บันเทิง

จันดารา(ปัจฉิมบท):บทสรุปของกรรม

จันดารา(ปัจฉิมบท):บทสรุปของกรรม

08 ก.พ. 2556

จันดารา(ปัจฉิมบท):บทสรุปของกรรม : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง

          หลังจากทิ้งความประทับใจเมื่อปีพ.ศ.2555 สำหรับจันดารา ปฐมบท มาปีนี้หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้กลับมาปิดฉากโศกนาฏกรรมชีวิตจัญไรของจันดาราอย่างน่าสังเวชหดหู่ หลังจากเกิดเรื่องร้ายในบ้านพิจิตรวานิชจนทำให้จัน ดารา (มาริโอ้ เมาเร่อ) และบ่าวคู่หูผู้รู้ใจ เคน กระทิงทอง (ชัยพล พูพาร์ต)  ไปอยู่ที่พิจิตรกับท้าวพิจิตรรักษา(รัดเกล้า อามระดิษ) ผู้เป็นยาย ชีวิตของจันก็เหมือนจะไปด้วยดี  หัวใจของหนุ่มน้อยหล่อเลี้ยงด้วยจดหมายรักจากสาวผู้เป็นรักครั้งแรก ไฮซินธ์ (สาวิกา ไชยเดช) หญิงผู้ปรารถนาดีและเป็นกำลังใจให้กับจันมาตลอด แล้วความร่มรื่นในใจได้ถูกแปรเปลี่ยนเมื่อน้าวาดมาเยี่ยมถึงพิจิตรพร้อมข่าวการแต่งงานบังหน้าที่จะมีขึ้นของจันกับแก้ว (โช นิชิโนะ) โดยมีทรัพย์สมบัติและการแก้แค้นวางเป็นเดิมพัน  เมื่อจันได้เข้ามาครอบครองบ้านของตระกูลพิจิตรวานิช และตัวของคุณบุญเลื่อง (รฐา โพธิ์งาม) หญิงคราวแม่ที่เขาปักใจในรสเสน่ห์ จันนั้นอ่อนแอเกินไปจนทำให้ความแค้น ความลุ่มหลง กิเลส ตัณหา ราคะ และกามรมณ์เข้าครอบงำร่างกายและจิตใจ ชัยชนะที่แลกด้วยน้ำตาทั้งของผู้แพ้และผู้ชนะดูเหมือนจะไม่คุ้มค่าในผลของมัน  จันต้องสูญเสียทุกๆ อย่างในชีวิตไป รวมถึงคนรอบข้างที่เขารักด้วยเช่นกัน
 
          หม่อมน้อยยังคงใช้การเล่าเรื่องชีวิตของจันผ่านการเมืองไทยในยุคต่างๆ เช่นเคย  เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิต สังคมและการเมืองดูจะเป็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ส่องสะท้อนกันเสมอ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจในชีวิตคนด้วยเช่นกัน
            
          ในปีพ.ศ. 2475 ถือเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองครั้งใหญ่ของไทยจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ชีวิตจันเองก็เปลี่ยนตรงนี้  จากการถูกกดขี่ขาดซึ่งเสรีในบ้านพิจิตรวานิช เปลี่ยนไปสู่การเดินทางสู่เมืองพิจิตรกับชีวิตที่มีความอิสระเสรี  ส่วนในปีพ.ศ. 2478 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่7 ทรงสละราชสมบัติ  การเปลี่ยนแปลงในบ้านพิจิตรวานิชนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนอำนาจการปกครองบ้านด้วยเช่นกัน คุณหลวงต้องยอมสละทรัพย์สมบัติ ศักดิ์ศรีของตัวเองและอำนาจเพื่อรักษาส่วนที่สำคัญกว่าเอาไว้ให้ได้ จันเองก็ต้องสูญเสียไฮซินธ์คนรักของเขาไปด้วยเช่นกัน และในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นรุกรานไทยใช้ประเทศเป็นเส้นทางผ่านทัพ  ประเทศชาติถูกรุกรานเกิดเรื่องร้ายขึ้นมากมาย การเมืองภายในได้ถูกผูกโยงเข้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างซับซ้อน  สงครามการต่อสู้ก็คงไม่ได้ต่างอะไรกับสงครามชีวิต ความแตกแยกไม่เคยทำให้ใครได้รับผลดีเลย  นอกจากทิ้งบาดแผลและร่องรอยความเจ็บช้ำ  เมื่อสงครามรบผ่านไปก็จะทิ้งไว้แต่การสูญเสีย สงครามชีวิตเมื่อจบลงก็จะทิ้งความเจ็บปวดในใจไว้เสมอ  ผมได้ยินจันร้องบอกว่า “ฉันเกลียดสงคราม” เสมือนเขาได้รับรู้แล้วว่าการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางทั้งสองสงครามนั้นมันทุกข์ระทมเพียงไร
                 
          ถ้าเราใช้สมมุติฐานแบบชาวพุทธเป็นเครื่องมือชี้วัดแล้ว “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง” คงจะเป็นบทสรุปที่ดีของภาพยนตร์เรื่องนี้  แต่จะมีประโยชน์อันใดเล่าหากผลแห่งกรรมเหล่านั้นทำให้เราต้องอยู่คนเดียวและเตรียมจากโลกใบนี้ไปอย่างโดดเดี่ยว  หากเราตระหนักรู้และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจัน เราจะพบว่าเมื่อเราเกิดมาเราก็มาคนเดียว จงอย่ากลัวที่จะต้องจากไปเพียงลำพัง ขอให้คิดไว้เสมอว่า “เราได้ทิ้งอะไรไว้บนโลกบ้าง...เมื่อเราจากมา”
.......................................
(หมายเหตุ  จันดารา(ปัจฉิมบท):บทสรุปของกรรม : คอลัมน์ มองผ่านเลนส์คม โดย... องอาจ สิงห์ลำพอง)