บันเทิง

'โซนี่ฯ'เปลี่ยนเป็น'บีอีซี-เทโร'

'โซนี่ฯ'เปลี่ยนเป็น'บีอีซี-เทโร'

07 ต.ค. 2555

'โซนี่ฯ' เปลี่ยนเป็น 'บีอีซี-เทโร' หวังเพื่อการเติบโตที่กว้างไกล

                         เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ของวงการเพลงเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้ การเจริญเติบโตของค่าย "โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์" เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก มาวันนี้ "โซนี่ มิวสิคฯ" ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อเปลี่ยนชื่อค่ายเป็น "บีอีซี เทโร มิวสิค" การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ "โซนี่ฯ" ถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของช่อง 3 อย่าง "บีอีซีฯ" เทคโอเวอร์ หรือ ฮุบรวมกิจการแต่อย่างใด เพราะอย่างที่รู้กันว่าค่าย "โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์" เป็นค่ายเพลงย่อยมาจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่อเมริกา แต่การเปลี่ยนครั้งนี้เกิดขึ้นจากที่ค่าย "บีอีซี" ต้องการที่จะขยายมีเดียของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับทางโซนี่ที่อยากจะค่ายตลาดของตัวเองไปให้กว้างไกลขึ้น ดังนั้นเมื่อเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน การตกลงเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันของ "โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์" และ "บีอีซี เทโร" จึงมีขึ้น

                         หลายคนตั้งคำถามตามมาอีกว่า การเป็นพันธมิตรกันของสองค่ายนี้ ทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ ทั้งที่ชื่อ "โซนี่ มิวสิคฯ" ก็เป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ "หนึ่ง" ภัทรา บุศราวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท บีอีซี-เทโร มิวสิค ได้เผยว่า โซนี่ มิวสิค มีเครือข่ายอยู่ในเกือบทุกประเทศ แต่การที่ทางโซนี่ฯ ได้ผนึกกำลังกับทาง บีอีซี เทโร เพื่อหวังตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น พม่า ลาว และ กัมพูชา ที่ทางบีอีซีมีตลาดใหญ่อยู่ที่นั่น ทำให้เราได้รับสิทธิต่างๆ ใน 3 ประเทศนี้ โดยที่เราไม่ต้องผ่านทางโซนี่ มิวสิค สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิอยู่ก่อน เพราะถ้าตามระบบแล้ว ประเทศต่างๆ เหล่านี้อยู่ในคอนโทรลที่ทาง โซนี่ มิวสิค สิงคโปร์ ดูแล การที่จะเข้าไปตีตลาดในนาม โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์ จึงไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อมีบีอีซี-เทโรมาเป็นผู้ดูแลในเรื่องของการบริหารสิทธิ์ ทำให้ศิลปินในนาม "บีอีซี-เทโร มิวสิค" หรือ "โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์ เดิม" สามารถเข้าไปขยายตลาดที่นั่นได้

                         "การตกลงทำสัญญากัน ระหว่างโซนี่ มิวสิค และ บีอีซี-เทโร ที่จะมาผนึกกำลังกันในนาม บีอีซี-เทโร มิวสิค เหตุผลจริงๆ มาจากที่เรามองว่าตลาดเพลงในปัจจุบันไม่สามารถโตไม่ได้เยอะ แต่เมื่อเรามีพันธมิตรอย่างบีอีซีฯ มาร่วมด้วยทำให้เราสามารถโตในตลาดเพลงได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากว่าทางบอีซีฯ มีเดียที่มีความแข็งแกร่งและสามารถสนับสนุนการเติบโตของเราได้ แต่ไม่ใช่ว่าต่อจากนี้จะไม่มีโซนี่ฯ ในประเทศไทย โซนี่ฯ ยังอยู่แต่อยู่ในเครือของทางบีอีซีฯ เช่นเดียวกับค่ายเลิฟอีส ทางโซนี่ฯ สำนักงานใหญ่ได้มีการตกลงทำสัญญาที่จะให้ทางบีอีซีฯ เป็นผู้ถือสิทธิการบริหาร โดยมีกำหนดเวลาอย่างน้อย 5 ปี หลายคนที่กลัวเรื่องของปัญหาว่าระบบการทำงานจะเปลี่ยนไปไหม ยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เรื่องของโปรเจกท์ที่มีการตกลงว่าจะทำก็ยังเดินหน้าทำอย่างต่อเนื่องแน่นอน" บอสส์บีอีซี-เทโร มิวสิคแจกแจง

                         อีกเรื่องที่หลายคนยังสงสัย คือเรื่องการศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศที่อยู่ในเครือของโซนี่ฯ จะถูกโยกมาอยู่ในเครือบีอีซี-เทโร มิวสิค หรือไม่ เรื่องนี้ผู้บริหาร "บีอีซี-เทโร มิวสิค" เปิดเผยว่าศิลปินต่างประเทศยังอยู่ภายใต้โซนี่ มิวสิค ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะสัญญาของบีอีซี-เทโร มิวสิค ครอบคลุมเฉพาะ โซนี่ มิวสิค ไทยแลนด์ เท่านั้น ฉะนั้นศิลปินไทยที่เคยสังกัดค่ายโซนี่ฯ จึงถูกโยกมาเป็นศิลปินภายใต้บีอีซี-เทโร มิวสิค