
ตำนาน'น้ำตาลทรายแดงBrown Sugar'
ตำนาน'น้ำตาลทรายแดงBrown Sugar':คิดสวนทาง โดย... จิรพรรณ อังศวานนท์
เมื่อปี พ.ศ.2528 หลังจากที่พวกเรากลุ่ม “ศศิลิยะและบัตเตอร์ฟลาย” จบการแสดงคอนเสิร์ตเรื่อง “สมุทรกับบ้านผีสิง” ที่สมาคมนักเรียนเก่าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันดีในนาม AUA ถนนราชดำริแล้ว ก็เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดว่าต้องหาที่นั่งเม้าท์กันต่อหลังคอนเสิร์ต ซึ่งบางทีการเม้าท์นั้นยืดเยื้อจนกระทั่งพระเริ่มออกมาบิณฑบาต
ในสมัยนั้นถนนราชดำริหลังสี่ทุ่มไปแล้วก็ไม่ค่อยจะมีรถพลุกพล่านกันสักเท่าไหร่ เช่นเดียวกับถนนอื่นๆ เพราะผู้คนยังไม่แย่งกันกินแย่งกันใช้เหมือนในสมัยปัจจุบัน เลยหัวมุมถนนสารสินเข้าไปสัก 50 เมตร มีร้านเปิดใหม่ร้านเดียวในละแวกนั้น เป็นร้านเล็กๆ คูหาเดียว ขายกาแฟและก็มีอาหารพอแก้ให้หายหิวได้ หลังจากเสร็จคอนเสิร์ตพวกเราก็พากันเดินมาสิงสถิตอยู่ที่ร้านนี้ เพราะนอกจากกาแฟแล้วก็ยังมีน้ำอมฤตที่พวกเรานิยมดื่มประกอบการเม้าท์อยู่ด้วย
ร้านนี้ชื่อ Brown Sugar เปิดเมื่อปี พ.ศ.2528 โดยคุณแป๊ะ (พัฒน์ฑริก มีสายญาติ) กับคุณปุ๊ (ฐิติวัลคุ์ รัศมีโกเมน) คุณแป๊ะอยากเปิดร้านขายกาแฟ เพราะไปเห็นแบบอย่างมาจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อคราวบินไปเยี่ยมคุณปุ๊ที่นั่น และก็อยากจะมีร้านเป็นของตัวเอง ในขณะนั้นที่นั่นนิยมเติมน้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลกรวดในกาแฟแทนน้ำตาลทรายขาว คุณแป๊ะจึงนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและก็เป็นที่มาของชื่อร้าน Brown Sugar นี้ ซึ่งขณะนั้นคนไทยก็ยังใช้น้ำตาลทรายขาวผสมกับกาแฟอยู่ จึงถือว่าเป็นจุดขายของร้านนี้ในขณะนั้น
บรรยากาศของถนนสารสินที่มีสวนลุมพินีอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน เป็นที่เหมาะอย่างยิ่งกับการมานั่งปล่อยอารมณ์กับเครื่องดื่มชนิดโปรด เมื่อยามแดดร่มลมตก เนื่องจากคุณแป๊ะแกมีอาชีพทำหนัง ทั้งหนังใหญ่และหนังโฆษณา ที่นี่จึงกลายเป็นที่รวมพลหลังเลิกงานของบรรดาดาราและคนโปรดักชั่นทั้งหลายที่มีนิสัยชอบเม้าท์หลังเลิกงานเหมือนกับพวกผม ไม่ช้าไม่นานร้านนี้ก็เป็นที่พูดถึงแบบปากต่อปากของคนในวงการ ว่ามาแล้วสนุก เจ้าของร้านเป็นกันเอง มีเพลงดีๆ จากการสะสมแผ่นเสียงของคุณแป๊ะเปิดให้ฟังกัน บรรยากาศเฮฮารู้จักกันไปทั้งร้าน วันดีคืนดี คุณปุ๊ อัญชลี ก็แบกกีตาร์มาเล่นมาร้องกันสดๆ จะจะตรงหน้า ใครอยากจะร้อง จะเต้น จะขึ้นไปบนเคาน์เตอร์ก็ว่ากันได้ตามสะดวก
