โลกเปลี่ยนไป ดนตรีไทยก็เปลี่ยนแปลง 3
โลกเปลี่ยนไป ดนตรีไทยก็เปลี่ยนแปลง 3 : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน
สำนักปี่พาทย์หรือบ้านดนตรีไทยในปัจจุบันนี้มันค่อยๆ หายไปทีละสำนักจนเหลืออยู่ไม่กี่แห่งที่ประคับประคองกันไปได้ ทั้งๆ ที่เด็กในยุคปัจจุบันนี้จะมีความสนใจที่จะเรียนดนตรีไทยไม่ได้น้อยไปกว่าสมัยตอนที่ผมยังเป็นเด็กแต่การเรียนดนตรีไทยในยุคนี้ โดยเฉพาะในวงปี่พาทย์นั้นจะมีความแตกต่างจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก โดยเด็กปี่พาทย์สมัยนี้ ส่วนใหญ่จะเรียนมาจากตามสถาบันต่างๆ มากกว่าที่จะเรียนตามบ้านหรือตามสำนักต่างๆ แต่ก็จะมีเด็กปี่พาทย์ไม่น้อยที่ได้เรียนกับสำนักปี่พาทย์หรือง่ายๆ ว่าเรียนอยู่ในวง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาฝึกซ้อมในช่วงเย็น ก็คือหลังจากกลับจากโรงเรียน พอมืดค่ำแล้วก็จะแยกย้ายบ้านใครบ้านมันกลับไปกินและนอนกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งมันก็จะแตกต่างกับเด็กปี่พาทย์ที่กินนอนอยู่ในสำนักหรือบ้านปี่พาทย์ ซึ่งความใกล้ชิดและความผูกพันมันจะแตกต่างกันมากมายหลายอย่างยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าการฝึกซ้อมในตอนเช้ามืดของ มือระนาด ซึ่งภาษาปี่พาทย์เขาจะเรียกกันว่า ไล่ระนาด คนทั่วไปอาจจะสงสัยว่าระนาดอยู่ดีๆ แล้วจะไล่ให้หนีไปไหนแต่ความจริงแล้วมันก็คือวิธีการฝึกตีระนาดให้มีความพัฒนาในด้านฝีมือของนักระนาดหรือง่ายๆ ว่า ทำให้มันเก่งขึ้นนั่นเองแหละครับ
การไล่ระนาด นั้นมีความสำคัญกับนักระนาดมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มหัดใหม่ ตามสำนักหรือบ้านปี่พาทย์จะต้องมีเด็กๆ ที่เป็นมือระนาดตื่นขึ้นมาไล่ระนาดตอนเช้ามืดกันทุกๆ บ้านแถมยังมีครูคอยให้คำแนะนำ ดูแลอยู่ตลอด ซึ่งตรงนี้ถือว่ามันประโยชน์ต่อเด็กที่เป็น มือระนาด ที่จะมีโอกาสพัฒนาฝีมือไปได้เร็วกว่าเด็กที่ไล่ระนาดอยู่ตามลำพังที่บ้านของตัวเองรวมถึงการฝึกซ้อม และออกงานที่สร้างทีมเวิร์กให้แก่วง การอยู่รวมกันจะมีการอบรมบ่มนิสัยให้อยู่รวมกันเหมือนพี่น้องและเพื่อน ซึ่งจะสร้างความผูกพันจนเติบโตไปด้วยกันจนกระทั่งตายจากกันไป ซึ่งเหล่านี้มันหาได้จากสำนักปี่พาทย์หรือบ้านปี่พาทย์แบบสมัยก่อน ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน โดยความจริงแล้วที่บ้านผมเองก็ยังคงสภาพนี้อยู่ และทุกวันนี้ผมเองภูมิใจและแอบดีใจที่ได้เห็นลูกศิษย์ในบ้านที่เติบใหญ่และได้ดีกันไปหลายต่อหลายคน บ่อยครั้งที่พวกเขามีงานราชการที่ต้องมาประชันกันเองตามหน้าที่ของเขาที่อยู่กันคนละหน่วยงาน แต่พวกเขาจะไม่มีความลับต่อกันมีอะไรจะส่งข่าวให้รู้กัน โดยมีผมเป็นผู้ให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ ทางโทรศัพท์แถมหลังจากงานแล้วก็จะเข้ามานั่งคุยกันที่บ้านผมก็คือสำนักที่ตัวเองเคยอยู่กันแบบ สนุกสนานสำราญปาก หน้าที่หรือการงานที่กองดุริยางค์ของพวกเขามันไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่า เด็กบ้านปี่พาทย์ ที่เคยอยู่ในสำนักเดียวกัน หรือวงเดียวกันและที่สำคัญก็คือคำว่า ศิษย์ครูเดียวกัน ที่มันมีความผูกพันทางจิตใจนานนับสิบปีเกินกว่าที่จะแยกกันออก
