
Mission: Impossible - Ghost Protocol
Mission: Impossible - Ghost Protocol : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ว่ากันว่า หนังภาคต่อที่สร้างตามกันมาหลังภาคแรก ภาคสองที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย มักจะจอดป้ายในภาคที่สาม นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่จบแค่ภาคที่สาม ภาคถัดมาหลังจากนี้ คุณภาพก็จะลดน้อยถอยลงตามลำดับ เป็นสัดส่วนผกผันกับจำนวนที่สร้างตามมา แต่สำหรับ Mission Impossible ดูเหมือนจะเป็นข้อยกเว้น
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2539 Mission Impossible บนแผ่นฟิล์มภาคแรกถือกำเนิดขึ้น หลังต้นแบบที่โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะซีรีส์ทางทีวีที่มีอายุเก่าแก่ยาวนานร่วม 30 ปีในตอนนั้น หยุดออกอากาศไปนานถึง 6 ปี โดยซีรีส์ Mission Impossible ปี 1 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2509 ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ก่อนจะปิดฉากซีซั่นแรกตอนที่ 28 ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2510 และจากนั้นมา ทุกเดือนกันยายนของแต่ละปี แฟนๆ ของหน่วยสายลับเดนตาย IMF (ไม่ใช่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ International Monetary Fund ที่หลายคนเข็ดขยาดในช่วงวิกฤติฟองสบู่เมื่อปี พ.ศ. 2540 หากแต่เป็นชื่อหน่วยปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ ‘Impossible Mission Force’ ต่างหาก) ก็จะเฝ้ารอคอยการกลับมาของพวกเขาตลอดเวลายาวนานร่วม 7 ปี ก่อนจะหายหน้าหายตาไปนานถึง 15 ปี แล้วกลับมาออกอากาศอีกครั้งทางช่อง ABC ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2531 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533
จำนวนความยาวกว่า 200 ตอน ของซีรีส์ Mission Impossible ทั้งสองสมัย คงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความนิยมที่แฟนๆ มีต่อหน่วยสายลับเดนตาย IMF ครั้นเมื่อถูกนำมาสร้างเป็นหนังโรง แฟนๆ ก็แห่แหนกันไปชมจนหนังประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายกวาดรายได้ไปกว่า 457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้ทุนสร้างไปราว 80 ล้านดอลลาร์
Mission Impossible ภาคแรกกำกับโดย ไบรอัน เดอ พัลม่า คนทำหนังที่เก่งกาจในเรื่องของการจัดวางจังหวะจะโคนหนังได้อย่างพอเหมาะลงตัว ทั้งการออกแบบฉากแอ็กชั่น และการให้น้ำหนักที่สมดุลในการวางตำแหน่งของหนังในฐานะหนังดราม่า แอ็กชั่น (ไบรอัน เดอ พัลม่า ได้รับคำชมว่า ออกแบบฉากแอ็กชั่นระทึกขวัญได้ยอดเยี่ยม จากการแสดงความคาราวะในศาสตร์การตัดต่อแบบ Montage โดยหยิบยืมฉากคลาสสิก ‘The Odessa Step’ ของหนังเรื่อง Battleship Potemkin มาใช้ในหนังของตัวเองเรื่อง The Untouchable ได้อย่างแนบเนียน งดงาม และให้ความรู้สึกเร้าอารมณ์ไม่แพ้ต้นฉบับเลยทีเดียว) หลายๆ ฉากใน Mission Impossible ยังเป็นที่ติดตาตึงใจคอหนังแอ็กชั่นอยู่ไม่รู้หาย ไม่ว่าจะเป็นฉากของอีธาน ฮันต์ ใช้ ลวดสลิงขึงตัวจากเพดานกระโจนลงมายังพื้นด้านล่างเพื่อชิงข้อมูลในแผ่นดิสก์
