
หมาแก่อันตรายยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า ยิ่งเฒ่า ยิ่งแตกฉาน
หมาแก่อันตรายยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า ยิ่งเฒ่า ยิ่งแตกฉาน : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
การจะพูดถึงหนังสักหนึ่งเรื่องในฐานะนักวิจารณ์ มักจะมีทฤษฎีหรือหลักการที่จะหยิบนำมาเชื่อมโยงหรือใช้เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์อยู่ไม่กี่แนว(ในกรณีนี้ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้น จริงจัง ไม่ใช่แค่การรีวิว หรือแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกส่วนตัวแบบธรรมดาสามัญทั่วไป) และหากจะเอ่ยถึงหนังของผู้กำกับยุทธเลิศ สิปปภาค ทฤษฎีหรือแนวคิด ที่น่าจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์วิจารณ์ น่าจะเป็นทฤษฎี ‘Auteur’ หรือทฤษฎีประพันธกร ที่มองหนังโดยการอ้างอิง ส่องผ่านไปยังคนทำหนัง ในฐานะเจ้าของผลงาน หัวเรือใหญ่ในการบังคับหางเสือให้นาวาภาพยนตร์ลำนั้นๆ ล่องไปในทิศทางที่ต้องการ สังเกตุวิธีคิด มุมมอง ตลอดจนทัศนคติที่ผู้กำกับแสดงออกผ่านผลงานของตนในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา (แต่นั่นหมายความ แก่นแกนหรือธีมของเรื่อง ลักษณะตลอดจนการนำเสนอ ในหนังของผู้กำกับคนนั้น ผู้ชมสามารถสัมผัสหรือรู้สึกร่วมได้อย่างชัดเจน ปรากฏเป็นลายเซ็นหรือแสดงถึงอัตลักษณ์ส่วนตัว ให้เห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ)
ในบรรดาผู้กำกับหนังไทยร่วมสมัย หากจะพิเคราะห์หนังของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ก็น่าจะมองผ่านแว่นขยายที่ชื่อ ‘ทฤษฎีประพันธกร’ เพราะคุณ ‘ต้อม’ ถือเป็นคนทำหนัง มีผลงานออกมาให้ได้ดูกันอย่างต่อเนื่อง และแทบทุกเรื่องจะปรากฎลายเซ็นต์หรือลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่ชัดเจน จนผู้ชมสังเกตุได้ในหนังหลายๆ เรื่อง
มือปืนโลกพระจัน, กุมภาพันธ์, บุปผาราตรี, สายล่อฟ้า, บุปผาราตรีเฟสสอง, กระสือวาเลนไทน์, โกยเถอะเกย์, รักสามเศร้า, อีติ๋มตายแน่, บุปผาราตรี 3.1, บุปผาราตรี 3.2, สามย่าน(ร่วมกำกับ), มือปืนดาวพระเสาร์, บางกอกกังฟู, หมาแก่อันตราย และวงจรปิด (ร่วมกำกับ)
จากหนัง 14 เรื่องในจำนวนทั้งหมด 16 เรื่อง ที่ยุทธเลิศ เปรียบเหมือนแม่ทัพ กรีฑาไพร่พลออกประจันหน้ากับผู้ชม แม้สุดท้ายหลากหลายความรู้สึกที่ประเดประดังเข้ามา ซึ่งมีทั้งด่าทอ นิยมชมชอบ เกลียดชัง กระทั่งหลงใหลคลั่งไคล้กลายเป็นแฟนเดนตายไปเลยก็มี หลายเรื่องที่ผู้กำกับคนนี้มักจะเหน็บชายโครงฝากริ้วรอยเอาไว้ให้ได้คนดูรู้สึกนึกถึงเสมอคือ การพูดถึง‘สังขาร’และการ‘แตกดับ’ ซึ่งน่าสนใจว่า เขาแฝงแนวคิดเชิงธรรมะที่น่าสนใจไม่น้อยแบบนี้ได้อย่างแนบเนียน อย่างไร ที่สำคัญหลายเรื่องแนวคิดเชิงพุทธดังกล่าวยังล้อไปกับพฤติกรรมหรือพล็อตเรื่องที่ล้ำเส้นศีลธรรมไปอย่างหน้าตาเฉย หนังอย่าง มือปืนโลกพระจัน, กุมภาพันธ์, กระสือวาเลนไทน์, โกยเถอะเกย์, รักสามเศร้า ฯ บางช่วงตอนของหนังเหล่านี้ พูดถึงวัฏสงสารอย่างตรงไปตรงมา บางเรื่องถึงขั้นเอ่ยอ้างคำสอนมาตรงๆเลยก็มี แต่ที่เหนือไปกว่านั้น บางเรื่องมีความเชื่อมโยงตั้งแต่โครงสร้างของเนื้อหา, พล็อตเรื่อง, ตัวละคร และแก่นแกน ตลอดจนสาระสำคัญที่คนทำหนังต้องการนำเสนอทั้งอย่างโจ่งแจ้ง ตรงไปตรงมาและฝากผ่านชั้นเชิงด้วยไวยากรณ์ของศาสตร์ภาพยนตร์ ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตุเห็นถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวก็มาจากหนังสามเรื่องนี้ครับ...มือปืนโลกพระจัน, กุมภาพันธ์และหมาแก่ อันตราย (จริงๆ แล้ว มีหนังหลายเรื่องของคุณต้อม ที่ผมไม่มีโอกาสได้ดู ซึ่งอาจพาดพิง เกาะเกี่ยวหรือโยงใยไปถึงกันอีกก็ได้ โดยเฉพาะงานช่วงหลังๆอย่าง บุปผาราตรี 3.1-3.2, สามย่าน, มือปืนดาวพระเสาร์, บางกอกกังฟูและวงจรปิด)
มาดูหนังสามเรื่องที่ว่ากันครับ ทั้ง ‘เป๋ ปืนควาย’ ใน มือปืนโลกพระจัน จะเป็นตัวละครเดียวกันกับ ‘เป้ อูซี่’ ในหมาแก่อันตรายหรือไม่ แต่บทสุดท้ายของคนนอกกฎหมายในหนังที่มีตัวละครหลักเป็นมือปืนทั้งสามเรื่อง รวมถึง กุมภาพันธ์ ล้วนไม่ได้ผิดแผกแตกต่างเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ต่อ ‘สังขาร’ ของ เป๋ ปืนควาย และ เป้ อูซี่ (ซึ่งรับบทโดย เทพ โพธิ์งาม เหมือนกัน) เท่านั้นไม่พอ ผู้กำกับยังหยอกเอินผลงานของตัวเอง ด้วยการนำฉากสำคัญของ “กุมภาพันธ์” ไปใส่ในฉากหนึ่งของ “หมาแก่อันตราย” ซึ่งถือเป็นฉากสำคัญในหนังเช่นกัน เพราะเป็นฉากที่ปลุกสัญชาติญาณนักสู้(นักฆ่า)ของเป้ อูซี่ให้กลับมาอีกครั้ง
การวิพากษ์การเมือง ด้วยการด่านักการเมืองเลวในหนัง หรือวิถีแห่งความสกปรกของนักการเมืองไทยรวมถึงชนชั้นกระฎุมพี ก็เป็นอีกลายเซ็นหนึ่งที่คุณต้อมลงหมึกเน้นหนักจนโดดเด่นมองเห็นชัดเจนในหนังหลายๆ เรื่อง ไม่เพียงแค่สามเรื่องดังที่กล่าวมาเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงหนังอย่าง สายล่อฟ้า, โกยเถอะเกย์, รักสามเศร้า, มือปืนดาวพระเสาร์ ที่ล้วนวิพากษ์คนกลุ่มดังกล่าวอย่างโจ่งแจ้ง (โดยเฉพาะหมาแก่อันตรายนั้น เลยเถิดถึงขั้นนำมาล้อเลียนอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว) ขณะเดียวกัน ยุทธเลิศ พยายามเชื่อมโยง หรือไม่ก็ตอกย้ำสิ่งที่ตัวเองเคยพูดไว้ ด้วยการนำตัวละครในเรื่องหนึ่ง มารับบทในสถานะที่ใกล้เคียงกับเรื่องที่แล้วมาไว้ในหนังอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างเช่นนำนักแสดง‘แซน’ พนมกร ตังทัตสวัสดิ์ ที่เคยรับบทหัวหน้าของตัวละครหญิงคนสำคัญใน รักสามเศร้า มารับบทเป็นนายตำรวจรุ่นพี่ของ ‘ดาว’ ตัวละครสำคัญอีกคนในหมาแก่อันตราย ซึ่งลูกเล่นในการสลับตัวละครแบบนี้แหละ ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจในตัวละครขึ้นมาทันที โดยที่ผู้กำกับไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างเงื่อนไขหรือปูพื้นใดๆ ให้กับตัวละครตัวนั้นแม้แต่น้อย (ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นเฉพาะกับแฟนหนังที่ติดตามผลงานของยุทธเลิศมาโดยตลอด)
ว่าที่ ส.ส.ตงเม้ง, เสธ.จั่น, เสธ.ดำ, พี่แอ๊ด’บาว, หรือกระทั่งวงแร็พเปอร์ขวัญใจวัยรุ่นอย่างบุดดาเบลส เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเซเลบริตี้ ที่ยุทธเลิศ มักจะนำมาหยอกเอินในหนังหมาแก่อันตราย โดยก่อนหน้านี้ก็มีเซเลบริตี้บางคนที่ ‘คุณต้อม’ ตั้งใจจะเหน็บแนม จิกกัด ด้วยเหตุผลจากความคลางแคลงใจส่วนตัวก็ตาม (โดยเฉพาะในหนังอย่าง บุปผาราตรีภาคแรก และสายล่อฟ้า) แต่สิ่งที่ไม่เคยขาดหายไปในหนังแทบทุกเรื่องคือ ‘อารมณ์ขัน’ ที่ปรากฏอยู่เรี่ยร่ายรายทาง เป็นมุกที่โดนบ้างไม่โดนบ้าง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับสุดท้าย ‘สาร’ ที่ผู้กำกับคนนี้ต้องการบอกเรา เดินทางไปสู่จุดหมายที่เขาต้องการหรือปล่าว?
ประสบการณ์ ความเข้าใจในโลกและชีวิต รวมถึงสัจธรรม ย่อมมาจากการเรียนรู้และตระหนักรู้จากการใช้ชีวิตและการทำงานที่แสดงออกผ่านผลงานที่ทำ แน่นอนว่ารวมถึงหนังทั้ง 16 เรื่อง ของคนทำหนังที่ชื่อ ยุทธเลิศ สิปปภาค ด้วยเช่นกัน
.......................................
(หมายเหตุ หมาแก่อันตรายยิ่งแก่ ยิ่งเก๋า ยิ่งเฒ่า ยิ่งแตกฉาน : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)