บันเทิง

มรดกเพลง-มรดกใคร?

มรดกเพลง-มรดกใคร?

10 ส.ค. 2554

มรดกเพลง-มรดกใคร?:คมเคียวคมปากกา โดย... บรรณวัชร

          ร่วงไปทีละดวงสองดวง สำหรับดาวลูกทุ่งในอดีต ซึ่งที่ลาลับไปหมาดใหม่คือ ฉลอง วุฒิวัย อดีตหัวหน้าวงดนตรีคณะ "ฟ้าบางกอก" และผู้ประพันธ์ "อย่าหลงบางกอก" ที่สร้างชื่อเสียงให้ โฆษิต นพคุณ โด่งดังเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว
 
          ส่วนงานพระราชทานเพลิงศพ ก้อง กาจกำแหง นักร้อง นักแต่งเพลง ก็เพิ่งผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 
 
          ในงานวันดังกล่าว มีการจัดพิมพ์หนังสือ “ก้องในดวงใจ บันทึกชีวิตเหมือนยาขม ของบรมครูเพลงชื่อก้อง กาจกำแหง” ออกจำหน่าย และนัยว่า ศิวาพัชร์ ภัทรกุลปิยะชัย ลูกศิษย์คนสุดท้ายที่ได้ดูแลครูก้องจนสิ้นลม เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้
 
          วันก่อน หน้าลูกทุ่งคมชัดลึก ได้เปิดประเด็นจากกรณีลิขสิทธิ์เพลงของครูก้อง ซึ่งมีการระบุหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ครูก้องได้มอบเพลงทั้งหมดให้บริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์
 
          จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เพลงดังของครูก้อง ตกอยู่ในมือ "พ่อค้าเพลง" หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บริษัท บูรพามิวสิคัล จำกัด ,บริษัทชัวร์ ออดิโอ จำกัด, บริษัทเสียงสยาม-แผ่นเสียงเทป และอาร์เอ็มเอสพับลิชชิ่ง
 
          หากว่าก่อนเสียชีวิต ครูก้องได้มอบหมายให้บริษัทหนึ่งเป็น "ผู้จัดการมรดกเพลง" จริงดั่งที่เป็น คงวุ่นวายพิลึก เพราะพ่อค้าเพลงคงไม่ยอมแน่
 
          ปัญหาลิขสิทธิ์เพลง มิเพียงก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล มันยังทำให้เพลงดีๆหลายเพลง ไม่ได้มีการนำเอาต้นฉบับเดิมมาผลิตในรูปแบบวีซีดี,ดีวีดี,เอ็มพี3 หรือผลิตซ้ำโดยนักร้องหน้าใหม่
 
          ยกตัวอย่าง "เพลงประกอบหนัง" ที่ประมาณการว่าน่าจะมีมากมายหลายร้อยเพลง เนื่องจากในช่วงระหว่างปี 2511-2529 ได้มีการสร้าง "หนังเพลงลูกทุ่ง" อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อไหมว่า เพลงพวกนี้ส่วนใหญ่จะสาบสูญไปฟิล์มหนัง
 
          มีเพลงประกอบหนังน้อยเรื่องมาก ที่มีการผลิตซ้ำอย่างเช่นอัลบั้มเพลงหนัง "มนต์รักลูกทุ่ง" แต่เพลงในหนัง "ชาติลำชี" ที่อยากฟังก็ไม่มีการนำเผยแพร่ ไม่ทราบว่าติดขัดด้วยเหตุผลใด
 
          อย่างที่ทราบกัน เพลงประกอบหนังเป็น "เพลงตามใบสั่ง" ฉะนั้นลิขสิทธิ์เพลงย่อมตกเป็นของผู้ว่าจ้างคือผู้อำนวยการสร้างหนัง นี่ว่ากันตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งฉบับเก่าและใหม่  
 
          นักแต่งเพลงส่วนใหญ่ก็ทราบดี แต่มีบางกรณีที่มีการตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ลิขสิทธิ์เป็นของผู้ประพันธ์ หรือไม่มีสัญญาว่าจ้างให้แต่งเพลง
 
          น่าเสียดายนะครับ เพราะเพลงประกอบหนังลูกทุ่งยุคแรกๆ มีเพลงดังเพลงดีเยอะ แต่มันติดปัญหาลิขสิทธิ์ จึงไม่มีการนำมาบันทึกเสียงใหม่
 
          ช่วงปี 2525-2529 เป็นห้วงเวลาที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณห์ สัญญา และยอดรัก สลักใจ แข่งกันแสดงหนัง และทุกเรื่องก็มีเพลงประกอบ เรื่องละห้าเพลงสิบเพลงบ้าง
 
          ถามว่า เพลงพวกนี้มีการนำมาบรรจุไว้ในตลับเทปขายหรือไม่? ตอบได้ทันทีว่า "ส่วนใหญ่ไม่มี" มันจึงหายไปกับกาลเวลา
 
          พ่อค้าเพลงส่วนใหญ่ทราบดี จึงไม่อยากซื้อเพลงพวกนี้มาทำใหม่ เนื่องจากลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของหนัง แต่ก็มีนักแต่งเพลงจำนวนหนึ่งขายเพลงแบบยกชุด และพ่อค้าก็รวบเอาเพลงประกอบหนังเข้าไปอยู่ในบัญชีนักแต่งคนนั้นด้วย
 
          ว่ากันตามจริง เจ้าของหนังเท่านั้นที่มีสิทธิ์ทำมาค้าขายกับเพลงประกอบหนัง ในฐานะผู้ว่าจ้าง! 
 
          ความซับซ้อนวุ่นวายเรื่องลิขสิทธิ์นับวัน จะก่อปัญหาให้คนรุ่นหลัง จึงอยากฝากถึงครูเพลงอาวุโส ควรเคลียร์เสียแต่วันที่ยังมีลมหายใจอยู่
 
          อย่าปล่อยให้ตัวเองตายไป แล้วทิ้งให้คนอยู่หลัง ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะความซ้ำซ้อนในปัญหาลิขสิทธิ์เพลง!