
5 หนังดีที่น่าจดจำในปี 54
5 หนังดีที่น่าจดจำในปี 54:หนังจอกว้าง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
อันที่จริง ชื่อนี้น่าจะปรากฏตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมด้วยซ้ำไป แต่เพื่อให้การดูหนังครบถ้วนตลอดทั้งปี ไม่อยากให้มีตกหล่น สำหรับการสรุปหนังน่าจดจำ และน่าผิดหวังประจำปี ’54 ของผม..เริ่มด้วย 5 เรื่องที่น่าจดจำกันก่อนครับ เรื่องแรกเป็นหนังผีไทยที่ปรามาสไว้ตั้งแต่แรกเห็นในวินาทีที่เริ่มต้นว่า มาในแนวทางเดิมๆ อีกแล้ว บ้านผีสิง เล่นกับเสียง (ดังเกินจริง เพื่อบีบเค้นอารมณ์) เล่นกับแสงเงา(ความมืด) พื้นที่-พื้นผิว (ความรกร้างและคับแคบของห้องหับในบ้าน) แต่เมื่อหนังเดินไปถึงครึ่งทางกลับพบว่า “ลัดดาแลนด์” กำลังวิพากษ์ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะมายาคติในการสร้างครอบครัว (ที่ต้องมีบ้านหลังใหญ่โต เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย พ่อ-แม่-ลูก ต้องอยู่กันพร้อมหน้า) เท่านั้นไม่พอ หนังยังเสียดเย้ยระบอบทุนนิยม ที่หว่านล้อม จูงใจ คนที่รู้ไม่เท่าทัน ให้ตกเป็นเหยื่อนายทุน นอกจากนั้น หนังยังแสดงนัยยะการล่มสลายของสถาบันครอบครัวในสังคมคนรุ่นใหม่ ถ้า “ลัดดาแลนด์” เป็นที่จดจำในฐานะหนังเขย่าขวัญสยดสยองพองขนที่กวาดเงินคอหนังไปกว่าร้อยยี่สิบล้าน สิ่งที่น่าชื่นชมคนทำหนังเรื่องนี้ก็คือ การให้มิติของตัวละครที่กลับมาสะท้อนสังคมร่วมสมัยได้อย่างแหลมคม ตั้งแต่ตัวละครหลัก ไปจนถึงตัวละครสมทบเล็กๆ ที่ปรากฏให้เห็นกระทั่งเป็นผีแล้วก็ตาม
“ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคสี่ ศึกนันทบุเรง” เป็นหนังประวัติศาสตร์ไทยที่ให้แง่มุมของการวิพากษ์สงครามได้อย่างน่าสนใจ แม้ตัวหนังจะมุ่งไปที่การรบพุ่งก็ตาม นัยของ ‘นเรศวร’ ภาคสองและสี่ คล้ายๆ กันตรงที่ แม้การให้น้ำหนักของหนังจะเทไปยังศึกสงครามและการขับเคี่ยวในชั้นเชิงกลศึกของกษัตริย์ไทยและพม่า แต่หนังก็พยายามจะแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งที่ปรากฏอยู่ระหว่างสงครามและสันติภาพ เช่น ในภาคที่สอง ตอน ประกาศอิสรภาพ ถ้าพระนเรศวร ไม่ทำศึก อิสรภาพก็จะไม่บังเกิด หรือทำศึกเพื่อยุติศึก ในขณะที่ภาคสี่ ศึกนันทบุเรง ศึกสงครามที่เกิดขึ้น ทัพส่วนใหญ่ของฝ่ายอโยธยา ล้วนมาจากทัพของมหามิตรที่เคยออกกรำศึกมาด้วยกัน หาได้มาจากไพร่พลของแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาหนึ่งเดียวไม่ หลายครั้งที่ตัวละครบางคนบ่นงำออกมาให้ได้ยินอย่างจงใจในทำนองว่า เหตุใดต้องมาร่วมรบทัพจับศึกทั้งๆ ที่ไม่ใช่ศึกสงครามของบ้านเมืองตน แม้การเล่าเรื่องของท่านมุ้ยใน ‘นเรศวร’ แต่ละภาค จะกระเดียดไปทางละครทีวีเข้าไปทุกที
