'อลหม่านหลังบ้าน 3G เรื่องนี้ข้าพเจ้าอยากเล่าให้ท่านฟังตั้งแต่ต้น'
'อลหม่านหลังบ้าน 3G เรื่องนี้ข้าพเจ้าอยากเล่าให้ท่านฟังตั้งแต่ต้น' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ @nuishow รายการ @beartai ไฮเทค
ข่าวใหญ่น่าตกใจเกิดขึ้นในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา..“บอร์ด กสท ลงดาบ! สั่งยุติ TrueMoveH และ My ภายใต้ 3G” หากอ่านข่าวแต่พาดหัว ก็พาลทำเอาบรรดาลูกค้า TrueMoveH ตกใจกันสนั่นหวั่นไหวไปทั่วเมือง (ส่วนลูกค้า My อาจมีจำนวนไม่มากพอต่อระดับการตกใจแบบโครมครามได้...ฮา) เรื่องนี้ถ้าอ่านกันแบบเผินๆ จะตกใจครับ แต่เนื้อในข่าวก็บอกชัดเจนว่า TrueMoveH โดยการดำเนินงานของบริษัท เรียลมูฟ (บริษัทลูก TrueCorp) ถูกบอร์ด CAT Telecom (เจ้าของคลื่นความถี่ 850 Mhz) สั่งยุติการขยายเครือข่ายเพิ่ม แต่ยังสามารถคงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA+ ภายใต้แบรนด์ TrueMoveH ได้ต่อไป จนกว่า กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดที่กำกับดูแลคลื่นความถี่จะ “ลงดาบ” ซึ่งขณะนี้ก็เรียกว่า “เงื้อดาบรอแล้ว” ล่ะครับ เพราะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ได้ระบุว่า สัญญา CAT+TrueMoveH ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้บอร์ด กสท (CAT) ยังมีมติสั่งหยุดกิจกรรมทางการตลาดของแบรนด์ “My” ของตัวเองทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทางงบประมาณการตลาดไปมากกว่านี้ (พอเห็นเค้าลางบ้างแล้วล่ะครับ จากอาการเปิดตัวแล้วแป๊ก)
ต้องยอมรับว่าในบรรดาเครือข่าย “3G แบบกั๊กๆ” ณ เวลานี้ในประเทศไทย TrueMoveH ให้บริการด้วย “คุณภาพที่ดีที่สุด” จริงๆ เขาจริงจังทั้งระดับสัญญาณ ความแรงของอินเทอร์เน็ตที่ปล่อยมาให้ใช้ และพื้นที่ครอบคลุมหนาแน่น..หนาแน่นที่สุดในบรรดา 4 ค่าย (รวม TOT ด้วยนะครับ อย่าลืมเขาล่ะ)
แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเลิกรา...หนทาง 2 อย่างที่ True จะทำได้ในตอนนี้ก็คือ “โอนลูกค้า 1 ล้านรายของ TrueMoveH กลับ TrueMove ฉบับปกติ” กับอีกหนทางคือ “เตะถ่วงการเจรจาให้เกิดขึ้นช้าที่สุด เพื่อนำไปสู่ระยะเวลาการประมูลคลื่น 2100 Mhz เพื่อได้ License ในการทำ 3G แท้ๆ โดยไม่ต้องง้อระบบสัมปทานให้เจอวิบากกรรมอีก
มหากาพย์นี้ยังไม่จบ..แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อปูพื้นฐานในการปูเสื่อรอดูผลการตัดสิน ผมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะอธิบายเรื่องราวด้วยภาษาการเล่าแบบเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์ 3G ในบ้านเราอย่างแจ่มแจ้ง และเวลาฟังข่าวต่อๆ ไปจะได้ไม่ต้องตีความผิด หรือเข้าใจไม่ครบ
“การประมูล 3G” ที่พูดๆ กันอยู่นั้น แท้จริงคือการ “ประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในการให้บริการโทรศัพท์มือถือยุคที่ 3” ที่ทั่วโลกกำหนดแถบคลื่นถี่กันไว้ที่ 2100 Mhz กล่าวคือเครื่องมือถือยุคที่ 3 ทุกเครื่องจะรองรับความถี่นี้เป็นมาตรฐานสากล