หลังจากนั้นไม่นานกิตติศัพท์ของความมันเมื่อมาร้านนี้ก็เป็นที่รู้กันไปทั่วทั้งในและนอกวงการ คูหาเดียวเอาไม่อยู่ เปิดแผ่นอย่างเดียวก็เอาไม่อยู่ จึงขยับขยายออกไปอีกหนึ่งคูหาและมีดนตรีสดทุกคืน พรรคพวกขอมาเปิดร้านข้างๆ สไตล์ใครสไตล์มันจนกลายเป็นวัฒนธรรมการไปนั่งผับย่านถนนสารสินที่คนแน่นทุกคืนเป็นเวลานานนับสิบปี ทั้งหมดนี้เริ่มมาจากการที่คุณแป๊ะกับคุณปุ๊วางแผนว่าควรจะมีธุรกิจของตัวเอง โดยการเปิดร้านก่อนแต่งงาน เขาทั้งสองคืนผู้สร้างตำนานของ Brown Sugar และเป็นจุดเริ่มต้นของ Pub ย่านถนนสารสิน
วิญญาณของร้านนี้อยู่ที่ดนตรีแจ๊ส เริ่มต้นกันจากวง Trio เปียโน เบส กลอง นักร้องหนึ่งคน ซึ่งวงในรูปแบบนี้ก็มักจะนิยมเล่นเพลงง Standard Jazz เพลงเหล่านี้คุ้นหูผมตั้งแต่สมัยถนนพัฒนพงษ์เป็นถนนแห่งดนตรีแจ๊สเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ผมได้มีโอกาสสัมผัสดนตรีแจ๊สจากนักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ที่บนถนนสายนี้ตั้งแต่เมื่อย่างเข้าเป็นวัยรุ่น และได้เคยมีโอกาสเล่นในบาร์ต่างๆ อยู่หลายที่เหมือนกัน บรรยากาศทางดนตรีของเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายให้อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น พวกนักดนตรีต่างชาติ โดยเฉพาะพวกฟิลิปปินส์ก็ต้องอพยพออกนอกประเทศไปหางานทำที่อื่น และดนตรีในรูปแบบเพลงแจ๊สที่พวกเขาเล่นกันตามโรงแรมต่างๆ ก็หายไปด้วย หลังจากนั้นเป็นสิบปีผมถึงได้ยินเพลงเหล่านี้อีกครั้ง ที่ Brown Sugar จากนักดนตรีรุ่นน้องๆ แล้วแจ๊สกับ Brown Sugar ก็แยกจากกันไม่ได้
นิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 1997 ลงคะแนนให้ Brown Sugar เป็น One of the best Bar in the World ในคอลัมน์บาร์ที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังถูกเลือกให้อยู่ในหนังสือ Couvoisier’s Book of the Best ถึงสองครั้งในปี 1988 และปี 1996 โดย Lord Lichifield กษัตริย์ Carl Gustaf แห่งประเทศสวีเดน และ Crown Prince Willem แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ นักดนตรีแจ๊สระดับโลกอย่าง Larry Carlton, Gary Burton และอีกหลายท่าน ที่เมื่อมาเปิดการแสดงที่เมืองไทยแล้วก็ต้องแวะมาแจมกันที่ร้านเป็นปกติ และที่สำคัญเป็นแหล่งเพาะนักดนตรีแจ๊สของไทยหลายคน
เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายที่ร้านเปิดบริการให้กับแฟนคลับทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้ายที่นี่ แล้วก็จะนัดไปพบกันที่ร้านใหม่ กะว่าจะเปิดในวันที่ 9 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ในสถานที่ใหม่แถวถนนพระอาทิตย์ ร้านใหญ่กว่าเดิม ฝันไกลกว่าเดิม ให้ความเป็นตำนานดำเนินต่อไป ที่ Brown Sugar ติดตามความเคลื่นไหวได้ที่ facebook/brown sugar ครับ
...................
(หมายเหตุ ตำนาน'น้ำตาลทรายแดงBrown Sugar':คิดสวนทาง โดย... จิรพรรณ อังศวานนท์)