บันเทิง

Toy Story 3

15 มิ.ย. 2555

Toy Story 3 : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          ผมชอบหนังแอนิเมชั่นชุด Toy Story อย่างแรกตรงชื่อของหนังที่ไม่จำเป็นต้องบอกว่าภาคหนึ่ง ภาคสอง ภาคนี้ ภาคนั้น พูดถึงอะไร หรือตัวละครออกไปผจญภัยกับใคร ที่ไหน อย่างไร หนังปล่อยให้ตัวละครเล่าเรื่องของพวกมันกันไปเอง แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่า คือ ‘สาร’ ในหนังต่างหาก ซึ่งแต่ละภาค ล้วนมีความหมาย มีสิ่งสอนใจให้น่าจดจำจากการผจญภัย และบ่งบอกถึงคุณค่าความเป็น ‘ของเล่น’ ของพวกมัน

          ตัวละครหลักที่คนเขียนบทหนังชุดนี้พยายามรักษาคาแรกเตอร์ต่างๆ ของพวกมันเอาไว้ไม่เคยตกหล่น ทั้งสถานภาพและบุคลิกลักษณะ ตลอดจนทัศนคติ ความคิดอ่านที่พวกมันมีต่อเจ้าของ ไปจนถึงการมองโลกและเพื่อนแปลกหน้าร่วมโลกของนายอำเภอคาวบอย ‘วู้ดดี้’ นักรบอวกาศ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ สามีภรรยาหัวมันฝรั่งขี้โวยวาย ‘เร็กซ์’ไดโนเสาร์จอมซื่อ เจ้าหมาสปริง ‘สลิ้งกี้’ และผองเพื่อนของเล่นตัวอื่นๆของหนูน้อย ‘แอนดี้’ ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นในแต่ละภาคจนกลายเป็นหนุ่มน้อยใน “Toy Story 3” ซึ่งในแต่ละภาคล้วนมีพัฒนาการเติบโตทั้งทางกายภาพและวุฒิภาวะโดยเฉพาะเหล่าบรรดาของเล่นน้อยใหญ่

          ใน “Toy Story” ภาคแรก หนังพูดถึงประเด็นที่พบได้ทั่วไปในหนังการ์ตูนแอนิเมชั่น นั่นก็คือเรื่องของ ‘มิตรภาพ’ หลังนายอำเภอ ‘วู้ดดี้’ รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกแย่งชิงความรักไปจากเจ้านาย หลังการมาถึงของ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ ของเล่นชิ้นใหม่ จากแค่พยายามหาเรื่องกลั่นแกล้งเล็กน้อยๆ ในฐานะเจ้าถิ่น เหตุกลับบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ก่อนการออกผจญภัยในโลกกว้างของพวกมันจะเป็นการกระชับมิตรภาพครั้งสำคัญที่ทำให้เหล่าของเล่นรักกันเหมือนพี่น้อง

          มาใน “Toy Story 2” ของเล่นเริ่มถูกหมางเมินเมื่อเจ้านายของพวกมันกำลังโตเป็นหนุ่ม ให้เวลากับของเล่นน้อยลง จนพวกมันออกอาการน้อยอกน้อยใจ แต่สุดท้ายเหล่าผองเพื่อนของเล่นที่นำโดย นายอำเภอ ‘วู้ดดี้’ และ นักรบอวกาศ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ ก็ตระหนักว่า แม้พวกมันไม่อาจห้าม ‘แอนดี้’ ให้โตได้ แต่พวกมันสามารถเฝ้าดูคนที่รักเติบโต และคอยอยู่เคียงข้างเขาได้