...เดิมประเทศไทยมี “องค์การโทรศัพท์ฯ” และ “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” เป็น Authority หรือผู้ให้การอนุญาตประกอบการกิจการโทรคมนาคม สมัยนั้นเอกชนรายใดอยากทำกิจการสื่อสารก็ต้องวิ่งเข้าไปกราบกรานขอสัมปทาน โดยเสนอ “ผลตอบแทนคืนองค์กรรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น”
แต่ด้วยตัวบทกฎหมาย พร.บง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ออกมาในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี’35 ได้แสดงเจตนารมณ์ของ ”เสรีภาพทางการค้า-การแข่งขันของแวดวงสื่อสารและสื่อสารมวลชน” ตลอดจนการ “แปรรูปองค์การเป็นรูปแบบ บริษัท...จำกัด ในยุคของคุณทักษิณ” องค์การโทรศัพท์ฯ จึงแปรรูปเป็น TOT และการสื่อสารแปรรูปเป็น CAT และกลายสภาพเป็นผู้ให้บริการ หรือ Operator รายหนึ่งเหมือนๆ กับเอกชนเรา
หน้าที่ของการ Authority เดิม จึงตกเป็นภาระของ 2 องค์กรใหม่ ที่ชื่อว่า “กทช.” และ “กสช.” แต่ด้วยเงื่อนงำอะไรบางอย่างที่ขลุกขลัก จึงทำให้ปรากฏเพียงองค์กรที่ชื่อว่า “กทช.” เท่านั้นที่มีอยู่จริง แต่ไร้เงา “กสช.” ปรากฏการก่อร่างสร้างตัวขึ้นเลย
คณะกรรมการ กทช.ยุคนั้น จัดงบประมาณประชาสัมพันธ์องค์กรให้สังคมไทยรับรู้เป็นอย่างมากว่า “การประมูลคลื่น 2100 Mhz” กำลังจะเกิดขึ้นโดย กทช. ตอนนั้น “ทุกค่ายเอกชน” อยากให้การประมูลเกิดขึ้น เพราะ “ไม่ไหวจะเคลียร์กับค่าสัมปทาน” ที่เขียนไว้ในสัญญาแบบที่ TOT และ CAT ได้รับส่วนแบ่งมหาศาลแบบแทบไม่ต้อง Active ทำกิจกรรมการตลาดอื่นๆ องค์กรก็อยู่กันได้แบบสบายๆ (เป็นสาเหตุที่เราได้เห็นภาพความชิลๆ ที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์องค์กรทั้ง 2 นี้มาตลอด) และแน่นอน... “มีคนอยากออกจากสัมปทานไปประมูลใบอนุญาต” ก็ย่อมมี “คนที่ไม่อยากให้เอกชนออกไปจากสัมปทานของตัวเอง” ทั้ง CAT และ TOT จึงซุ่มเตะถ่วงให้การประมูลเกิดได้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรตัวเองไว้ (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรหากมองในมุมเขา)
ตอนนั้น กทช. ประกาศจัดการประมูล จัดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างดุเดือด และทำให้เราเข้าใจว่าเขา ”มีสิทธิ์ในการจัดประมูลจริงๆ” ผู้ที่รู้ความจริงมี แต่ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไรก็ไม่พูด ก็กะจะเนียนๆ ให้มันเกิดประมูลซะที แต่ CAT เขายอมไม่ได้ เพราะเขารู้ดีว่า องค์กรที่สามารถจัดการประมูลได้กฎหมายเขียนไว้ว่าคือ “กทช. + กสช.” จึงฟ้องศาลเพื่อล้มประมูลในเช้าวันนั้นเอง
ณ วันนี้ กสช.เกิดแล้ว โดยการ “รวมร่างกับ กทช.” กลายเป็น “กสทช.” ซึ่งจะจัดประมูลได้แน่นอนแล้ว ก็หมายมั่นกันว่า “ตุลาคมนี้” ได้ประมูลแน่ๆ ระยะเวลาสุญญากาศที่เกิด สร้างความสูญเสียโอกาสทั้งธุรกิจของโอเปอเรเตอร์และผู้ใช้งานอย่างเราๆ ที่ซื้อมือถือที่มีความสามารถรองรับ 3G แล้วแต่ไม่มีสัญญาณให้ใช้
