บันเทิง

3สิ่งอย่างของ'ตีสาม'หนังผีที่น่าพอใจของปีนี้

3สิ่งอย่างของ'ตีสาม'หนังผีที่น่าพอใจของปีนี้

23 พ.ย. 2555

3สิ่งอย่างของ'ตีสาม'หนังผีที่น่าพอใจของปีนี้ : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

          นอกจากหนังแอ๊คชั่นแบบ “โทนี่ จา” แล้ว หนังผีแบบไทยๆ คือ “สินค้าที่ขายดี” อีกอย่างสำหรับตลาดหนังต่างประเทศ แถมไซส์ของตลาดหนังตระกูลนี้ มีขนาดใหญ่พอสมควร ไม่ใช่ตลาดนัดแบบแถวบ้าน แต่ออกแนวตลาดมหานาค ไม่ใช่ตลาดละลายทรัพย์แบบสีลม แต่ออกแนวตลาดนัดพิเศษแบบอิมแพ็ค กันทีเดียว

          ความที่หนังผีแบบไทยๆ ยังเป็นที่สนใจ เราจึงจะได้เห็นงานแบบ สี่แพร่ง ห้าแพร่ง ที่ก่อนหน้านั้นก็มีชัตเตอร์ และถ้าคิดแบบนี้ได้ การมาถึงของ “ตีสาม” ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ แถมยังได้รับความน่าพอใจไม่น้อยจากคนดูในรอบสื่อมวลชน
นี่คือข้อสังเกตเกี่ยวกับมุมมอง 3 อย่าง ที่น่าสนใจและอยู่ในหนังเรื่องนี้
..............................
           1.เล่นกับ “พื้นที่”
          โดยปกติ การจำกัด space หรือ “พื้นที่” เอาไว้ในหนังนั้น มีความหมายหลายอย่างซ่อนอยู่ในความตั้งใจนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรมันคือความท้าทายและการสร้างเงื่อนไขเพื่อจัดการกับตัวละคร (เว้นแต่กรณีที่ เป็นเอก รัตนเรือง ทำกับ “ตลก 69” ซึ่งถือเป็นการท้าทายตัวเอง)

          ใน “ตีสาม” หนังก็ไม่ได้พ้นจากกฎตัวนี้ เพราะวิธีการง่ายๆ กึคือการสร้างข้อจำกัดด้านพื้นที่เพื่อให้ตัวละครหนีไปไหนไม่ได้ พอหนีไม่ได้ ฆาตกรก็จะเล่นงานได้ง่ายขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง การมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ก็ทำให้คนดูต้องออกแรง เอาใจช่วยพระเอก นางเอกอีกทาง

          ในเรื่อง “เกศสยอง” พื้นที่ถูกตีกรอบไว้ในบ้านของสองพี่น้องที่เป็นร้านขายวิก และทันทีที่วิญญาณออกอาละวาด การถูกล็อกตายด้วยการหากุญแจไม่เจอ ก็เป็นการจำกัดพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรื่อง

          ใน “เรือนหอฯ” พื้นที่ถูกจำกัดในบ้านหลังนั้น และยิ่งถูกตีกรอบมากขึ้นกับ “โลงศพ” ไม่ต่างกับ “OT” ที่พื้นที่ถูกจำกัดในออฟฟิศที่ทำงาน แบบใช้เงื่อนไขไม่ให้ออกไปในที่กว้างๆ ทั้งสามเรื่องนี้ มีจุดร่วมกันในเรื่องใช้พื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในการพาคนดูไปสู่จุดพีค
 
