
คิดสวนทาง - อัดสด!!
คอลัมน์วันนี้อยากจะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับการทำงานในห้องบันทึกเสียงแบบที่เรียกว่า "อัดสด" สักครั้งหนึ่ง คำว่า "อัดสด" หมายถึง การบรรเลงดนตรีเพื่อบันทึกเสียงพร้อมกัน ฟังดูเหมือนง่าย แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด
การบันทึกเสียงอาจทำได้สองวิธีใหญ่ๆ ได้แก่ การบันทึกเสียงพร้อมกันทั้งวง ซึ่งเรียกว่า การบันทึกเสียงสด Live Recording วิธีนี้จะได้ความสดของนักดนตรีมากกว่า กับอีกวิธีหนึ่งคือ การบันทึกเสียงทีละแทร็ก ซึ่งเรียกว่า Over-duped Recording สามารถบันทึกเสียงเครื่องดนตรีได้ทีละชิ้นจนครบทั้งวง วิธีนี้จะได้ความแม่นยำและสะดวกในการแก้ไขหากเกิดการผิดพลาดในการเล่นได้ง่ายกว่า แต่การตอบรับกันของนักดนตรีสู้วิธีบันทึกเสียงพร้อมกันไม่ได้ และไม่สามารถใช้กับดนตรีบางประเภท เช่น ดนตรีแจ๊ส ซึ่การตอบรับกันของนักดนตรีเป็นหัวใจสำคัญของดนตรีประเภทนี้
ในช่วงต้นของการมีอาชีพเป็นนักแต่งเพลงของผม ที่บริษัทบัตเตอร์ฟลาย ซาวด์แอนฟิล์ม คือการเป็นนักแต่งเพลงโฆษณา ซึ่งคำว่านักแต่งเพลงในที่นี้ แตกต่างจากนักแต่งเพลงรุ่นก่อนหรือรุ่นครูเพลงเป็นอย่างมาก ต้องแต่งให้ได้ไม่ว่าเพลงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร และความต้องการของลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างต้องสำคัญกว่าความต้องการของตัวเองเสมอ มาเรียนรู้เอาทีหลังว่า ในตำราการแต่งเพลงโฆษณาฝรั่งเขาเรียกว่า Music according to description ก็คือการแต่งเพลงตอบโจทย์นั่นเอง
เมื่อรับงานมาแล้วก็จะแบ่งให้คนแต่งเพลงไปตามความถนัดที่แต่ละคนมีความชอบมีความชำนาญอยู่ เช่น คุณสุรสีห์ อิทธิกุล ชอบดนตรีแนวร็อก ก็มักจะได้งานที่สินค้าเป็นรถยนต์ หรือกางเกงยีน คุณดนู ฮันตระกูล เก่งด้านวงออเคสตราก็จะได้งานเกี่ยวกับธนาคารที่ต้องการภาพลักษณ์ ส่วนผมเป็นประเภทรับจ้างทั่วไป มีอะไรมาก็ทำไป แล้วบังเอิญไปเรียบเรียงเพลงโฆษณาผ้าอนามัยยี่ห้อหนึ่งประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็คือเพลงดังเป็นที่รู้จัก ตั้งแต่นั้นมาผมก็กลายเป็นหัวหน้าแผนกเพลงผ้าอนามัยไปโดยปริยาย
ในปี พ.ศ.2521 หรือตรงกับปี ค.ศ.1978 นั้น ยังไม่มีระบบ Midi (Musical Instrument Digital Interface) พูดง่ายๆ คือ ยังไม่มีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงานให้ การบันทึกเสียงต้องเล่นพร้อมกันอย่างเดียว โดยไปบันทึกเสียงกันที่ห้องบันทึกเสียงกมลสุโกศล ซึ่งมีเครื่องบันทึกเสียงสิบหกแทร็ก นับว่าเป็นห้องบันทึกเสียงที่ทันสมัยและเท่ที่สุดแล้วในสมัยนั้น เวลามีคนมาถามว่า "พรุ่งนี้ว่างไหม" ตอบไปว่า "ไม่ว่าง ต้องเข้าห้องอัดมีคิวอัดเสียง" นี่มันฟังดูเท่จริงๆ
