Aftershock
Aftershock : เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
‘ช่วยลูกชาย ช่วยลูกชาย…’ เสียงสั่นเครือ สะอื้นไห้ของผู้เป็นแม่ กล่าวตอบเพื่อนร่วมเมืองถางซาน ที่คะยั้นคะยอให้เธอตัดสินใจเลือกว่าจะให้พวกเขาช่วยใคร ระหว่างลูกชายตัวน้อยและลูกสาวผู้พี่ ที่ติดอยู่ใต้แผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ จากซากปรักหักพังหลังอาคารที่พักถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นกลางดึกเกือบจะเช้ามืดของวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ณ เมืองถางซาน มณฑลเหอเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน
จำนวนผู้เสียชีวิตร่วม 250,000 คน (ยอดผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับสามของโลกที่เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว) บาดเจ็บและสูญหายนับครึ่งล้าน ความสูญเสียในเชิงกายภาพ ไม่เพียงชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่บาดแผลในใจของผู้ประสบเหตุ (และไม่ว่าจากภัยธรรมชาติครั้งไหนๆ ก็ตาม) ก็สร้างความร้าวระทม เป็นบาดความทุกข์ที่ฝังลึก กินเวลายาวนานกว่าจะเยียวยาให้บรรเทาเบาบาง
Aftershock จำลองภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน โดยโฟกัสไปที่ครอบครัวหนึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกฝาแฝดชาย-หญิง วันที่สดใสของพวกเขาเริ่มขึ้น ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว พ่อปั่นจักรยานพาลูกสองคนไปซื้อพัดลมตัวใหม่มาอวดแม่ ที่กำลังเตรียมอาหารเย็นให้กับครอบครัว พี่สาวปรามน้องชายฝาแฝดอย่าเพิ่งเล่นพัดลม หลีกให้แม่ที่เหนื่อยจากการทำครัว เข้ามาอิงพัดลมคลายร้อนก่อน...คืนวันผ่านไปอย่างเป็นสุข จนกระทั่งกลางดึก ขณะที่ลูกทั้งสองนอนรับความเย็นจากพัดลมตัวใหม่ในห้อง พ่อกับแม่หลบมาพลอดรักกันท้ายรถบรรทุก แผ่นดินไหวสะท้านสะเทือนเลื่อนโลกก็เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ตึกรามบ้านช่องพังทลายตรงหน้าสองสามีภรรยา ก้อนอิฐบนผนังอาคารทรุดไล่พังลงมาเป็นแถบๆ พ่อบอกให้แม่รออยู่ด้านนอก ก่อนจะวิ่งเข้าไปในตัวอาคารเพื่อช่วยลูก แต่ยังไม่ทันได้เข้าไป ตึกก็ถล่มลงมาทับจนเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมาถึงรุ่งเช้า แม่เดินโซซัดโซเซออกตามหาลูก ก่อนจะพบว่าทั้งสองติดอยู่ใต้แผ่นคอนกรีตขนาดยักษ์ ฝ่ายลูกชายโดนคอนกรีตทับอยู่ครึ่งตัว ยังพอมีเรี่ยวแรงตะโกนร้องเรียกแม่ให้ช่วย ส่วนลูกสาวถูกคอนกรีตทับอยู่ด้านหลังทั้งตัว ไร้เรี่ยวแรง น้ำเสียงแหบแห้ง ทำได้เพียงหยิบก้อนหินขึ้นมากระทบกันเพื่อขอความช่วยเหลือ ชาวบ้านละแวกนั้นบอกกับผู้เป็นแม่ว่า สามารถช่วยเด็กได้เพียงคนเดียว เพราะแผ่นคอนกรีตมีขนาดใหญ่มาก ยกขึ้นได้แค่ด้านเดียว และถ้าช่วยด้านใดด้านหนึ่ง เด็กที่อยู่อีกฝั่งก็จะถูกแรงกดคอนกรีตทับจนเสียชีวิต ผู้เป็นแม่ร้องไห้ฟูมฟายของให้ช่วยลูกของเธอทั้งสองคน จนเวลาเนิ่นนาน ชาวบ้านขอให้ตัดสินใจช่วยคนใดคนหนึ่งเพราะไม่เช่นนั้นเธออาจต้องเสียลูกไปทั้งคู่ ผู้เป็นแม่ละล่ำละลักสะอึกสะอื้นตอบด้วยเสียงแผ่วเบาว่า ‘ช่วยลูกชาย’ เพราะไม่ได้ยินเสียงของลูกสาวแล้ว แต่ในระหว่างนั้น ลูกสาวของเธอยังมีสติ ได้ยินคำที่แม่พูด ถึงกับน้ำตาไหลพราก ร้องออกมาได้คำเดียวว่า ‘แม่จ๋า...’ แล้วก็หมดสติไป