          2.จุดร่วมคือ ”ความสัมพันธ์ที่มีปัญหา”
          ในข้อสังเกตประการแรกนั้น ผมชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ใช้เหมือนกันคือ การเล่นกับ “พื้นที่” แต่ในเรื่องที่ว่านี้ เป็นงานส่วนของการเล่นกับเทคนิค ข้อจำกัดและกรอบที่กั้นเอาไว้ ขณะที่เมื่อมาถึงข้อที่สอง เราจะเห็นได้ว่า สำหรับเนื้อหาหรือ content นั้น
สิ่งที่เหมือนกัน ละม้ายกัน กลับเป็นความสัมพันธ์ของตัวละคร ที่ล้วนมีปัญหาเหมมือนกัน ไมว่าจะเป็นสองพี่น้องใน “เกศสยอง”, คู่รักและแม้แต่บุรุษพยาบาลที่หลงรักศพ (การรักและมีเซกส์ระหว่างคนกับศพ คือความสัมพันธ์ไม่ปกติอยู่แล้ว) ขณะที่ในตอนสุดท้ายอย่าง OT นั้น

          เราจะเห็นว่า ระหว่างคนต่างรุ่น คือเจ้านายกับลูกน้อง สื่อสารกันไม่รู้เรื่องในหลายประโยค โดยที่การสื่อสารในสัญยะก็ถูกตัดขาด เป็นระยะๆ เช่นการนอนหลับของยาม, การถูกตัดขาดโทรศัพท์ และการสื่อสารที่มีปัญหาที่ถูกแสดงทางอ้อมอย่างหนึ่ง ก็คือ การสร้างเซ็กส์โฟนผ่านโลกของอินเทอร์เน็ต จากพนักงานคนหนึ่งกับคู่ขาในโลกออนไลน์

          ปัญหาที่นำไปสู่เรื่องราวจนบานปลาย จึงไม่ใช่คนหรือพื้นที่ แต่เป็นปัญหาของความสัมพันธ์ที่มีต้นเหตุจากการสื่อสาร ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างคนกับเทคโนโลยี

          แต่ไม่มี ระหว่างคนดูกับหนัง !
 
          3.การเรียงเรื่องที่ถูกต้อง
          จะเรียกว่า Short Films หรือชื่อ Anthology ก็ช่าง แต่หนังสั้นหลายๆ เรื่อง ที่มาอยู่ในชายคาเดียวกัน เรื่องเดียวกัน ก็มักมีจุดตายจุดเกิดอย่างหนึ่งที่การ “เรียงเรื่อง”

          หนังที่เรียงเรื่องได้ดีครั้งหนึ่งก็คือ “สี่แพร่ง” และหนังที่เคยเรียงเรื่องแบบสลับหัวหางก็คือ “บอกเล่าเก้าศพ” ที่ตอนหมาแก่ควรจะอยู่ส่วนหัว ไม่ใช่ท้าย

          การเรียงเรื่องนั้น ต้องคำนวณจากอารมณ์ ความรู้สึกของคนดู และเรียงจากความอ่อนไหวเปราะบางไปหาความหนักแน่นของเรื่อง ที่สำคัญ โดยจริตคนไทยแล้วนั้น การจบด้วยเรื่องที่ทำให้คนดูรู้สึกพีค ปลดปล่อย และออกจากโรงอย่างเบิกบานใจนั้น เป็นเรื่องควรทำ มากกว่าไม่ควรทำ

          ถ้าพิจารณาจาก เกศสยอง มาถึง เรือนหอฯ และ OT นั้น ผมคิดว่าหนังตีสาม เรียงลำดับขั้นตอนต่างๆ ได้ถูกต้องทีเดียว และที่สำคัญ หนังปิดท้ายแม้จะมีลักษณะไปลอกเลียนสไตล์แบบทีเล่นทีจริงและแก้เกี้ยวนั้น จะมีอิทธิพลจากหนังต่างประเทศชัดเจน แต่มันก็เป็นการวางที่ถูกที่ถูกทาง

          “ตีสาม” ไม่ใช่หนังเยี่ยมที่สุดของปีแน่นอน แต่มันเป็นงานที่น่าให้กำลังใจ

          เมื่อดูจากคุณภาพของหนังไทยปี 2012 ที่ออกมาเกือบ 70 เรื่อง

          ทีนี้ก็มาลุ้นว่า คุณภาพที่น่าพอใจแบบ “ตีสาม” นั้น รายรับจะอยู่ตีอะไร ?
.......................................
(หมายเหตุ 3สิ่งอย่างของ'ตีสาม'หนังผีที่น่าพอใจของปีนี้ : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)