บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง : Reign of Assassins

เอกเขนกดูหนัง : Reign of Assassins

17 ส.ค. 2555

Reign of Assassins : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

          หนังจีนกำลังภายในยุครุ่งเรือง น่าจะแบ่งออกได้เป็นสามช่วงเวลาใหญ่ๆ อาจจะเริ่มจากยุคชอว์บราเดอร์ ยุคฉีเคอะ และยุคผู้กำกับรุ่นที่ 5 โดยเฉพาะ จางอี้โหมวและอั้งลี่ ซึ่งการแบ่งแบบนี้อาจจะไม่ได้ตรงกับยุคสมัย หรือห้วงเวลาในประวัติศาสตร์หนังจีนกำลังภายในที่นักวิชาการภาพยนตร์หลายท่านบันทึกเอาไว้นะครับ หากแต่เป็นการแบ่งตามความเข้าใจและรับรู้ของผมเอง
 
          อันดับแรกคือไม่ต้องเสียเวลานับจำนวนหนังจีนสมัยชอว์บราเดอร์เมื่อสี่ห้าสิบปีที่ผ่านมาหรอกนะครับ เพราะช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองที่แต่ละปีมีการสร้างหนังออกมาหลายสิบเรื่อง มีหนังมากมายกลายเป็นตำนานถูกนำมาสร้างใหม่อีกหลายครั้งหรือไม่ก็ถูกจดจำเป็นบันทึกหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นหนังชุด เดชไอ้ด้วน, ไอ้หนุ่มหมัดเมา, หงส์ทองคะนองศึก ฯ จากนั้นราวเกือบ 20 ปีให้หลัง หนังจีนกำลังภายในก็ปรับรูปเปลี่ยนร่าง เน้นเทคนิคการนำเสนอมากกว่าโชว์ศิลปะการต่อสู้โดยมีผู้กำกับฉีเคอะเป็นหัวหอก ที่โด่งดังในยุคนี้เห็นจะได้แก่หนังชุดโปเยโปโลเยที่สร้างต่อกันมาหลายภาค รวมทั้งหนังชุดเดชคัมภีร์เทวดาที่มีแซมมวล ฮุยรับบทนำอีกหลายภาค จากนั้นมาดูเหมือนหนังจีนกำลังภายในจะลดบทบาทลง ก่อนจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 10 กว่าปีมานี้ พร้อมเสียงชื่นชมแซ่ซ้องในฐานะงานศิลปะชั้นเลิศ ที่ให้คุณค่าทั้งปรัชญาแง่คิดและความงดงามทั้งท่วงท่า ลีลาการร่ายรำเพลงกระบี่ โดยเริ่มจากหนังของอั้งลี่เรื่อง Crounching Tiger Hidden Dragon สองปีจากนั้นหนังของจางอี้โหมวเรื่อง Hero ก็ตอกย้ำคุณค่าของศิลปะภาพยนตร์กำลังภายใน ตามด้วย House of Flying Daggers ก่อนจะหยุดกับหนังกำลังภายในด้วยเรื่อง Curse of the Golden Flower และปีเดียวกันนั้นเองเฝิงเสี่ยวกัง ผู้กำกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ก็สร้างชื่อให้ตัวเองพร้อมตามรอยความสำเร็จหนังจีนกำลังภายในด้วยเรื่อง The Banquet ให้เป็นที่จดจำในเวลาต่อมา
 
          หลังจากนั้นดูเหมือนหนังแนวนี้จะขาดช่วงไป แม้มีการสร้างมาอย่างต่อเนื่องก็ดูเหมือนไม่มีความโดดเด่นเป็นที่จดจำอีกแล้วแม้ผู้กำกับรุ่นเก่าจะลุกมาทำเองบ้างอย่างฉีเคอะ แต่ทว่าฝีมือของเขาก็แทบจะสิ้นมนต์ขลังขาดไร้พลังสร้างสรรค์เหมือนเก่าก่อน
 