ปีที่ผ่านมา มีหนังแอนิเมชั่น ที่ดูแล้วขื่นขำ แถมซ้ำตอนจบยังทำเอาคนดูต้องปาดน้ำตาด้วยความประทับใจ ทั้งๆที่เป็นหนังเคลย์แอนิเมชั่น ที่การออกแบบและเคลื่อนไหวของตัวละครหาได้นิ้งเนี้ยบ ลื่นไหลเท่าการสร้างภาพด้วยเทคนิคซีจีสามมิติอย่างที่เห็นในหนังแอนิเมชั่นทั่วไป ทว่าความโดดเด่นของ “Mary and Max” ที่กินใจคนที่ได้ดูส่วนหนึ่งมาจากพล็อตเรื่อง ที่ว่าด้วยหนุ่มใหญ่ขี้เหงาของกับสาวน้อยหลุดโลกที่แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลกันข้ามทวีป หากแต่จิตใจและความรู้สึกของพวกเขากลับสื่อถึงกันได้ ราวกับนั่งจับเจ่าปรับทุกข์ให้กันและกันตรงหน้า คนเหงาที่ต่างเป็นที่พึ่งพักพิงใจให้แก่กัน จนกระทั่งคนใดคนหนึ่งจากไปตลอดกาลคู่นี้ ก้าวข้ามข้อจำกัดมากมาย ตั้งแต่การบอกเล่าผ่านงานเคลย์แอนิเมชั่นขาวดำ ตัวละครประหลาดๆ ที่บางครั้งก็ดูบูดเบี้ยว ขี้เหร่ไม่ชวนมอง แต่กลับมัดใจเราอยู่หมัด เป็นหนังดีทีน่าจดจำ แต่น่าเสียดายที่เข้าฉายแบบจำกัดโรงไปสักหน่อย
เช่นเดียวกับหนังแก๊งสเตอร์เรื่องนี้ ที่ความรุนแรงในโลกอาชญากรรม กลับทำให้เราเศร้ สร้อยไปกับชะตากรรมที่ตัวละครแต่ละคนประสบใน “The Stool Pigeon” หนังฮ่องกงน้ำดีที่ตีแผ่โลกมืดของอาชญากรที่ต้องทำงานเป็น ‘สาย’ ให้ตำรวจ และการทำงานปิดทองหลังพระของเจ้าหน้าที่บางคน ก่อนที่เกือบทั้งหมดต้องพบจุดจบอย่างน่าเอน็จอนาจ และโดยภาพรวมของหนังทั้งเนื้อเรื่อง ตลอดจนงานโปรดักชั่นของ “The Stool Pigeon” รวมทั้งหนังแนวนี้ที่ออกฉายต่อเนื่องกันมานับจากนั้น บ่งบอกกับเราว่า วงการหนังฮ่องกงไปไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
คนทำหนังฮอลลีวู้ดระดับ ‘Autuer’ ที่ฝีไม้ลายมือไม่เคยตก ทั้งๆที่มีงานชุกอีกคนคือ สตีเว่น โซเดอเบิร์ก ปีที่ผ่านมาหนังที่ว่าด้วยการเผชิญโรคระบาดของมนุษย์เรื่อง “Contagion” ของเขาเป็นคำตอบที่เห็นชัดเจนยิ่ง โซเดอเบิร์ก กลับมาทำหนังที่มีตัวละครเยอะๆ แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน หากแต่พวกเขาล้วนต่างเชื่อมโยงถึงกัน ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ดังที่เคยเกิดขึ้นในหนังอย่าง “Traffic” (แถมยังทำเก๋ ด้วยการให้ตัวละครบางคน มาโผล่ในฉากของอีกคน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่รู้จักกัน) ที่สำคัญการระดมดาราดังๆ ระดับยอดฝีมือมาอยู่ในหนังด้วยกันโดยไม่ปล่อยให้ใครขโมยซีนใคร หรือชิงความเด่น โยนความด้อยให้แก่ใคร จากการกระจายบทที่เฉลี่ยน้ำหนักและความสำคัญกันอย่างทั่วถึง ทั้งแมท เดมอนท์, กวินเนท พัลโทรว์, มาริยง โกลติยาร์, จู๊ด ลอว์ และ เคต วินสเลท บ่งบอกถึงความเป็นคนทำหนังยอดฝีมือของผู้กำกับคนนี้เป็นอย่างดี น่าเสียดายที่เขาประกาศจะเลิกทำหนังในอนาคตอันใกล้
...................
(หมายเหตุ 5 หนังดีที่น่าจดจำในปี ‘54:หนังจอกว้าง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)