ตาคลีอีกครั้ง
ตาคลีอีกครั้ง:ศิลป์แห่งแผ่นดิน โดย... ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ
4 กุมภาพันธ์ ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรี กวี ศิลป์ ที่โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ มี “ครูอึ่ง” อุไรวรรณ พรน้อย ครูบรรณารักษ์คนสำคัญคนหนึ่งของวงการการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงส่งเสริมการอ่านการเขียนอย่างแข็งขันมากว่า 20 ปี เป็นเจ้าภาพ ผมชวนนักเรียนมัธยมวัยหนุ่มสาวราว 70 คน ช่วยกัน คิด เขียนคำ “ร้อยกรอง” แล้วนำเป็นคำร้องใส่ทำนองเป็น “เพลง”
ห้องสมุด และกลุ่มสาระฯ วิชาภาษาไทย เป็นสองแรงแข็งขันที่ร่วมคิดร่วมมือร่วมใจกัน จัดกิจกรรม ทั้งจัดร่วม จัดแยก จัดเล็ก จัดใหญ่ จัดเบาถึงจัดหนัก ต่อเนื่องยาวนานจนหยั่งรากการอ่านการเขียนลง ลึกในความรู้สึกของบรรดานักเขียนจากรุ่นสู่รุ่น เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่า โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์นี้เป็น “ของจริง”
มีนักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เฉพาะด้าน สับเปลี่ยน วนเวียนกันมาเป็นวิทยากร และวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ถึงเวลาของ “จเด็จ กำจรเดช” นักเขียนรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปีล่าสุด (2554) จากผลงานเรื่องสั้น “แดดเช้าฯ” อยากบันทึกไว้เพื่อโรงเรียนมัธยมอื่นที่สนใจการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หากยึดยุทธศาสตร์ตาคลีประชาสรรค์ จะมีวิธีและวิถีปฏิบัติดังนี้ คือ จัดกิจกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่อง บูรณาการวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี เข้าด้วยกัน ห้องสมุด กลุ่มสาระฯ วิชาภาษาไทย และศิลปะเป็นพันธมิตรเหนียวแน่น กิจกรรมทุกกิจกรรมสอดร้อยสอดคล้องเป็นเอกภาพ
เมื่อนักเขียนหรือวิทยากรที่ได้รับเชิญไปถึงก้าวแรกที่ปรากฏตัว วินาทีแรกที่ได้พบหน้ากันจะรับรู้ได้ถึงความพร้อมของเจ้าบ้าน ทั้งสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร และการเตรียมความพร้อมนักเรียน
ผมมีของฝากจากกิจกรรม เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ มาฝาก เป็นผลงานการเขียนของ น.ส.วริสรา ไชยมงคล ม.6/8 ครับ ลองอ่านงานเขียนของเด็กๆ มัธยมดูครับ
+ + + + + + + +
“ที่สุดของความรู้สึก”
ฉันไม่รู้หรอกว่าความรู้สึกของชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความสุขมากเพียงไหน แต่สำหรับฉันคนนี้ สิ่งที่เป็นที่สุดของความรู้สึกคือ การสูญเสียสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตของฉันไป โดยไม่มีแม้แต่คำสั่งลา มีเพียงคำพูดสุดท้ายที่มอบให้ฉัน คำพูดที่ฉันได้แต่เฝ้าถามอยู่เสมอว่า “อีกนานเพียงใด วันเวลานั้นจะกลับมาอีกครั้ง”
ก่อนที่เขาจะจากฉันไป เราได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันทุกวัน เราอยู่ด้วยกัน เราสนิทกัน เราไปเที่ยวด้วยกัน เราเดินเล่นกันตลอดเวลา และเราต่างก็สัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างกันไปเนิ่นนาน โดยที่ฉันไม่รู้เลยว่า คำสัญญานั้นเป็นเพียงแค่สายลมที่พัดผ่านมาให้ได้อบอุ่นใจเสมอเมื่อนึกถึงมัน ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตชายผู้นั้น คือการเลือกที่จะอยู่กับฉันคนนี้ เลือกที่จะให้ฉันเจ็บปวดมากที่สุด เลือกที่จะให้ฉันโศกเศร้าที่สุดเมื่อได้เห็นช่วงเวลาสุดท้ายของเขา โดยที่ผู้อื่นไม่ได้เห็น เลือกที่จะให้คำพูดสุดท้ายว่า “เดี๋ยวเรามากินข้าวต้มด้วยกันนะ” คำพูดที่ให้ความหวังแก่ฉัน ทดแทนคำว่า “ลาก่อน” อย่างที่ควรจะเป็นคำพูดสุดท้ายในวันนั้น ทำให้ฉันไม่เคยแตะต้องข้าวต้มอีกเลย อาจเป็นเพราะฉันเห็นแก่ตัวก็ได้ เพราะถ้าฉันจะกลับมากินข้าวต้มได้นั้น ชายคนนั้นต้องนั่งอยู่เคียงข้างฉัน เราจะต้องมานั่งกินด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีเขา ฉันไม่อาจทำใจที่จะกินมันได้อีกต่อไป ภาพที่ชายผู้นั้นปั๊มหัวใจเป็นภาพที่ยังคงฝังรากลึกลงในความทรงจำของฉันในทุกวันนี้ เขาจะไม่กลับมาอีกแล้ว ฉันจะไม่ได้ยืนเคียงข้างเขาอีกแล้ว เราจะไม่ได้ดูแลกันอีกต่อไปแล้ว เราไปเที่ยวกันไม่ได้อีกแล้ว เขาจากฉันไปแล้ว จากไปตลอดกาล “พ่อ” ของฉันจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอยู่ด้วยกันอีก
รวิสรา ไชยมงคล ม.6/8
...................
(หมายเหตุ ตาคลีอีกครั้ง:ศิลป์แห่งแผ่นดิน โดย... ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ)