บันเทิง

ศิลาในน้ำเชี่ยว - “สมาทานศีล”…จุดเริ่มแห่งสติ สมาธิ และปัญญา

ศิลาในน้ำเชี่ยว - “สมาทานศีล”…จุดเริ่มแห่งสติ สมาธิ และปัญญา

15 พ.ค. 2552

เหตุใดในสมัยพุทธกาลจึงมีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมากแตกต่างกับผู้คนในยุคปัจจุบัน พระอาจารย์อารยะวังโสภิกขุ ได้เมตตาแสดงธรรมไขปริศนาข้อนี้ในกิจกรรมชมรมคนรู้ใจ หอประชุมพุทธคยา ชั้น 22 อมรินทร์พลาซ่า เมื่อวันก่อนว่า ตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้คือ สภาพความพร้อมของกาย

 ในอดีตผู้คนนับร้อยนับพันต่างถือธูปเทียนดอกไม้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และร่ำเรียนศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างมีจุดมุ่งหมายเด่นชัดคือ ต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงขวนขวายพัฒนา เรียนรู้อย่างถูกต้องเป็นลำดับขั้นตอน ตระเตรียมความพร้อมทุกด้านทั้งกาย วาจา และจิตของตนเองให้พร้อมที่จะเดินไปบนเส้นทางแห่งมรรคด้วยความสงบมั่นคง พร้อมที่จะประกอบคุณงามความดี ขณะที่ผู้คนในปัจจุบันจำนวนมากมักเป็นผู้ใคร่บุญเชิง อยากเรียนธรรมเพื่อจดจำมากกว่ามุ่งเน้นการนำไปปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง ทำให้มีกำลังจิตไม่สงบนิ่งเข้มแข็งเพียงพอ การเรียนรู้ธรรมลักษณะนี้จึงไม่เกิดประโยชน์และไม่อาจไปถึงที่หมายบนเส้นทางแห่งมรรคได้

 การเตรียมความพร้อมทางกาย วาจา และจิต ฝึกควบคุมให้มีความสำรวมระวังจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของชาวพุทธทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกจิตให้ตั้งมั่นและสงบนิ่งอยู่ในธรรม เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า จิตเป็นสิ่งที่ปรับสภาพและพัฒนาได้ มนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐมีความแตกต่างจากเดรัจฉานด้วยความสามารถในการพัฒนาจิตให้เจริญยิ่งขึ้นด้วยอำนาจแห่งธรรมนี้เอง

 การทำความเข้าใจศีลเบื้องต้นทั้ง 5 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการอบรมจิตอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนเป็นกุญแจเปิดประตูแห่งมรรค เพื่อให้กาย วาจา และจิตมีความพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปได้ในการประกอบคุณงามความดีต่างๆ พุทธศาสนิกชนจึงควรให้ความสำคัญกับการสมาทานศีล อันเป็นการขอศีลจากพระสงฆ์ผู้มีศีลสูงกว่านำมาปฏิบัติ ถือเป็นการให้สัจจะวาจาแก่ตนเองว่าจะรักษากาย วาจาให้มั่นคงอยู่ในกรอบตามหลักธรรม เมื่อกายพร้อม ศีลครบ จิตจะพร้อมทำความดี และเกิดสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องฉุดรั้ง

 การเรียนรู้ธรรมนั้นจะต้องมีสติและสัมปชัญญะเป็นเครื่องกำกับตลอดเวลา โดยสัมปชัญญะเป็นเครื่องคุ้มครองกาย ทำให้เรารู้ตัวอยู่เสมอในทุกการกระทำและอารมณ์ ขณะที่สติเป็นเครื่องคุ้มครองจิต ที่จะคอยระวังรักษาให้จิตตั้งมั่นอยู่ในกาย ไม่วอกแวกหลงไปที่อื่น เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตั้งมั่นบนวิถีธรรมละความชั่วทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และชำระล้างอกุศลออกไปจากจิตให้บริสุทธิ์ เมื่อนั้นจิตจะสามารถพัฒนาเจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับขั้น เบาบางและประณีตยิ่งขึ้นจากความเร่าร้อนของโลภะ โทสะ โมหะ เปี่ยมด้วยพละกำลัง

 กำลังของจิตนี้เรียกว่า “สมาธิ” เมื่อมีสมาธิจึงจะเกิด “ปัญญา” ที่เรียกว่า “ญาณ” ผู้ปฏิบัติจึงจะสามารถเข้าสู่วิถีธรรมอันสูงสุด แจ่มแจ้งในธรรมด้วยอำนาจแห่งจิตอย่างแท้จริง สามารถละวางจากความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ 5 เข้าใจว่า “ทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา”

 เมื่อจิตมั่นคง สงบนิ่ง ก็จะพร้อมเข้าสู่สมาธิปริยญาณขั้นสูงเป็นลำดับ การฝึกฝนนี้จะต้องทำเป็นลำดับตั้งแต่พื้นฐานเป็นต้นไป ไม่อาจข้ามขั้นไปฝึกวิปัสสนาก่อนได้ในทันที มิฉะนั้นอำนาจญาณและสติที่บริสุทธิ์จะไม่เกิด หากแต่เราจะเอาแต่นึกคิดไปเองตามหลักธรรมที่ปรากฏ ไม่ถือว่าเราสามารถรู้เท่าทันตนเองได้อย่างแท้จริง

"ดนัย จันทร์เจ้าฉาย"

ข้อมูล
 เชิญผู้สนใจเข้าร่วมปฏิบัติธรรม ณ หอประชุมพุทธคยา สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ชั้น 22 อาคารอมรินทร์พลาซ่า ได้ทุกวันอังคารและพุธ เวลา 19.00-21.00 น. สำรองที่นั่งฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โทร. 0-2685-2254 หรือ www.dmgbooks.com <http://www.dmgbooks.com>