บันเทิง

'ขายกล่อง'แข่ง'ขายจาน'เบ่งบานทั้งแผ่นดินดาวเทียม

'ขายกล่อง'แข่ง'ขายจาน'เบ่งบานทั้งแผ่นดินดาวเทียม

25 เม.ย. 2555

'ขายกล่อง'แข่ง'ขายจาน'เบ่งบานทั้งแผ่นดินดาวเทียม : โลกไร้เสา

          เหตุเกิดที่ตลาดย่านขอบกรุงฝั่งตะวันตกหลายปีก่อน ร้านเครื่องไฟฟ้าเก่าแก่นำ "จานดาวเทียม" ทั้งจานใหญ่จานเล็ก ทั้งสีดำ สีเหลือง สีส้มมาวางขาย กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ของชาวบ้านร้านถิ่น
 
          ผ่านไปไม่กี่ปี เพียงแค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ชาวตลาดก็เห็น "กล่องรับสัญญาณดาวเทียม" วางขายเคียงคู่เหล้านอกยี่ห้อดัง
 
          ขณะที่ร้านขายเครื่องไฟฟ้าร้านเดิม ก็แขวนป้ายขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมเหมือนกัน นี่เป็นความคึกคักของตลาดทีวีดาวเทียมจากจุดเล็กๆ อันสะท้อนถึงภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียม
                              000
 
          จากเดิมที่มีกลุ่มบริษัทผลิตจานรับสัญญาณดาวเทียม ระบบซีแบนด์และเคยูแบนด์ ออกขายทั่วประเทศ จนทำให้ครัวเรือนในประเทศไทย ติดตั้งจานดาวเทียมไปแล้วกว่า 50% มาถึงวันนี้ บริษัทผู้ผลิตคอนเทนท์บันเทิงรายใหญ่อย่างแกรมมี่ หรือผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีอย่างทรูวิชั่นส์ ได้กระโจนลงมาขาย "กล่องรับสัญญาณดาวเทียม" แข่งกับผู้ผลิตจานดาวเทียม 5-6 ราย
 
          เนื่องจากภาพรวมตลาดจานดาวเทียมขายขาด มีอัตราการเติบโตลดลง เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน และตลาดขายกล่องสัญญาณดาวเทียม มีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพราะกล่องใช้ได้กับจานทุกสีทุกแบบ
 
          ถือเป็นยุคที่ 2 ของธุรกิจทีวีดาวเทียมต่อจากยุคการขายขาดจานดาวเทียมในยุคบุกเบิก!
 
          ดังนั้น บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จึงเปิดตัวกล่องรับสัญญาณแบบขายขาด 2 รุ่น ได้แก่กล่องรับสัญญาณ "ทรูไลฟ์ พลัส" ในราคา 1,590 บาท พร้อมชมฟรีในแพ็กเกจทรู โนว-เลจ นาน 3 เดือน และกล่องรุ่นพิเศษราคา 999 บาท
 
          ทั้งสองรุ่นสามารถติดตั้งได้กับจานทุกสีในบ้าน เพื่อรับชมช่องฟรีทูแอร์ได้ถึง 150 ช่อง และ 74 ช่องพิเศษจากทรูวิชั่นส์ ความแตกต่างคือ รุ่นราคา 999 บาท จะไม่มีช่องรายการ 48 ช่องจากทรูวิชั่นส์
 
          เหตุผลหนึ่งที่ทรูวิชั่นส์ต้องมาเล่นบท "คนขายกล่อง" เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด จะเป็นผู้ขายจานดาวเทียมพร้อมกล่องรับสัญญาณ ที่มีฐานผู้ชมอยู่ประมาณ 9 ล้านจานทั่วประเทศ
 
          แต่พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ส่วนใหญ่จะมีทีวีมากกว่า 2 เครื่องต่อครัวเรือน จึงเป็นโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ทรูฯ จะก้าวเข้าไปเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
 
          จะว่าไปแล้ว การที่ทรูวิชั่นส์ตัดสินใจลงมาแข่งขันในตลาดขายกล่องรับสัญญาณ ปัจจัยหนึ่งย่อมมาจากการเปิดตัวกล่อง "จีเอ็มเอ็ม แซด" ของแกรมมี่ ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้ชมระดับกลางและล่าง กับระบบเติมเงินซื้อคอนเทนต์ตามต้องการในระดับราคาระหว่าง 250-400 บาทเท่านั้น
 
          มิหนำซ้ำ แกรมมี่ยังเดินหน้าจัดบิ๊กอีเวนท์โรดโชว์ทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ "จีเอ็มเอ็ม เฟสติวัล ตอน ฟันซิตี้ สนุกกัน สนั่นเมือง" ซึ่งส่งผลสะเทือนไปทั้งแผ่นดินดาวเทียม
 
          เฉพาะช่วงไตรมาส 2 "จีเอ็มเอ็ม แซด" เร่งเปิดตัวอย่างแรงในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ก่อนที่จะมีการแข่งขัน "ฟุตบอลยูโร 2012" ซึ่งแกรมมี่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดดังกล่าว
 
