูป และเขียนหนังสือ  เรียกว่าทั้งแต้มทั้งแต่ง  เป็นฆราวาส  มีครอบครัว  แต่เป็นนักปฏิบัติธรรมโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ  ขณะเดียวกัน  ก็เป็นนักเขียน  เป็นกวี  เป็นผู้ใช้ภาษาไทยได้ไพเราะสวยงาม  สามารถอรรถาธิบายหัวข้อธรรมยากๆ ให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ 

          ภาพปริศนาธรรมเหล่านี้  ตอนนี้ติดตั้งไว้ที่อุโบสถ วัดปัญญานันทาราม  ปทุมธานี  ใครผ่านไปทำบุญที่นั่น ก็คงจะได้สัมผัส  อาจไปยืนชมภาพสวยงาม  ฝึกตีความปริศนาด้วยความรู้ความเข้าใจของตน  เชื่อว่าแต่ละคนก็มีพื้นฐานภูมิธรรม  ลับปัญญาไปกับภาพจากความเพ่งเพียรที่สวยงามของจิตรกร  เจริญตา  เจริญใจ  หลังจากนั้นลองหาหนังสือเล่มนี้มาดู  เข้าใจว่ามีนำเสนอไว้ในวัด และร้านหนังสือทั่วไป 

          ชื่อภาพและข้อเขียนทั้ง ๑๑ ชิ้นก็มี “ลูกไก่ตัวพี่”  “เรารื้อแล้ว”  “เราพึ่งอะไร”  “ผู้พร้อมเผชิญ”  “เห็นสองหน”  “เบ็ดพญามาร”  “ดูให้ชัด ตัดให้ขาด”  “ปริญญาคุณยาย”  “คุกสีชมพู”  “เหนือของคู่”  “ฝั่งนี้ ฝั่งโน้น”  สำหรับข้อเขียนจะนำด้วยร้อยแก้ว  ตามด้วยร้อยกรองสั้นๆ 

          ผมอ่านแล้วชอบ  แม้ตัวเองจะมิใช่ผู้ปฏิบัติธรรมหรือมีหัวข้อธรรมไว้ท่องจำอะไรมากนัก  เสน่ห์ข้อเขียนของ “ทยาลุ” คือ  มีภาษาโวหารกวี  ตีความธรรมจากการคิดปฏิบัติจริง  มิใช่ท่องจำจากคัมภีร์  มีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและโลก  ขณะเดียวกัน  ก็มีความห่วงใยปรารถนาดีต่อผู้คนในสังคมและโลก

          ผู้ “ทยาลุ” ท่านนี้  หลายคนรู้จักตัวตนผลงานท่านดี  แต่หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าเขาคือใครกัน?  ผมอยากจะบอกว่าหากใครเคยพบ เคยผ่าน เคยมี สติ๊กเกอร์ภาพพุทธรูปปางขัดสมาธิ สลักเสลาเป็นวรรณรูปว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ซึ่งติดไว้ดาษดื่นในสังคมไทย ทั้งท้ายรถ ในสำนักงาน ในบ้าน ในวัด ในโรงเรียน  รวมทั้งวรรณรูปคำอื่นๆ อีกในลักษณะคล้ายกัน เช่น “มีสติอย่าเผลอ”  “ตั้งสติแก้ปัญหา” 

          เหล่านี้ก็คือผลงานของ “ทยาลุ” นั่นเอง  โดยเฉพาะภาพและคำ “อย่าเห็นแก่ตัว” นั้น  เราเห็นมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามทศวรรษ  เพราะเขาคิดและสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๘  ตอนบวชเป็นพระ  ธุดงควัตรแสดงธรรมที่เกาะสมุย ในฐานะลูกศิษย์ของ พุทธทาส ภิกขุ  ตอนนั้นก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  ศิลปินหนุ่มจากอีสาน  ผู้ใช้ชีวิตศิลปินสำราญในเมืองหลวงอยู่พักหนึ่ง  ก็ออกบวชยาวนานถึง ๑๑ พรรษา  ก่อนจะออกมาใช้ชีวิตครอบครัว  มีภรรยา  มีลูกสาวสองคน  ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาสามัญ  แต่ปฏิบัติธรรมในชีวิตจริงอย่างสม่ำเสมอ ณ มหาสารคาม

          บ้านเมืองหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนจะสบายดี  แต่ไม่สบายดีนักเช่นนี้...ธรรมะยังรอเราๆ ท่านๆ เสมอ!

 

โดย "ไพวรินทร์ ขาวงาม"