บันเทิง

 ใครขี่Bikeใครปั่นจักรยาน

ใครขี่Bikeใครปั่นจักรยาน

25 ก.ย. 2555

ใครขี่Bikeใครปั่นจักรยาน : คอลัมน์ Eat Play Life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

          ภาพของ “หญิงชรา” คนหนึ่ง ที่พยายามจะ “ถีบ” จักรยาน ฝ่า “ห่าฝน” ในกรุงโคเปนเฮเก้น เมื่อตอนที่ผมไปดูงาน “หมู่บ้านจักรยาน” ที่เดนมาร์กไม่นานมานี้

          ทำให้นึกถึง “ใครสักคน”(หรืออาจจะหลายคน)ในสังคมไทย ที่จู่ๆ ก็ชูภาพลักษณ์ตัวเอง กับ “จักรยาน” ในเชิงไลฟ์สไตล์และแนวคิด ลงในหน้าที่การงานเพื่อ “ออกสื่อ” เป็นข่าวให้สังคมรับรู้

          นึกถึงเพราะ “คนแรก” ที่โคเปนเฮเก้น ทำให้รู้สึกว่าเขาทั้งถีบและใช้มานาน ใช้มันทุกวันเป็นพาหนะคู่กาย สอดรับไปกับนโยบานและแนวคิดของเมืองที่นั่นว่า ใครก็ตามที่ใช้เจ้าสองล้อนี้แทนรถเก๋ง บริษัทหลายแห่งจะพิจารณารับเข้าทำงาน ก่อนคนที่ใช้รถยนต์
  
          ขณะที่ในบ้านเรา ผมต้องขอชมว่า เรามี “คนหลายคน” ที่รักและหลงใหลการขี่จักรยานจริงๆ หมายถึงพอพ้นวัยเด็ก(ที่เคยถีบจักรยานทุกคน)กันมาแล้ว โตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังคงมีสิ่งนี้ อยู่ในชีวิต แต่ยอมรับเถอะว่า “กระแสของจักรยาน” ในวัฒนธรรมนั้น มันไม่ได้อยู่มาอย่าง “ล่องลอย”
 
          เพราะใครบางคนก็ฉลาดพอที่จะ “เล่น” กับ “อารมณ์ความรู้สึก” ของสังคมไทย มีทั้งเล่นเดี่ยวๆ กับเล่นเป็นบริษัทองค์กรใน “เชิงการตลาด” มีการวาง positioning วาง agenda รับใช้ marketing ที่ตัวเองคิดไว้ จนดูราวกับว่า เขาหรือเธอผู้นั้น ช่างหลงรักจักรยานเสียนี่กระไร (เพราะจริงๆ แล้วก็ขับรถ พ่นน้ำมันกันตลอดเวลา และไม่เคยเห็นว่าไปขี่จักรยานที่ไหน)
 
          “จักรยาน” นั้น มีภาพลักษณ์ที่คนขี่ และมีความหมายมากมาย เกาะอยู่ตามวงล้อ, ลูกโซ่, ที่นั่งและแฮนด์ของรถ ในเชิงจิตวิทยา มันมี “เรื่องราว” ให้คนได้รู้สึกถึงอะไร ที่ไร้กรอบ กฎเกณฑ์ และ freedom ไม่กักเก็บ ดูจองจำ กระด้างกระเดื่องแบบรถยนต์
 
          จักรยานจึงเป็นพาหนะที่น่าจะดีที่สุดในโลก ..เบากว่า “รถไฟ”, แม้บินไม่ได้แบบ “เครื่องบิน” ไม่ใหญ่เท่า”เรือ” แต่ก็อิสระกว่า “รถเมล์”
  
          เมื่อมันเป็นอย่างนี้ จึงขึ้นอยู่กับ “คน” ที่เข้าไปหามันด้วยเจตนาของอะไร แน่นอนว่าคนที่รักมัน ใช้มันจริงจัง และชื่นชมมันมีอยู่อย่างน่าสนใจ เป็นไลฟ์สไตล์ของพวกเขา และคนแบบนี้ ผมก็พบว่าในบ้านเรา ก็มีตัวจริงหลายคน ไปพร้อมๆ กับ “ตัวปลอม” ซึ่งชูมันเป็น “สัญญะ” แล้วตลบหลังเก็บเกี่ยวในผลพลอยได้ ทางการตลาด
  
          พาหนะสองล้อชื่อนี้ มีบุญคุณเยอะนะครับ ไหนจะสามารถใช้งานได้หนักหน่วง ยาวนาน มันยังส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ “จริงบ้าง ปลอมบ้าง แท้บ้าง เฟคบ้าง” ให้มนุษย์ได้เลือกใช้ (หนังสือ Damn ยังเคยวิจารณ์ว่า ร้านอาหารหรือช็อปในหลายเมืองใหญ่ ยังถึงขั้นต้องเอามันไปคติดเป็นพรอบประกอบ แต่มันไม่แปลกหรอก เพราะมันใช้เพื่อ message บางอย่างของแบรนด์)
  
          ฉะนั้น คนที่ชอบ “คิดมาก” อย่างผม จึงขอมี “อคติ” ว่า จักรยานในบ้านเรานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงวัฒนธรรม แต่เป็นการตลาดไปในตัว (แบบไม่เนียน) สำหรับบางคน และบางหน่วยงาน ที่อาจจะเคยได้ส่วนแบ่งการทางตลาด เพราะเล่นกับจริตเก่งในเรื่องแบบนี้
 
          เช่นนี้เอง, ในเย็นย่ำที่หนาวเหน็บแห่งโคเปนเฮเก้น ระหว่างที่ผมยืนดูฝรั่งอธิบายถึงชีวิตจักรยานที่นั่น ผมก็พลันเข้าใจว่า ขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง ขี่มันจริงๆด้วยวิญญาณ
 
          แต่ก็มีมนุษย์บางจำพวก ฉวยโอกาส “ปั่นกระแสเอา” จากเจ้าสองล้อนี้
 
          จักรยานจึงมีคนรักมากมาย
 
          ทั้งถีบหนีสายฝน, ขี่จริงจัง และปั่นมัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์
.......................................
(หมายเหตุ ใครขี่Bikeใครปั่นจักรยาน : คอลัมน์ Eat Play Life โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)