แต่ความเท่นี่อาจจะกลายเป็นเรื่องทำให้เหงื่อตกได้ถ้าคุณไม่ทำการบ้านมาก่อน เช่น ทำเพลงยังไม่เสร็จกะไปลุยในห้องอัด ไม่เตรียมสกอร์แยกพาร์ทให้นักดนตรี ไม่มีการซ้อมมาก่อนเข้าห้องอัด นักดนตรีที่เลือกมาเล่นเป็นเพื่อนรักกัน อยากช่วยเหลือให้เพื่อนได้งาน แต่ความสามารถยังไม่ถึงระดับนักดนตรีในห้องอัดที่เรียกว่า Studio musician ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนย่อมเกิดขึ้นได้ และในขณะที่ปัญหาเกิดขึ้นเวลาก็ไม่ได้หยุดเดิน ซึ่งแต่ละนาทีที่ผ่านไปคือค่าเช่าห้องบันทึกเสียงที่แพงมาก ถ้าชั่วโมงละ 2,000 บาทก็คือนาที ละ 33.33 บาท แค่มัวแต่ทักทายเอิ๊กอ๊ากกันสิบนาทีเงินก็หายไปแล้ว 333.33 บาทโดยไม่ได้เกิดงานอะไรขึ้นมาเลย
ดังนั้นการบันทึกเสียงสดโดยเล่นพร้อมกันมักจะก่อให้เกิดความเครียด เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อประหยัดค่าเช่าห้องบันทึกเสียงให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญคือ เล่นผิดไม่ได้ ถ้าใครคนหนึ่งเล่นผิดก็ต้องเล่นกันใหม่ทั้งหมด และใช้วิธีอัดไว้หลายๆ เทกแล้วเลือกเทกที่ดีที่สุด ช่วงหลังนักดนตรีจึงหันไปใช้วิธีบันทึกเสียงแบบทีละแทร็กกันมากขึ้น เพราะหากมีการผิดพลาดก็สามารถแก้ไขได้สะดวก และด้วยเทค โนโลยีในสมัยปัจจุบัน คอมพิวเตอร์สามารถแก้ปัญหาให้คุณได้มากกว่าการเกิดมหัศจรรย์เสียอีก จนในปัจจุบันเกือบไม่เหลือห้องบันทึกเสียงที่จะมีขนาดใหญ่พอให้เล่นได้พร้อมกันอีกแล้ว จะมีก็แต่ตามมหาวิทยาลัยที่สอนดนตรีเท่านั้น
หลังจากบัตเตอร์ฟลายในยุคแรกแล้ว ผมก็ไม่ได้อัดเสียงสดมานานเกือบสามสิบปี ถึงได้ใส่เครื่องหมายตกใจไว้ที่หัวเรื่อง เพราะตกใจเหมือนกันเมื่อได้รับงานให้ทำดนตรีแจ๊ส ซึ่งแปลว่าต้องใช้วิธีบันทึกเสียงพร้อมกัน แต่งานก็ผ่านมาได้ราบรื่น เพราะทำการบ้าน วางแผนการบันทึกเสียงไว้อย่างดี ทำเดโมให้นักดนตรีล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ เตรียมสกอร์เพลงไว้เรียบร้อย และหัวใจของงานคือการเลือกนักดนตรีที่ดีที่สุดมาร่วมงาน
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ความทรงจำในอดีต เพราะผมยังจำตอนที่เหงื่อของผมแตกพลั่กๆ ทั้งๆ ที่อากาศในห้องบันทึกเสียงนั้นแสนจะเย็นยะเยือกได้ดี
"จิรพรรณ อังศวานนท์"