          ส่วน “Toy Story 3” หนุ่มน้อย ‘แอนดี้’ ตัดสินใจเก็บรักษาของเล่นของเขาไว้ในห้องใต้หลังคาแทน โดยเลือกเอา ‘วู้ดดี้’ ติดกระเป๋าไปเป็นเพื่อนคู่ใจในหอพักยามคิดถึงบ้านเมื่อต้องเดินทางไกลไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัย แต่มีเหตุจับพลัดจับผลูให้พวกมันต้องถูกนำไปบริจาคในสถานเลี้ยงเด็กก่อนจะพากันหาทางกลับบ้าน ซึ่งภาคนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหนังชุด “Toy Story” คือถ้าไม่เป็นภาคสุดท้าย ก็อาจจะสร้างแฟรนไชส์ต่อไปอีกชุดใหญ่ เพราะมีการเพิ่มตัวละครเข้ามาในตอนท้าย ที่น่าจะพัฒนาเรื่องราวต่อไปได้อีกเยอะ และโดยเฉพาะประเด็นที่จับใจมากขึ้น เมื่อเหล่าของเล่นพบว่า พวกมันมี ‘คุณค่า’ เมื่ออยู่ในมือของคนที่เห็น ‘คุณค่า’ ของพวกมัน

          ตั้งแต่ “Toy Story 2” เป็นต้นมา ดูเหมือนเหล่าของเล่นจะถูกตั้งคำถามถึงการพิสูจน์คุณค่าในตัวเองอยู่เสมอในระหว่างการผจญภัย และพบเจอเพื่อนใหม่ๆ บางตัวมีโอกาสเข้ามาอยู่ในก๊วน บางตัวก็สร้างประสบการณ์ร้ายๆ ให้ได้รู้ว่ารูปร่างภายนอกไม่อาจตัดสินคุณค่าความดีชั่วใดใดภายในจิตใจได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรสิ่งหนึ่งที่หนังพยายามบอกกล่าวแก่เด็กๆ อยู่เสมอก็คือ การรู้จักรักและทะนุถนอมสิ่งของสำคัญ ผ่านเรื่องราวชะตากรรมของเล่นน้อยใหญ่ที่ถูกทิ้งขว้าง ตั้งแต่ ‘เจสซี่’ สาวน้อยคาวเกิร์ล ที่กลายมาเป็นหนึ่งในผองเพื่อนของเล่นของแอนดี้ ส่วนในภาคที่สามก็มีตัวละครอย่าง ‘ลอสโซ่’ ตุ๊กตาหมีสีชมพูตัวโต ที่เจ้าของมันหลงลืม ทิ้งขว้างโดยไม่ตั้งใจ กลายเป็นความแค้นฝังหุ่นนับแต่นั้นมา

          หนังชุด “Toy Story” ไม่ใช่แค่แอนิเมชั่นที่เหมาะสำหรับเด็กเท่านั้น หากแต่ยังสอนใจผู้ใหญ่ในหลายๆ เรื่อง เป็นหนังสำหรับครอบครัวที่สามารถนั่งดูกันได้พร้อมหน้าพร้อมตาอย่างมีความสุข เป็นนิทานก่อนนอนที่เด็กๆ จะหลับฝันดีไปเรื่องราวอันน่าประทับใจจากการผจญภัยของเหล่าตัวละครของเล่น

          นักวิจารณ์หนังหลายคนบอกว่า “Toy Story 3” เป็นภาคที่สมบูรณ์ที่สุด มีสรุปที่ลงตัวและจุดจบที่สวยงามที่สุดแล้ว การสิ้นสุดของหนังชุด “Toy Story” จะทำให้มันเป็นตำนานอันน่าจดจำของวงการหนังไปตลอดกาล ขณะที่แฟนหนังอีกหลายคนก็บอกว่า หลังจาก “Toy Story 3” น่าจะทำให้เกิดซีรีส์หนังชุดนี้ตามมาอีกหลายภาคหลายตอน เป็นขวัญใจเด็กและผู้ใหญ่ไปตลอดกาล ดังเช่นหนังซูเปอร์ฮีโร่ในตำนานหลายๆ เรื่องอย่าง “ซูเปอร์แมน” “แบทแมน” “สไปเดอร์แมน” หรือกระทั่งเป็นตัวละครการ์ตูนอมตะที่หลายคนยังจดจำกันได้ดีอย่าง “วินนี่ เดอะ พูห์” ทำนองนั้นเลยทีเดียว 
.......................................
(หมายเหตุ Toy Story 3 : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)