          ด้านทรูฯ ก็ใช้การถ่ายทอดสด "พรีเมียร์ลีก อังกฤษ" ในโค้งสุดท้าย ซึ่งเหลืออีกประมาณ 4-5 แมทช์ มาเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงผู้บริโภคหรือคอกีฬามาซื้อกล่องทรูไลฟ์พลัสเช่นกัน
 
          ล่าสุด ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่แกรมมี่จะร่วมกับกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ในการประมูลสิทธิ์ดังกล่าว
 
          "อากู๋" บอกว่า ได้มีการเจรจากับ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มทรูฯ เรียบร้อยแล้ว เมื่อสองยักษ์จับมือกัน ผู้บริโภคที่เป็นคอบอล คงต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ ไม่ซื้อกล่องอากู๋ ก็ต้องซื้อกล่องเจ้าสัว มิเช่นนั้นก็อดดูบอลราคาถูก
        000
 
          จากปรากฏการณ์ค่ายใหญ่หันมาบริการการขายกล่องรับสัญญาณ ที่สามารถรับชมได้กับจานทุกแบบ ทุกสี และขาย "คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ" เฉพาะตัวของแต่ละองค์กร จึงส่งผลถึง "ผู้เล่นเก่า" อย่างผู้ผลิตจานดาวเทียมขายต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดเช่นกัน
 
          สมพร ธีระโรจน์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มจานดาวเทียมยี่ห้อ "พีเอสไอ" กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวจานระบบ "เคยูแบนด์" ภายใต้ชื่อ "พีเอสไอ โอเค" เพื่อขยายตลาดกลุ่มครัวเรือนในพื้นที่ชุมชนเมือง และในกรุงเทพฯ ที่นิยมติดจานขนาดเล็ก โดยมีราคาขายส่งตัวแทนจำหน่ายที่ชุดละ 900 บาท 
 
          "ช่องทีวีดาวเทียมที่ส่งสัญญาณฟรีทูแอร์ ในปัจจุบัน ทุกแพลตฟอร์มสามารถรับชมได้ไม่แตกต่างกัน แต่การตัดสินใจเลือกซื้อจานดาวเทียมของผู้บริโภค จะอยู่ที่ปัจจัยราคา และบริการหลังการขาย ซึ่งพีเอสไอ มีจุดเด่นในด้านนี้" สมพรกล่าว
 
          ปัจจัย "บริการหลังการขาย" นี่แหละ ที่ทำให้แกรมมี่ยังสะดุดในการขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ยังไม่คุ้นเคยกับการติดตั้งกล่องเอง และต้องอาศัย "ช่างติดตั้งจานดาวเทียม" เป็นพี่เลี้ยง
 
          จึงไม่แปลกที่เราจะเห็น "กล่องจีเอ็มเอ็ม แซด" วางอยู่บนชั้นวางของแบบเดียวดาย ท่ามกลางกล่องเหล้า กล่องเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพในร้านสะดวกซื้อ และเมื่อถามพนักงานในร้านหลายแห่ง ต่างส่ายหน้าเมื่อลูกค้าถามหากล่องจีเอ็มเอ็มแซด
 
          ฝั่งขาใหญ่จานเล็กอย่าง มานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม "จานส้ม ไอพีเอ็ม" ระบบเคยูแบนด์ ก็อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องลงมาเล่น "สงครามราคา" แข่งกับพวกขายกล่อง และขายจานด้วยกันเอง
 
          จานส้มไอพีเอ็ม จึงทำตลาดจานส้มรุ่น "เคลียร์" สำหรับตลาดระดับกลาง ชุดละ 1,500 บาท ในปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวรุ่น "ไลท์" ราคาชุดละ 990 บาท สำหรับตลาดแมส
 
          พิเศษไปกว่านั้น จานส้มพีเอสไอ ได้วางจำหน่ายชุดจานดาวเทียมและกล่องรับสัญญาณ HD ราคาชุดละ 3,000 บาท โดยวางเป้าหมายขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคตลาดบน ซึ่งเน้นการขายคอนเทนต์กีฬา
 
          งานสงกรานต์นางเอกหนังเอวีที่บุรีรัมย์ ไอพีเอ็มได้ทดลองระบบ HD ผ่านทางช่องกีฬา "บุรีรัมย์ แชนแนล" ซึ่งเป็นคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ
 
          แหล่งข่าวในแวดวงทีวีดาวเทียมวิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์การแข่งขันรุนแรง การขายจานแทบจะไม่สามารถ "ทำกำไร" ได้  โดยเจ้าของแพลตฟอร์มทุกรายต่างหันมามุ่งขยายฐานผู้ชม เพื่อหวังต่อยอดหารายได้จาก "โฆษณา" แทบทั้งสิ้น
 
          ในอนาคต กลยุทธ์สุดท้ายของผู้ประกอบการฯ ก็จะแจก "จานฟรี" เพื่อใช้ตัวเลขจำนวนจานบนหลังคาบ้านไปขยายตลาดโฆษณา เพื่อความอยู่รอดในตลาดที่แข่งขันกันดุเดือด! 
.............................
(หมายเหตุ 'ขายกล่อง'แข่ง'ขายจาน'เบ่งบานทั้งแผ่นดินดาวเทียม : โลกไร้เสา)