มรดกขุนศึก
มรดกขุนศึก : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย.. สุนิสา สุขบุญสังข์
สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการจากลาของ “เสมา” ทหารหาญแห่งอโยธยา และเป็นการเปิดตัวที่น่าจับตาของ “อาทิจ” กับ “ดรุณี” แห่ง ธรณีนี่นี้ใครครอง แต่อ้อมก็ยังรู้สึกอยากพูดถึงสิ่งดีๆ ที่เราได้จาก ขุนศึก อยู่เป็นการส่งท้าย
จะว่าไปตลอดระยะเวลาในการนำเสนอละครเรื่องนี้ที่เรียกกันว่า “ฟอร์มใหญ่” (ละครดีจะใหญ่จะเล็ก สเปกไม่เกี่ยว สุดท้ายวัดกันที่คุณดูสนุกไหม แต่ถ้าใหญ่ด้วยดีด้วยถือเป็นกำไรของคนดูอย่างเรา) แทบทุกวันเราจะได้เห็นถึงความดี ทั้งดีมาก ดีน้อย ปะปนอยู่ในทุกตัวละคร ไม่ว่าชนชั้นไหน เพศใด มันไม่ใช่เรื่องของคนที่ดีพร้อมหรือชั่วไปหมดทุกด้าน และสะท้อนให้เห็นว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย จากอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ 2555 “คน” ก็ไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกับประเด็น รัก โลภ โกรธ หลง เล่นพรรคเล่นพวก หักหลัง คลุมถุงชน มันก็มีมานานและคงไม่หมดไปง่ายๆ
นอกจากตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่ทุกคนรอคอยแล้ว จุดจบของ “ไอ้พุด-ไอ้ขันธ์” สองเกลอตัวร้ายคงจะถูกใจใครหลายๆ คนจนถือว่าเป็นไคลแมกซ์ของเรื่องเลยด้วยซ้ำ เนื่องด้วยเก็บกดกันมานาน อยากเห็นหายนะของคนไม่ดีที่เสมอต้นเสมอปลายมาตั้งแต่ต้นเรื่อง สุดท้ายคนหนึ่งตาย อีกคนไม่ตายก็เหมือนตาย ละครกำลังบอกเราว่าจะเร็วจะช้า คนไม่ดีก็ต้องได้รับผล อย่างไอ้พุด (กิฟท์ วรรธนะ) คนดูอาจคิดว่าเขาควรได้รับความตายเป็นของกำนัล เหมือนอย่างที่เขาเคยสาบานเอาไว้ แต่คนที่เป็นเหตุให้เขาตาย หรือคนที่ทำให้ไอ้ขันธ์ (น็อต วรฤทธิ์) ประสบเคราะห์กรรมก็ต้องถูกลงโทษ เพราะคนเราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใครด้วยชีวิตทั้งนั้น
ว่าแต่เราได้อะไรจากตัวร้ายที่สวมบทบาทโดยคุณกิฟท์ วรรธนะ เหตุที่เลือกพูดถึงตัวละครตัวนี้ก็เพราะสำหรับอ้อม ตั้งแต่เริ่มเรื่องไม่มีความดีของตัวละครตัวนี้เลยให้รู้สึกได้ ยกเว้นตอนเดียวที่พระเจ้าแผ่นดินสิ้นแล้ว ตัวละครตัวนี้แสดงออกถึงความเสียใจ แสดงออกว่ายังรู้สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่บ้าง นอกนั้นเรียกว่าไม่มีอะไรดีเลยดีกว่า ไหนจะเมาไม่รู้จักเวล่ำเวลาแม้กระทั่งยามศึก ฝีมือไม่ถึงแต่อยากเป็นใหญ่ ตัวเองทำไม่ได้ก็ขัดแข้งขัดขาคนอื่น จนกองทัพเกือบพินาศ ทำตัวไม่สมกับเป็นข้าแผ่นดิน ถ้าเปรียบกับยุคนี้ก็จะคล้ายๆ กับคนในสังคมบางจำพวกที่วันๆงานการไม่ค่อยทำ อยากก้าวหน้าทางลัด ใครเกิดมาต่ำกว่าก็จะดูถูกว่าไม่ใช่พวกพ้อง แล้วพอเมาก็ชอบไปถามชาวบ้านที่ไม่เคยรู้จักกันว่า “รู้ไหมกูลูกใคร”
อาการใจแคบแบบนี้ไม่ได้มีแค่ตัวละครของคุณกิฟท์คนเดียว พ่อนางเอกที่รับบทโดยอาหนิง นิรุตติ์ ก็เป็นไปด้วย ตัวละครตัวนี้ยศศักดิ์ใหญ่โต แต่ใจไม่ใหญ่ตามยศ ตั้งแง่รังเกียจ “เสมา” ด้วยข้อหาว่าโตมาจากครอบครัวช่างตีเหล็ก ต่อให้ได้ดิบได้ดีก็ยังตั้งแง่ต่อไปอีกว่าเป็นลูกช่างตีเหล็กริจะมาตีเสมอ กีดกันไม่ให้คบหาดูใจกับลูกตัว เพราะลูกข้าต้องได้คนที่ดีเสมอกันเท่านั้น ซึ่งความ “เสมอกัน” นั้นวัดจากชาติตระกูล ฐานะ ความคุ้นเคย ไม่ได้มาจาก “คุณค่าของตัวบุคคล” ที่ดีงามเสมอกันแต่อย่างใด หนักเข้าถึงขั้นมีส่วนทำให้ลูกสาวเข้าใจเสมาผิด งานนี้ไม่รู้เพราะว่ารักลูกหรือจริงๆแล้วรักตัวเองก็ไม่ทราบได้ เพราะลูกก็ประกาศอยู่ปาวๆ ว่าไม่ชอบพอกับคนที่พ่อหาให้ หนำซ้ำเวลาผ่านไปก็เห็นอยู่ว่าคนที่ตัวจัดหาให้ อนาคตก็ไม่น่าจะไปได้ดี ก็ยังไม่วายดึงดัน โอ๊ย! อยากจะบ้า นักรบต้องใจแมน ทำไมถึงมองคนด้านเดียวอยู่ได้
ยังดีที่ผู้ชายอย่างเสมายังรู้จักคิดดี ใฝ่ดี ไม่งั้นคงรักกันหนา พากันหนี ไปตายเอาดาบหน้า อนาคตป่นปี้กันหมด แต่ใช่ว่าเสมาเองจะไม่มีลูกพลาด สี่ตีนยังรู้พลาดฉันใดไอ้เสมาก็พังได้ฉันนั้น เอาศึกรักไปพัวพันกับศึกรบเลยโดนถอดยศซะเหี้ยน แต่สุดท้ายสติและความซื่อสัตย์กตัญญูก็ทำให้เขากลับมาอยู่ในร่องในรอยได้
ต้องขอบคุณความสอดคล้องกลมกลืนของบทบาทตัวละคร ที่เปรียบเทียบสะท้อนออกมาให้เราเห็นว่า แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่คุณเลือกทำตัวได้ เหมือนเสมาที่ก็ไม่ได้เกิดมาในตระกูลดี แต่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ แผ่นดิน หรือจะมองว่าเขากตัญญูต่อชีวิตของตัวเองก็ได้
ถามว่าเราแสดงออกถึงการรักชาติแบบเสมา ต้องไปสมัครทหารไหม ก็คงไม่ต้อง แค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีสมกับที่เกิดมาก็พอ
.......................................
(หมายเหตุ มรดกขุนศึก : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย.. สุนิสา สุขบุญสังข์)