บันเทิง

มองผ่านเลนส์คม : 'วัชรพล'รุ่นที่3

มองผ่านเลนส์คม : 'วัชรพล'รุ่นที่3

16 ม.ค. 2556

'วัชรพล'รุ่นที่3 : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... บรรณวัชร

          เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว สื่ออังกฤษเคยยกย่องว่า "กำพลคือไทยรัฐ ไทยรัฐคือกำพล" แม้ว่าวันนี้จะไม่มี "ป๊ะกำพล" แต่ทายาทรุ่น 2 ก็ยังสืบต่อตำนานหนังสือพิมพ์หัวสีที่ขายดีที่สุดในเมืองไทย จากยุค "ข่าวภาพรายสัปดาห์" สู่ "เสียงอ่างทอง" จนถึงปี 2505 "ไทยรัฐ" จึงกำเนิดขึ้นมาในบรรณพิภพ
 
          กำพล วัชรพล เป็นผู้บุกเบิกในการนำหนังสือพิมพ์ออกไปถึงมือผู้อ่านด้วยความรวดเร็ว แทนที่จะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับธุรกิจ "รวมห่อ" ที่ส่งหนังสือพิมพ์ไปถึงผู้อ่านตามมีตามเกิด ด้วยการสร้างทีม "ม้าด่วน" รถส่งหนังสือพิมพ์ขึ้นมาในเวลาที่คู่แข่งยังพึ่งพาระบบเก่าอยู่
 
          มาถึง พ.ศ.นี้ ไทยรัฐในรุ่นที่ 2 ภายใต้การนำ "ยิ่งลักษณ์ วัชรพล-สราวุธ วัชรพล" กำลังก้าวสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อ กสทช. มีแผนที่จะเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลในช่วงเดือนเมษายน 2556 ไทยรัฐก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลด้วย ไม่เกี่ยวกับ "วิชัย ทองแตง"
 
          แผนงานทีวีดิจิตอลของไทยรัฐ จะอยู่ในมือของ "รุ่นที่ 3" คือ "จูเนียร์-วัชร วัชรพล" ลูกชายยิ่งลักษณ์ วัชรพล ในฐานะผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด และเป็นผู้ดูแลธุรกิจใหม่ New Media ของไทยรัฐ
 
          ว่ากันว่า ต้นคิดที่ทำให้สื่อเก่าต้องตื่นตัวลุกขึ้นมาทำสื่อใหม่ ทั้งอินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี และดิจิทีวี คือ "ยิ่งลักษณ์" ในฐานะผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มารดาของจูเนียร์นั่นเอง
 
          "จูเนียร์" ยังมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท เคเบิล  ไทย โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ที่กลุ่มไทยรัฐร่วมลงขันทำธุรกิจกับ วิชัย ทองแตง ในสัดส่วน 25%
  
          แต่จูเนียร์แจกแจงการทำงานว่า ตนกับไทยรัฐซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือการที่มารดา(ยิ่งลักษณ์) มาร่วมเป็นพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนกับทางซีทีเอช
  
          จะอย่างไรก็ตาม ในวันที่ธนาคารกรุงเทพ ปล่อยกู้ 1.4 หมื่นล้านบาทให้ซีทีเอช ผู้ใหญ่แบงก์ตราดอกบัวยังอ้างถึงสัมพันธภาพอันแนบแน่นยาวนานระหว่าง "กำพล วัชรพล" กับผู้บริหารแบงก์รุ่นก่อน
  
          เงินกู้ก้อนโตก้อนนี้ ซีทีเอชจะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจด้านโครงข่ายที่จะมีการปรับเป็นระบบไฟเบอร์ออฟติคใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งทางซีทีเอชตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 ปี (2555-2558) จะต้องมีกลุ่มผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านคน
  
          ปี 2556 ซีทีเอชตั้งใจไว้ว่า จะให้ธุรกิจเคเบิลทีวี 120 ช่อง ขยายฐานในต่างประเทศ ทั้งลาว กัมพูชา พม่า รวมถึงมาเลเซีย ที่เล็งร่วมมือพันธมิตรท้องถิ่น หวังสร้างเป็น "อาเซียนเน็ตเวิร์ก"
  
          จึงแว่วยินข่าวจากค่ายวิภาวดีว่า ไทยรัฐมีแผนการจะทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน ในอนาคตอันใกล้นี้
  
          สำหรับประเด็นไทยรัฐ จะทำทีวีช่องหนึ่ง โดยเบื้องต้นมีข่าวว่าจะทำ "ช่องบันเทิง" เพราะปัจจุบัน "สะใภ้ไทยรัฐ" ก็ทำบริษัทโพลีพลัส มีทั้งรายการวาไรตี้บันเทิง และละคร แต่หลานป๊ะกำพลแย้มข่าวนี้กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ของปี 2556 จะเห็น "ช่องข่าวเศรษฐกิจ" จำนวน 1 ช่อง
  
          "ผมเองมีโมเดลทุกอย่างหมดแล้ว เรามีคอนเทนต์อยู่แล้วคือจากหนังสือพิมพ์ ส่วนช่องข่าวบันเทิงเราเองไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้จึงยังไม่มีแผนจะทำ แต่ถ้าจะทำ จะต้องหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งมาร่วมแบบนี้ถึงน่าทำ ไม่เสี่ยง"
  
          น่าคิดว่าไทยรัฐ ไม่ถนัดในเรื่องบันเทิง จึงไม่เสี่ยง..มันเป็นความจริงเช่นนั้นหรือ?
.......................................
(หมายเหตุ 'วัชรพล'รุ่นที่3 : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... บรรณวัชร)