หลังความสำเร็จในภาคแรก Mission Impossible 2 ในอีก 4 ปีต่อมา ก็สร้างความฮือฮาไม่แพ้กันเมื่อผู้กำกับจอห์น วู จากเอเชีย แสดงศักยภาพการกำกับหนังแอ็กชั่นให้โลกรับรู้ ด้วยฉากเปิดเรื่องที่อีธาน ฮันท์ ป่ายปีนภูเขาสูง ท้าความตายอย่างน่าหวาดเสียว และที่ทำเอาคนดูนั่งลุ้นจนหลังไม่ติดเก้าอี้เห็นจะเป็นฉากต่อสู้กับเหล่าร้าย เมื่อสายลับฮันท์ กระโดดลงจากอานรถมอเตอร์ไซค์ปล่อยให้มันวิ่งไปชนรถฝ่ายตรงข้ามจนระเบิดแหลกราญ แม้หนังจะถูกค่อนขอดว่าด้อยกว่าภาคแรกอย่างไม่น่าให้อภัย
มาในภาคที่สาม ถัดมาอีก 6 ปี พ.ศ. 2549 Mission Impossible 3 ผู้กำกับ J.J. Abrams ก็ผนวกความมันเพิ่มอีกเท่าทวีคูณ เมื่อนำทั้งเครื่องบิน ทั้งจรวด ประเคนเข้าใส่สายลับอีธาน ฮันท์ แบบไม่มียั้ง ผสมผสานเข้ากับเนื้อเรื่องที่ผูกปมซับซ้อนซ่อนเงื่อน จากฝีมือการเขียนบทอันฉกาจฉกรรจ์ ที่พิสูจน์มาแล้วเมื่อครั้งสร้างสรรค์ทีวีซีรีส์เรื่องดังอย่าง “Alias” “Lost” และ “Fringe” ก็ทำให้หนัง “Mission Impossible 3” ได้รับคำชมไม่น้อยหน้าไปกว่าภาคแรกเลยทีเดียว
และเมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการลับ IMF ก็กลับมาอีกครั้ง ในภาคที่ 4 ด้วยชื่อ “Mission: Impossible-Ghost Protocol” ที่ครั้งนี้นอกจากเหลือทีมนักแสดงชุดเดิมไม่กี่คน มีแค่ ทอม ครูซ ตั้งแต่ภาคแรก, ไซม่อน เพ็กก์ จากภาคที่แล้ว และวิง แรมส์ ดารารับเชิญตลอดทุกภาคแล้ว การได้ผู้กำกับ แบรด เบิร์ด ที่ถนัดถนี่แต่กับการทำหนังแอนิเมชั่น มากุมบังเหียนสำคัญ ก็ไม่ได้ทำให้แฟนหนังผิดหวัง เพราะบรรจุความมันอย่างสุดขั้วเอาไว้ไม่แพ้สามภาคก่อนหน้าแต่อย่างใด แม้พล็อตหนังในตอนนี้จะเบาบางที่สุด แต่การระดมฉากแอ็กชั่นใส่ไว้ในหนังทุกๆ สามนาที ก็ทำให้หลายคนมองข้ามข้อบกพร่องดังกล่าว หันมาสนุกกับหนังอย่าง ‘เอาตาย’ ก็ทำให้ ‘Mission 4’ กวาดเงินถล่มทลายไปทั่วโลกเกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ตัวละครสายลับอีธาน ฮันท์ จะยังคงรับบทโดย ทอม ครูซ ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดสี่ภาคที่ผ่านมา แต่การนั่งแท่นผู้อำนวยการสร้างของเขา ทำให้พระเอกหนุ่มคนนี้รู้ว่าจะรักษาศักยภาพของการเป็นหนังแอ็กชั่นทำเงินได้อย่างไร โดยหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนตัวผู้กำกับ เพื่อหาวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลาย การดีไซน์ฉากแอ็กชั่นใหม่ๆ เป็นการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่คอหนัง และที่สำคัญ คือการทำให้หนังสายลับเดนตายชุดนี้ จะยังเป็นที่จดจำของแฟนหนังอยู่ตลอดไป อีกทั้งยังคงรักษาอรรถรสแห่งความสนุกสนานเร้าใจเอาไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่า Mission Impossible 5 ไม่ช้าก็เร็ว ต้องมาถึงอย่างแน่นอน
......................................
(หมายเหตุ Mission: Impossible - Ghost Protocol : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)