แต่ละค่ายก็หาทางออกต่างกัน AIS ประกาศทำ 3G โดยการใช้คลื่น 900 Mhz เดิมที่เปิดให้บริการ 2G อยู่ (สัมปทานจาก TOT) มาทำการ “ขี่” กันให้บริการ ซึ่งผลก็คือช่องสัญญาณเสียงโดนเบียดมาก สายหลุดบ่อย และอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่สูงนักในกรุงเทพฯ เพื่อทรัพยากรระบบมีจำกัด จึงต้องแบ่งๆ อากาศกันหายใจ เสาที่ติดตั้งทั้งกรุงเทพฯ มี 4,500 ต้น แต่ AIS ลง HSPA แค่ 1 ใน 3 คือ 1,500 ต้น (โดยประมาณ) เพราะหากลงเต็ม มันจะเป็นการ ”ขี่คลื่น” ที่ไม่ก่อเกิดผลดีอย่างแน่นอน ผลที่เราต้องทำใจคือโทรศัพท์จะรับสัญญาณ 2G และ 3G สวิงไปๆ มาๆ ส่งผลให้แบตหมดเร็วพอควร
DTAC มีคลื่น 850 Mhz ที่สามารถนำมาให้บริการ 3G ได้ ต่างหากจากคลื่น 1800 ที่ให้บริการ 2G อยู่..คลื่น 850 เป็นคลื่นที่ dtac ได้รับสัมปทานมาแต่เดิม ตั้งแต่สมัย World Phone 800 (ซึ่งปัจจุบันได้สิ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว) dtac จึงนำมาทำ 3G ได้อย่างเนียนๆ ด้วยแถบคลื่นที่กว้างขวาง (เปรียบเป็นถนนแล้วกัน) มีแบนวิดธ 10 Mhz ปล่อยเน็ตได้ 42 Mbps ในระบบ HSPA+ ซึ่งเป็นความสามารถสูงสุดของ 3G (เรียกเล่นๆ ว่า 3.9G) แต่ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบ dtac ยังคงกั๊กๆ กับการปล่อยความแรงของอินเทอร์เน็ตอยู่ เราเองไม่เคยได้สัมผัสความเร็วดุจเทพนั้นสักครั้งในสภาพการใช้งานปัจจุบัน
TRUE เอง เดิมขอสัมปทานของ CAT อยู่ (เช่นเดียวกับ DTAC) ในคลื่น 1800 ก็ไป “ขอยื้ม” 850 Mhz ของ CAT มาให้บริการด้วย…จุดหักเหคือ เมื่ออายุสัมปทานใกล้หมด TRUE เองได้ทำตัวเป็นลูกรักของ CAT มาก… CAT อยาก Take Over “Hutch” แต่มติ ครม.ไม่อนุมัติให้ซื้อ TRUE จึงไปซื้อมาให้ ..จุดนี้เองครับที่ CAT พอใจมาก (ภายใต้การบริหารของคุณจิรายุทธ รุ่งศรีทอง ในเวลานั้น) จึงอนุญาตให้ TRUE ใช้ย่านความถี่ 850 Mhz เพิ่มเติมจากเดิม (ส่วนที่ไปซื้อมาจาก Hutch) และ TRUE ก็ทำ TrueMoveH ออกมา (ภายใต้การดำเนินการของบริษัทใหม่ชื่อเรียลมูฟ) ซึ่งออกตัวชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเจ้าของ Network เป็นเพียง ”คนขายรายย่อย” ให้ CAT (ดังที่กำกับใต้โฆษณาทุกชิ้นว่า a CAT Reseller)
ส่วน 3G ของ TOT เป็น 3G ที่ให้บริการบนคลื่น 2100 Mhz คลื่นสากลโลกที่มือถือทุกเครื่องรับได้ (TOT เป็นเจ้าของคลื่นนี้ตั้งแต่บรรพกาล นั่นคือระบบ ThaiMobile 1900 ที่เคยคว่ำในอดีตนั่นเอง)
หากแต่ “ศักยภาพในการทำตลาด” และ “การจะทำอะไรต้องขอพ่อที่ชื่อ ‘ครม.’ ทุกครั้ง” ทำให้ TOT ยังไม่ถึงฝั่งฝันในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน ซึ่งไม่อาจเทียบได้กับค่ายมือถือเอกชนเลย
อ่านเพื่อสร้างความเข้าใจกับตัวละครและปูมหลังไว้ก่อน การประมูลคลื่น 2100 Mhz เกิดแน่ในปีนี้ ซึ่ง กสทช.เพิ่งประกาศวิธีที่จะใช้ประมูลเมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมานี้เองว่า จะเปิดประมูลแบบแพ็กเกจ คือประมูลทีละหลายๆสลอตพร้อมกัน เพื่อดูดเงินประมูลจากผู้แข่งขันให้ได้มากที่สุด และเราจะได้เห็นคนชนะแบบหน้าซีด และคนแพ้แบบหมดตัวกันไปข้างนึง...สนุกแน่ครับ ผู้ใช้อย่างเราแค่ ”ปูเสื่อรอ” เท่านั้น
.............................
(หมายเหตุ 'อลหม่านหลังบ้าน 3G เรื่องนี้ข้าพเจ้าอยากเล่าให้ท่านฟังตั้งแต่ต้น' : คอลัมน์ หนุ่ยรู้โลกรู้ โดย... หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์
@nuishow รายการ @beartai ไฮเทค)