ศิลาในน้ำเชี่ยว - หน้าที่ของจิต คือ การรู้อารมณ์
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า สมาธิภาวนา กันมาบ้าง และคงสงสัยว่าคืออะไรกันแน่? คำว่า สมาธิภาวนา คือ การฝึกฝนเพื่อรู้เท่าทันจิตใจตนเอง คำว่า สมาธิ แปลว่า จิตที่มีความตั้งมั่น ลักษณะของ จิต เป็น ธาตุรู้ รู้อารมณ์ เมื่อจิตมีสมาธิ มีความตั้งมั่น ก็หมายถึง มีความตั้
เมื่อเป็นสมาธิก็คือ มีการตั้งมั่นในการรับรู้อารมณ์ทุกอย่าง อารมณ์ดีก็รู้ อารมณ์ไม่ดีก็รู้ ทุกอารมณ์ที่เราได้รับมา เสียงเพราะไม่เพราะ รูปสวยไม่สวย ความคิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง รับรู้ว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แต่ถ้ารับรู้แล้วจิตไม่มีสมาธิ มันก็หลงอารมณ์ ไหลไปตามอารมณ์ ไปเกาะตรงนั้นเกาะตรงนี้ บางคนแค่จะทำกรรมฐานทีก็ไปเกาะอยู่กับความสงสัย งงไปงงมา บางคนดูลมหายใจก็ไปเกาะอยู่กับลมหายใจ บางคนดูท้องก็ไปเกาะอยู่กับท้อง ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า จิตไม่เป็นสมาธิ ไม่มีความตั้งมั่นในหน้าที่ของมัน
สมาธิที่แท้จริงนั้น หมายถึง การตั้งมั่นในการรับรู้อารมณ์ อารมณ์ ก็คือ สิ่งที่จิตไปรับรู้ ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตก็ไม่เกิด ถ้าจิตเกิดก็แสดงว่าต้องมีอารมณ์ ถ้าจิตว่างๆ ว่างก็เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าไม่ว่างก็เป็นอารมณ์ของจิตเหมือนกัน ความฟุ้งซ่านที่เกิดนั้นไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เท่านั้น ความฟุ้งซ่านก็เป็นอารมณ์ ความสงบก็เหมือนกัน ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรับรู้ เป็นอารมณ์ของจิต
จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นตัวรู้อารมณ์ ยืนพื้นอยู่อย่างนี้ตลอด ถ้าจิตรู้อารมณ์อย่างตั้งมั่นอย่างนี้ เรียกว่า มีสมาธิ ถ้าจิตมีสมาธิ ดูกายดูใจไปตามความเป็นจริง ก็จะเกิดปัญญาเห็นความจริง
การฝึกปฏิบัติภาวนานี้ เราฝึกก็เพื่อให้รู้เท่าทันจิตใจตนเอง เพื่อให้จิตมันเป็นสมาธิ ถ้าเป็นการฝึกภายนอกก็ฝึกให้รู้ทันโลก ทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ใครหลอกไม่ได้ แต่ถ้าเป็น การภาวนา ปฏิบัติธรรม จะเป็นการฝึกให้รู้เท่าทันจิตใจตนเอง อารมณ์จะหลอกเราไม่ได้ เมื่อรู้เท่าทันจิตใจตนเอง อารมณ์ต่างๆ ที่เราไปรับรู้มันก็หลอกเราไม่ได้ ที่เราไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ วุ่นวาย ก็เพราะอารมณ์มันหลอกเราได้ บางทีแฟนทิ้งก็เศร้า แค่รับรู้ขึ้นมา จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ เราก็เศร้าแล้ว อย่างนี้เรียกว่าใจไม่มีสมาธิ อารมณ์ต่างๆ ก็หลอกจิตได้ ทั้งๆ ที่จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้เท่านั้นเอง
เราทั้งหลายโดยส่วนใหญ่ ใจไม่เป็นสมาธิ แค่กาย ลิ้น หู จมูก หลงไปสัมผัสก็หลงยินดี ยินร้าย แม้แต่ทางใจก็คิดขึ้นมาเอง พอคิดดีขึ้นมาก็บอกดีจังเลยอยากจะคิดอีก พอคิดไม่ดีขึ้นมาก็ตัดสินมันอีก ไม่น่าคิดอย่างนี้เลยเรา ทั้งๆ ที่ความคิดที่เราคิดขึ้นนี้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน เขาเรียกว่าเป็นอารมณ์ของจิต คิดดีจิตก็รู้ คิดไม่ดีจิตก็รู้เหมือนกัน ถ้าเรารับรู้ตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป เปลี่ยนไปมาเรื่อยๆ อยู่อย่างนั้น
เมื่อเรารู้ไม่ทัน ก็หลงไปทำสิ่งไม่ดีต่างๆ แต่ถ้ารู้ทันมันก็ไม่ทำ ส่วนการจะมีสมาธิก็มีได้โดยที่เราต้องมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัว รู้เท่าทันจิตใจของตนเอง รู้ว่ามีกิเลส มีโลภ มีหลง คิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง ก็ให้รู้มัน อย่าไปทำว่าไม่มี บางคนทำท่าว่าไม่มีกิเลส ทำท่าเป็นคนคิดดี มันก็เหมือนเราทำท่าเป็นไม่เห็นงู ให้เห็นมันก่อนดีกว่า เราจะได้หลบเลี่ยงมันได้ แต่ถ้าเราไม่เห็นหรือทำท่าเป็นมองไม่เห็น มันก็ละกิเลสไม่ได้ เราทั้งหลายส่วนใหญ่มีกิเลสเยอะ แต่ทำท่าเป็นไม่มีกิเลส จริงๆ แล้วเราต้องรู้ว่ามีกิเลส
ฝึกให้รู้ตัวบ่อยๆ เข้าไว้ ให้รู้ว่ามันคิด นึก รู้สึกอย่างไร รัก โลภ โกรธ หลง ฝึกให้เยอะๆ เมื่อรู้เท่าทันเจตนาในใจตนเอง เห็นว่าเจตนาแบบนี้มันไม่ดี มันเดือดร้อน เร่าร้อน ทำแล้วไม่สบายใจ ใจมันเหนื่อยก็เพราะใจไม่มีศีล เมื่อใจไม่มีศีล เรื่องจะเกิดสมาธิไม่มีทางเลย เพราะใจมันขาดศีลมันก็เหนื่อย สิ่งที่เป็นโทษต่างๆ ก็ทำให้หมดพลัง ส่วนสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใจที่มีศีล สมาธิดี มีสติสัมปชัญญะดี จะไม่เหนื่อย กายเหนื่อยแต่ใจไม่เหนื่อย ถ้าเราฝึกปฏิบัติกันได้ก็จะเห็นทางแห่งความสุขอยู่ไม่ไกลเลย
"ดนัย จันทร์เจ้าฉาย"
ข้อมูล
จากธรรมบรรยายโดย อ. สุภีร์ ทุมทอง ชมรมคนรู้ใจ ณ หอประชุมพุทธคยา สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
www.dmgbooks.com <http://www.dmgbooks.com> โทรฯ 0-2685-2254