ผมมีความเชื่อเหลือเกินว่าสำนักปี่พาทย์อื่นๆ อย่างของ ครูสกล แก้วเพ็ญกาศ หรือที่บ้านของครูโม ปลื้มปรีชาและที่อื่นทุกๆ สำนักนั้น ลูกศิษย์ที่เติบโตมีหน้าที่การงานทุกคนจะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน และยังคงให้ความสำคัญกับคำว่าศิษย์บ้านเดียวกันหรือสำนักเดียวกันและครูเดียวกันอยู่ทุกๆ สำนัก เพียงแต่ว่าครูที่เป็นเจ้านั้นสำนักไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เห็น และอย่างที่ผมเขียนไปในฉบับที่แล้วว่ามันน่าเสียดายที่สำนักปี่พาทย์หลายแห่งได้หมดไปตามกาลเวลาของโลกที่หนีไม่พ้นของคำว่า ความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป ซึ่งมันก็ต้องเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับกันไปโดยปริยาย ไม่เว้นแม้แต่สำนักของผมเพราะเนื่องจากว่าผมเองก็ยังไม่มีทายาทสืบทอด คำว่า โต้โผปี่พาทย์หรือเจ้าสำนักปี่พาทย์ ต่อจากตัวผม ก็เลยยังไม่รู้ว่าอนาคตสำนักปี่พาทย์โตสง่าของผมจะเป็นอย่างไร แต่อะไรก็แล้วแต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไปและยังมีอะไรให้ผมต้องทำอีกมากมายหลายอย่างครับ
โลกในยุคการเปลี่ยนแปลงนั้นจะสอนให้ผมได้รับรู้สิ่งต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปโดยเฉพาะดนตรีไทยต้องทำในสิ่งที่ใหม่ๆ ก้าวสู่ความเป็นสากลด้วยการเป็นวงดนตรีร่วมสมัย หรือถ้าสมัยก่อนก็จะนิยมเรียกกันกว่าดนตรีแนวประยุกต์ไทยผสมสากลหรือที่เรียกให้เท่ๆ เป็นภาษาฝรั่งว่าดนตรี แนวคอนเท็มโพรารี่ ซึ่งถ้าเราย้อนไปก่อนที่ผมจะเป็นขุนอินในภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ดนตรีแนวนี้ยังไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่คนเล่นและคนฟังแต่พอผมเริ่มที่มีชื่อเสียงผมก็เลยเริ่มที่เอาจริงเอาจังกับวงดนตรีร่วมสมัยของผม แค่ในปีพ.ศ. 2547และ2548 เพียง 2 ปีผมไปนับจากสมุดจดบันทึกของผมนั้นมีงานแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศมากถึง 452 งานและ90% นั้นเป็นงานดนตรีแนวคอนเท็มโพรารี่ ชีวิตการทำมาหากินเลี้ยงชีพของผมนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสำนักปี่พาทย์ของผมนั้น มันมาจากดนตรีร่วมสมัยแต่มันจะมาจากทางไหนก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดมันก็เป็นเสียงระนาดเอกจากตัวผม ที่เป็นเครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์นั่นเองแหละครับ ถึงวิธีการแสดงจะเปลี่ยนไปบ้างแต่อะไรที่เป็นคำว่า ขนบธรรมเนียม ซึ่งไม่สมควรเปลี่ยนแปลงนั้นยังอยู่ครบถ้วนในสำนักปี่พาทย์ของผมเอาไว้ฉบับหน้าค่อยมาดูกันว่า อะไรที่ดนตรีไทยนั้นควรจะอยู่ดังเดิม ไม่สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงแต่มันก็เปลี่ยนไปแล้ว และขนบธรรมเนียมบางอย่างก็เริ่มที่จะเปลี่ยนไปและไม่ใช่สาเหตุเพราะโลกเปลี่ยนแปลงแต่เป็นเพราะพวกเรานั่นแหละครับที่เปลี่ยนกันไปเอง
อีกสักนิด วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายนนี้ จะมีการแข่งขันไตรกีฬาของมูลนิธิราชประชาสมาสัยตั้งแต่เช้ามืด บริเวณใต้สะพานพระราม 8 และพอช่วง 9 นาฬิกาก็จะมีวงดนตรีร่วมสมัยขุนอินออฟบีทสยามของผมมาบรรเลงขับกล่อมบรรยากาศในงาน พร้อมกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าท่านผู้อ่านว่างก็ขอเชิญมาเที่ยวชมงาน ไม่เสียสตางค์ด้วยครับ
.............................
(หมายเหตุ โลกเปลี่ยนไป ดนตรีไทยก็เปลี่ยนแปลง 3 : คอลัมน์ โลกใบนี้ดนตรีไทย โดย... ขุนอิน )