บันเทิง

'The A-Team'อีกหนึ่งความสำเร็จ

'The A-Team'อีกหนึ่งความสำเร็จ

02 พ.ย. 2555

The A-Team อีกหนึ่งความสำเร็จของหนังรีเมก : คอลัมน์เอกเขนกดูหนัง : ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

                     การออกเดินตามความสำเร็จของทีวีซีรีส์ในธุรกิจหนังฮอลลีวู้ดนั้น โปรเจกท์แต่ละเรื่องต้องผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ วางแผนมารัดกุมอย่างดี ที่สำคัญคือต้องผ่านกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ก่อรูปประกอบร่างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ยกเค้าโครงจากของเดิมในทีวีมาทั้งกระบิโดยไร้การปรุงแต่งใดๆ และหนังอย่าง “The A-Team” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

                    ในเวอร์ชั่นจอเงินเมื่อสองปีก่อน แม้ “The A-Team” จะยังคงคาแรกเตอร์ตัวละครเดิมเอาไว้ทั้งหมด เค้าโครงที่มาอาจจะหยิบยืมบางส่วนมาจากทีวีซีรีส์อยู่บ้าง แต่พล็อตและการออกแบบฉากแอ็กชั่นในหนังนั้น ผ่านการคิดใหม่ ทำใหม่ ขึ้นมาทั้งหมด เป็นการรีเมกที่ ‘ยกเครื่องใหม่’ ไม่ใช่แค่เอาของเก่ามาหากินล้วนๆ

                   ดูเหมือนว่าความสนุกในซีรีส์ทั้ง 98 ตอน ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBC จะถูกอัดรวมไว้ให้ดูใน “The A-Team” ฉบับภาพยนตร์กันแบบเต็มอิ่มเลยทีเดียว ทั้งฉากไล่ล่ากันกลางอากาศ ระเบิดรถ ถล่มตึก ยิงกันชนิดไม่กลัวปลืองกระสุน ฯ แม้ในหลายๆ ฉากจะดูเกินจริงหรือออกการ์ตูนไปบ้างแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความ ‘มันส์’ ในแบบสุดขั้ว (แค่ฉากรถถังลอยกลางอากาศไล่ยิงเครื่องบินก็สะใจแล้ว)

                  ผู้พันฮานนิบาล, หมวดเฟสขี้หลี, ผู้กองเมอร์ด็อคจอมเพี้ยน และสิบตรีบีอาร์สุดปอดแหก แม้หน้าตาคาแรกเตอร์ จะไม่ได้หลุดออกมาจากทีวี แต่ทั้งเลียม นีสัน, แบรดลี่ย์ คูเปอร์, เควนตัน ‘แรมเพจ’ แจ็คสัน และ ชาร์ลโต้ คอปลี่ย์ ก็สร้างบุคคลิค ใหม่ๆ ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวไปอีกแบบ ถึงกระนั้นแต่ละคนยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมบางอย่างจากตัวละครเก่าไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อาทิ ผู้พัน ‘ฮานนิบาล’นักวางแผน ที่ต้องล้วงเอาซิก้าร์ขึ้นมาจุดหลังงานสำเร็จ หมวด ‘เฟส’ ที่ดูหน้าตาและมีนิสัยเจ้าชู้กรุ้มกริ่มอยู่ตลอดเวลา กระทั่งผู้กอง ‘เมอร์ด็อค’ หนุ่มเพี้ยนหน้าตายที่ไม่รู้ว่า ความเก่งกาจในการขับเครื่องบินแท้ที่จริงแล้ว อาจเป็นแค่ความบ้าระห่ำที่กล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครบ้าที่จะทำก็ได้ ขณะที่ ‘บีอาร์’ หนุ่มผิวสีทรงผมโมฮอว์คร่างกำยำบึกบึนที่เวลาขึ้นเครื่องบินเมื่อไหร่จะกลายเป็นเด็กทุกครั้งไป

                 พล็อตที่ว่าด้วยการหักหลังในระหว่างปฏิบัติการลับ ดูเป็นเรื่องเชยไปซะแล้ว สำหรับหนังสายลับ แต่ “The A-Team” ก็ทำให้เรามองข้ามไปได้ ด้วยฉากแอ็กชั่นมากมายที่ประเดประดังใส่เข้ามาแทบจะทุก 5 นาที แม้แต่ 20 นาทีแรกในตอนเปิดเรื่อง กับแค่ซีเควนซ์ของการพาตัวละครทั้ง 4 คนมาเจอกัน หนังก็โชว์ฉากทำลายล้างวินาศสันตะโรไปแบบสาแก่ใจคนดู