ผู้เป็นแม่อุ้มลูกชายกลับบ้านด้วยหัวใจที่ร้าวราน ส่วนลูกสาวตัวน้อยถูกวางเคียงข้างร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวคนอื่นๆ ท่ามกลางสายฝนพร่างพรู เธอได้สติลุกขึ้นเดินออกไปอย่างเคว้งคว้างไร้จุดหมาย ก่อนที่ทหารนายหนึ่งจะเข้ามาอุ้มตัวเธอออกไป
ชีวิตหลังจากนั้น คนทั้งสี่ต่างมีชีวิตอยู่ด้วยบาดแผลร้าวลึก ไม่ว่าจะแผลกายหรือใจ แฝดน้องเสียแขนไปหนึ่งข้างโดยที่แม่ของเขาอดทนกัดฟันเลี้ยงดูโดยลำพัง แม้ฐานะยากจนแต่เธอก็ดูแลลูกชายราวไข่ในหิน ขณะที่ฝ่ายลูกสาวได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอย่างดีจากครอบครัวนายทหารระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ทว่าบาดแผลในใจจากเหตุกาณ์ครั้งนั้นฝังอยู่ในความทรงจำนานหลายปี กว่าที่เธอจะทำใจยอมรับมันได้ หนูน้อยไม่พูดไม่จาอยู่นาน จนกระทั่งครอบครัวใหม่ส่งเธอเข้าโรงเรียน เธอจึงยอมพูดชื่อตัวเองออกมาให้ครูได้รู้
ฉากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเพียง 10 กว่านาที แสดงภาพของการทำลายล้างตึกรามบ้านเรือน ผู้คนล้มตาย ประหนึ่งหนังหายนะภัยหลายๆ เรื่องที่เคยสร้างกันมา แต่ “Aftershock” ไปไกลกว่านั้น เพราะหนังไปเน้นที่ชะตากรรมของตัวละครแต่ละคน ซึ่งไม่เพียงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น หากแต่ยังสะท้านภาพชีวิตการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานในจีนที่ต้องต่อสู้ ปากกัดตีนถีบเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวและครอบครัว แม่ที่พยายามทำงานหาเงินเพื่อให้ลูกชายได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย (แม้เขาอยากจะทำงานหาเงินช่วยครอบครัวมากกว่าก็ตาม) หรือการพยายามทำใจให้ลืมปมในอดีตอันรวดร้าวของลูกสาวที่โชคดีได้ครอบครัวมีฐานะรับเป็นลูกบุญธรรมคอยเฝ้าประคบประหงมเลี้ยงดูอย่างดียิ่งกว่าลูกในไส้
“Aftershock” ไม่ได้จงใจบีบคั้น เรียกน้ำตา ด้วยฉากฟูมฟายแสดงให้เห็นชะตากรรมรันทดของตัวละครจนเกินจริง หากแต่แสดงให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตภายใต้สังคมและวิธีคิดของคนจีนเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ที่อยู่ในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม และคนหนุ่มสาวเริ่มแสวงหาเสรีภาพ และต่างก็มีแนวคิดหัวก้าวหน้าในห้วงเวลานั้น
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ฉายฉานให้เราสัมผัสได้ตลอดความยาวสองชั่วโมงของหนังเรื่องนี้ก็คือ ความรักที่อบอวลท่ามกลางมหันตภัยร้ายจากธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจต้านทานได้ ท่ามกลางบริบททางสังคมแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าพวกเขาจะเผชิญความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจแค่ไหน แต่สิ่งที่ทำให้พวกฝ่าฟันมาได้คือความรักที่มีต่อกันอย่างเต็มเปี่ยมนั่นเอง
ความรู้สึกผิดบาปจากการตัดสินใจของผู้เป็นแม่ในวันนั้น ทำให้เธอต้องทุ่มเทความรักอย่างมหาศาลต่อลูกชายเพื่อไถ่บาปจากรอยมลทินให้ได้ แม้จะมันจะติดค้างตกตะกอนในใจ จนไม่สามารถชำระล้างได้หมดจดก็ตาม แต่ในฉากที่เธอปฏิเสธคำขอแต่งงานจากคนที่รักเธอ และวินาทีที่เธอคุกเข่าร้องไห้ตัวสั่นเทิ้มต่อหน้าลูกในตอนจบ จึงน่าจะเป็น “Aftershock” ครั้งสุดท้ายที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองถางซานครั้งนี้
.............................
(หมายเหตุ Aftershock : เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)