
หอมดอกผักกะแยง ที่อีสานบ้านเฮา
หอมดอกผักกะแยง ที่อีสานบ้านเฮา:คมเคียวคมปากกาโดย... ไพวรินทร์ ขาวงาม
เขียนต้นฉบับวันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒
ดูโทรทัศน์ก็แต่ข่าวน้ำท่วม อ่านหนังสือพิมพ์ก็แต่ข่าวน้ำท่วม พูดคุยกับใครต่อใครก็แต่ข่าวน้ำท่วม จนดูจะท่วมปาก ท่วมอก ท่วมใจ ท่วมไปหมดแล้ว ก็ได้ไปอย่าง แม้ไม่ประสบภัยน้ำท่วมเอง แต่การติดตามข่าวสารก็เหมือนการศึกษาเรียนรู้ข้อเท็จจริง เหมือนเข้าห้องเรียนแห่งความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น เรียนน้ำ-ทำให้รู้จักชื่อทางน้ำ เขื่อนเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ อะไรสารพัด เรียนคน-ทำให้รู้จักชื่อความคิด-คำพูด-การกระทำของคนแก้ปัญหาน้ำ ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายทหาร ฝ่ายประชาชน กระทั่งฝ่ายสื่อสารมวลชน เรียกว่าได้ความรู้และความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งเรื่องน่าสลดหดหู่ และเรื่องน่าปีติยินดี...
มาจากไหน? มาทำไม? จะไปไหน? หรือน้ำเท่านั้นแหละที่รู้ดี?
นอนเปลพักผ่อนหน้าบ้าน แว่วเสียงเพลงวันลอยกระทงซ้ำๆ จากชุมชน นึกได้ว่าใกล้ถึงวันลอยกระทง บ้านใครที่น้ำไม่หลากท้นล้นหลั่ง ถึงวันลอยกระทงก็คงต้องดำเนินไปตามประเพณี แม้ที่ลอยกระทงจะเป็นแค่คูคลองที่มีน้ำไม่มากนัก ส่วนบ้านผู้คนจำนวนมากที่กำลังประสบภัยน้ำหลากท้นล้นหลั่ง เขาคงไม่มีกะจิตกะใจไปหาที่ลอยกระทงกระมัง เพลงวันลอยกระทงที่บุญจะส่งให้เราสุขใจอาจไม่ไพเราะสำหรับเขา ยกเว้นเขาจะใช้โอกาสเท่าที่มีในยามอพยพ หาทางลอยกระทงอะไรสักอย่าง ส่งจิตส่งใจขอขมาแม่คงคาฟ้าดิน หรือลอยกระทงสวดส่งนักการเมืองน้ำเน่าทั้งหลาย ก็ตามแต่...ตามสมควรแก่อัตภาพ...
หลายวันก่อน ได้รับแผ่นเพลงจาก คีตกวีเมืองอุบลฯ-ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา หลังได้ข่าวว่าครูมีโครงการทำหนังสือและแผ่นเพลงเผยแพร่
“หอมดอกผักกะแยง ที่อีสานบ้านเฮา” เป็นผลงานเพลงที่ “สืบสานตำนานเพลงอมตะจากปลายปากกาฝันของคีตกวีลูกทุ่งอีสาน พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” โดยนำผลงานเพลงของครูพงษ์ศักดิ์มาขับร้องใหม่ทั้งหมด ๑๒ เพลง คือ “อีสานบ้านเฮา” (แหวง กูปรี) “มนต์รักแม่น้ำมูล” (เอก ธิติพงศ์) “ลำนำอีสาน” (ชัย แข็งเขตวงศ์) “เสน่ห์อีสาน” (อุ๋งอิ๋ง ชลธิดา) “โขงชีมูลที่รัก” (ชัย แข็งเขตวงศ์) “ศิลปินดอกหญ้า” (อีฟ ธิดารัตน์) “ลูกแม่มูล” (อุ๋งอิ๋ง ชลธิดา) “ลูกทุ่งเพลงสวรรค์” (หนุมาน) “บ้านเฮาเว้ากันได้” (ปลายฟ้า) “แห่พระเวสฯ” (แหวง กูปรี) “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” (ทวี เกาะสมบัติ)
โดยส่วนตัว ผมไม่เคยฟังเพลงของนักร้องหนุ่มสาวเหล่านี้มาก่อน เข้าใจว่าจะเป็นนักร้องลูกศิษย์ของครูพงษ์ศักดิ์สายเมืองอุบลฯ แต่หลายเพลงที่นำมาขับร้องใหม่นั้น เป็นที่คุ้นเคยกันดี อย่าง “อีสานบ้านเฮา” หรือ “มนต์รักแม่น้ำมูล”
“อีสานบ้านเฮา” หรือ “อีสานบ้านของเฮา” นั้น สำหรับชาวอีสานหลายรุ่นหลายวัย น่าจะทั้งเคยได้ยินได้ฟังและได้ขับร้อง เป็นเพลงชีวิตยอดนิยมยาวนาน กระทั่งบางคนเรียก “เพลงชาติลาว” เพราะในเพลงบรรจุไว้ด้วยสีสันบรรยากาศ อาหารการกิน วิถีชีวิตชาวอีสาน อย่างชนิดที่ “หอมดอกผักกะแยง...ผักเม็ก...ผักกะเดา...ผักกะโดน...ผักอีฮีน...”
เมื่อก่อนนั้น เราคุ้นเคยกับน้ำเสียงของ เทพพร เพชรอุบล การนำมาขับร้องใหม่โดยคนรุ่นหลังๆ แม้จะเป็นการสืบสานสืบทอด มีความไพเราะร่วมสมัยในตัวเอง แต่ก็คงมีความยากอยู่บ้างสำหรับการข้ามสมัย เพราะผู้ฟังจำนวนไม่น้อยติดหูติดใจอยู่กับท่วงทำนองน้ำเสียงการขับร้องแบบเดิม เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนที่นำเพลงเก่ามาทำใหม่ เพราะบทเพลงหนึ่งอาจถูกปรับเปลี่ยน แต่ผู้ฟังอาจไม่ยอมเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม การสืบสานสืบทอดก็เป็นไปตามจังหวะโอกาส มิตรรักนักเพลง “หอมดอกผักกะแยง” ทั้งเก่าและใหม่ก็ต้องหามาฟังตามกำลัง มันอาจให้อรรถรสใหม่ๆ ตามรสนิยม
ไม่แน่ใจว่าจะมีจำหน่ายทั่วประเทศหรือไม่ แต่ให้ลองติดต่อดูที่ ต้นจันมิวสิค หรือ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา 270 หมู่ 2 ต. นาคำ อ. ศรีเมืองใหม่ จ. อุบลราชธานี 34250 โทรศัพท์ 045-285232