Moneyball : เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน
Moneyball : เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน : คอลัมน์ มองผ่านเลสน์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง [email protected] , twitter.com/dongongart , facebook.com/dongongart
ผมต้องหยิบภาพยนตร์ Moneyball มาดูเพราะอยากทำความเข้าใจว่าปัญหาการแข่งขันด้านกีฬา เพื่อมองสู่ปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลต่างประเทศในบ้านเมืองเราว่ามันเกิดอะไรขึ้น จึงก่อเกิดสงครามการเอาชนะกัน แม้บางครั้งต้องยอมลดคุณค่าความเป็นคนลงไปก็ตาม และผมจะได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเตือนใจบ้าง
ภาพยนตร์ Moneyball ของผู้กำกับ เบนเนท มิลเลอร์ ที่นำเอาหนังสือของ ไมเคิล เลย์วิส ที่ชื่อว่า Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game มาดัดแปลงเป็นหนังชีวประวัติของ บิลลี่ บีน (แบรด พิตต์) อดีตนักเบสบอลดาวรุ่งของเมเจอร์ลีกที่ไม่อาจทำตามความคาดหวังของคนอื่นบนสนามแข่งได้ จึงได้หันเหไปเป็นผู้ดูแลทีมโอคแลนด์ แอธเลติคส์แทน จนเมื่อบิลลี่พบกับสถานการณ์น่าท้อแทัใจ เมื่อทีมของเขาเสียผู้เล่นคนสำคัญไปให้กับสโมสรใหญ่ เขาก็เลยต้องสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และต้องลงแข่งด้วยจำนวนผู้เล่นที่เหลือเพียงหนึ่งในสาม บิลลี่ได้จ้างปีเตอร์ แบรนด์ (โจนาห์ ฮิล) หนุ่มนักเศรษฐศาสตร์ผู้ชาญฉลาดจากรั้วเยล ทั้งสองได้ท้าทายหลักเกณฑ์สำคัญของการแข่งขัน โดยมองนอกกรอบเบสบอลไปยังทฤษฎี Moneyball จากหนังสือที่ถูกเขียนโดย บิล เจมส์ (ยามของโรงงานแห่งหนึ่ง) พวกเขาทั้งสองคนใช้การวิเคราะห์ทางสถิติในคอมพิวเตอร์เป็นตัววางหมากเกมแทนการหาคนด้วยราคาค่าหัว ใช้กลยุทธ์แนวใหม่ด้วยวิธีไล่ตามผู้เล่นที่ถูกมองข้ามไม่ได้รับความสนใจจากสโมสรอื่นๆ แต่นักเบสบอลเหล่านั้นต่างมีทักษะสำคัญที่ถูกมองข้ามไป วิธีใหม่และทีมผู้เล่นเจ้าปัญหาของพวกเขาก็ได้กลายเป็นจุดสนใจของบรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการที่สบประมาทว่าเบสบอลไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่บิลลี่กลับพยายามตอกกลับด้วยแนวคิดที่ว่า “เลือกปรับตัวหรือไม่ก็ตายไป” การทดลองครั้งนี้ไม่เพียงแต่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นเบสบอลเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จะทำให้บิลลี่เกิดความเข้าใจใหม่ที่ข้ามขอบเขตของการแข่งขัน และนำเขาไปสู่แนวทางใหม่ในวงการกีฬาอีกด้วย
“คุณเชื่อในแนวความคิดทฤษฎีหรือไม่ แล้วหากชั่งดูกับจิตวิญญาณ ความรู้สึกเล่า เราจะเชื่อมั่นในอะไร” นั่นคือสิ่งที่คนดูต้องตอบ แก่นแท้ของเรื่องนี้จริงๆ แล้วสามารถตอบได้ชัดเจนที่สุดหากใช้มุมมองเชิงปรัชญามาช่วยวิเคราะห์ ผมถือว่าแก่นของเรื่องเป็นการขัดแย้งกันระหว่างความรู้สองแบบ คือ “ความรู้เท่าที่ตาเห็น” ถือเป็นความรู้จากวัตถุ (matter) เป็นความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์ สามารถเข้าใจง่ายเพราะเห็นเป็นจริงเช่นนั้น ที่ทั้งบิลลี่และผู้ช่วยพยายามใช้มันและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นในลักษณะข้อมูลประสบการณ์นั่นเอง กับอีกหนึ่งคือ “ความรู้จากความคิด” เป็นความเชื่อในจิต (mind) ถือเป็นความรู้ทางจิตที่สัมผัสไม่ได้ มันยากจะเข้าถึง เป็นสิ่งที่คนในสังคมเบสบอลอเมริกันยึดมั่นมาตลอด ผมว่าใครจะเชื่อในแบบไหนก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ขอแค่สิ่งที่เราเชื่อไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ชื่อไทยว่า “เกมล้มยักษ์” ด้วยการสอดแทรกแนวคิดของการเอาชนะใจตนเอง เพราะยักษ์นั้นไม่ใช่ทีมคู่แข่งอย่างแยงกี้ แต่แท้ที่จริงมันคือ ตัวเราเองต่างหาก เลยต้องย้อนกลับไปที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่าจะแข่งขันแย่งชิงกันนั้นได้ ถ้าผลประโยชน์ทั้งหลายตกแก่ประชาชน นั่นคือสิ่งที่เราๆ ท่านพึงต้องตระหนัก แค่ชนะใจตัวเองให้ได้ด้วยการเห็นใจคนอื่นบ้าง อย่าทำให้ Moneyball ต้องกลายเป็น Moneytalk เลย เพราะไม่มีใครอยากได้ยินประโยคที่ว่า “เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน” แต่รู้ไว้เถิดว่า “คุณทำในสิ่งที่เงินบอก”
.......................................
(หมายเหตุ Moneyball : เราไม่ได้ทำเพื่อเงิน : คอลัมน์ มองผ่านเลสน์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง [email protected] , twitter.com/dongongart , facebook.com/dongongart)