          เมื่อสองปีที่แล้ว มีผู้กำกับจากเกาะไต้หวันชื่อสู จ้าวปิน ทำหนังจีนกำลังภายในมีชื่อเรื่องว่า “Reign of Assassins” ว่าด้วยการแย่งชิงสังขารของนักพรต ที่มรณภาพเหลือเพียงซากแห้งกรังของเหล่าจอมยุทธ์ที่เชื่อกันว่าหากใครได้ครอบครองจักเป็นเจ้าวรยุทธ์แห่งยุทธภพ หนังเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติที่มาคร่าวๆ ของพระโพธิ นักพรตที่ใครก็ต่างอยากได้สังขารท่านมาไว้เป็นเจ้าของ จากนั้นก็ตัดไปที่การต่อสู้ของเหล่าองครักษ์เสนาบดีที่ปกปักชีวิตเจ้านายและสังขารท่าโพธิ จากเหล่านักฆ่าแห่งองค์กรศิลาดำ ที่เต็มไปด้วยยอดฝีมืออย่างพิรุณ มือสังหารสาวสวยที่มาพร้อมเพลงกระบี่สายน้ำ, นักฆ่ามายากล ที่วิชาการต่อสู้ของเขาเก่งกาจพอๆ กับการสร้างภาพลวงตาด้วยมายากล และภูติมรณะที่เชี่ยวชาญว่องไวในการซัดเข็มพิษเข้าใส่คู่ต่อสู้ รวมไปถึงราชากงล้อหัวหน้าก๊วน ที่ฝีมือการต่อสู้เป็นเลิศ
 
          แม้การต่อสู้ครั้งนี้จะจบลงด้วยความตายของเสนาบดี แต่ก็ไม่มีใครได้ครอบครองสังขารของพระโพธิ มีเพียงพิรุณที่หอบร่างครึ่งหนึ่งหนีหายไป หลบลี้หนีหน้าไปจากยุทธภพ ด้วยการตัดสินใจผ่าตัดแปลงโฉมหน้าหลังฆ่าล้างตระกูลคนที่จะมาเอาชีวิตตน และหลบเร้นไปใช้ชีวิตเพียงลำพังจนกระทั่งพบรักกับเจ้าหนุ่มคนส่งสาร จึงตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่สามีภรรยา แต่เรื่องวุ่นๆ ก็ตามมาหลังไปพัวพันกับโจรร้ายและนักฆ่าองค์กรศิลาดำที่ยังตามหาสังขารพระโพธิอย่างไม่หยุดหย่อน
 
          หนังออกแบบฉากต่อสู้ได้อย่างน่าตื่นเต้น ทั้งยังเสริมความเร้าใจด้วยเทคนิคนานา ตั้งแต่การตัดต่อ งานกำกับภาพ การเคลื่อนไหวกล้องที่เต็มไปด้วยความแปลกตา ที่สำคัญเนื้อหาของหนังไม่เพียงสร้างเรื่องถูกปมได้อย่างชวนให้ติดตามเท่านั้น แต่แก่นแกนของหนังยังผูกโยงเข้ากับแก่นธรรมได้อย่างกลมกลืนน่าชื่นชม
 
          ตราบใดที่เราไม่รู้จักละวาง นั่นนำมาซึ่งการที่เราต้องทนแบกทุกข์แสนหนักอึ้งอยู่ร่ำไป...กิเลส แรงปรารถนา มักจะนำมาซึ่งความทุกข์ไม่รู้จักหยุดหย่อน ภาพของกระบี่สายน้ำที่ตวัดกลับมาทำร้ายฟาดฟันคู่ต่อสู้ ดูเหมือนจะสะท้อนเรื่องของกรรมที่ทั้งส่งผ่าน และสะท้อนกลับ อันเป็นผลจากการกระทำของเราอยู่เสมอไม่ว่ากรรมนั้นจะดีชั่วอย่างไร ที่สำคัญหนังได้วิพากษ์ความโง่เขลาของมนุษย์ที่ต่างถูกครอบงำด้วยตัณหา จนสายตาไม่อาจมองเห็นธรรมได้ หนังช่างกระทบกระทั่งเย้ยหยันได้อย่างสาสมเมื่อตัวละครต่างแย่งชิงสัญลักษณ์หรือตัวแทนแห่งธรรม โดยที่ต่างก็ลุ่มหลงมัวเมา อยากมีอยากได้ โดยไม่รู้เลยว่าการละวางและความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตที่แต่ละคนต้องประสบพบเจอ คำสอนนั้นล้วนเคยอยู่ในอ้อมแขนของพวกเขาแท้ๆ
.......................................
(หมายเหตุ Reign of Assassins : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)