                สิ่งที่เหมือนกันใน “The A-Team” ทั้งเวอร์ชั่นทีวีและหนังก็คือ ‘อรรถรส’ ความสนุกสนาน รวมทั้งพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของตัวละครบางคน แม้ทีวีซีรีส์จะลาจอไปนานกว่า 25  ปีแล้วก็ตาม และเรื่องที่เวอร์ชั่นหนังนำกลับมาทำใหม่ จะดูเชยและล้าสมัย ทว่า ‘มุก’ และฉากแอ็กชั่นยังคงอัดแน่น เต็มไปด้วยลูกบ้า และความสนุกสนานเฮฮา รักษาอรรถรสเดียวกับทีวีซีรีส์แทบทุกประการ

               สิ่งที่ทำให้ความสำเร็จของ “The A-Team” ดูห่างไกลจากทีวีซีรีส์แนวเดียวกันอย่าง “Mission Impossible” “Miami Vice” และ “Bay Watch” ก็คืออารมณ์กึ่งๆ การ์ตูน ทั้งการสร้างสถานการณ์ คาแรกเตอร์ตัวละคร ฉากแอ็กชั่น หรืออารมณ์ดราม่าที่ดูจริงจังในบางครั้ง จึงขัดกันกับบางฉากบางโมเม้นท์ ที่ทำออกมาทีเล่นทีจริงในลักษณะการ์ตูน ทั้งๆ ที่อยู่ในตอนเดียวกัน และจถุด่อนตรงนี้ก็มาปรากฏให้เห็นในหนังอยู่บ้างประปราย “The A-Team” จึงไม่ได้เดินไปสุดทางของงานแอ็กชั่นในหนังและซีรีส์เหมือน 2-3 เรื่องข้างต้นที่กล่าวมา ดังนั้นความสำเร็จในระดับหนึ่งของ “The A-Team” จึงไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า จะมีหนังภาคสองตามออกมาหรือไม่ แม้นักแสดงนำทั้งสี่ ไม่ว่าจะ นีสัน, คูเปอร์, คอปลีย์ และ แจ็คสัน ต่างแสดงความสนใจอยากจะกลับมาเล่นในหนังภาคต่อ รวมถึงผู้กำกับ โจ คาร์นาฮาน เองก็ตาม แต่ “The A-Team” ก็ทำรายได้ไม่มากพอที่จะทำให้สตูดิโอเกิดความสนใจอยากทำภาคต่อๆ ไปได้

                เช่นเดียวกัน รายละเอียดทุกอย่างใน “The A-Team” ก็ใกล้เคียงกับความเป็นหนังแอ็กชั่นเกรดบีที่รุ่งเรืองในปลายยุค 70’s - 80’s แม้หนังบู๊ล้างผลาญประเภทระเบิดภูเขาเผากระท่อม จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในหนังชุด “The Expendables” แต่จุดขายของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การจับดารานักบู๊ใหญ่มาขึ้นจอด้วยกันทั้ง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน, บรูซ วิลลิส, ดอฟล์ ลุนด์เกรน, ฌอง คลอดด์ แวมแดม และ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ในขณะที่ดาราใหญ่ในหนัง “The A-Team” มีแค่ เลียม นีสัน กับแบรดลี่ย์ คูเปอร์ (แม้จะมีนักแสดงจากทีวีซีรีส์มาปรากฏตัวเล็กๆ เป็นบทรับเชิญ แต่ใครจะจำพวกเขาเหล่านั้นได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 20 กว่าปี นอกจากเหล่าแฟนเดนตายของเอ-ทีมเอง)

                การกลับมาในสถานะที่เหมาะสมที่สุดของ “The A-Team” ภาคต่อในตอนนี้เท่าที่เป็นไปได้ คือการสร้างลงแผ่นดีวีดีและบลูเรย์ไปเลย โดยไม่ต้องเข้าฉายโรง เพื่อลดความเสี่ยงและเอาอกเอาใจแฟนหนังชุดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งตัวผู้กำกับ คาร์นาฮาน เอง ก็เคยให้สัมภาษณในทำนองนี้ไว้เช่นกัน
บางครั้ง เวลาก็ล่วงเลยเกินกว่าจะรักษาความเป็นตำนานเอาไว้ได้

..........................................
(The A-Team อีกหนึ่งความสำเร็จของหนังรีเมก : คอลัมน์เอกเขนกดูหนัง : ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)