
'The Fast and The Furious : Tokyo Drift'
'The Fast and The Furious : Tokyo Drift' : คอลัมน์ เอกขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ในบรรดาหนังแข่งรถชุด “Fast&Furious” ดูเหมือนภาคที่สามในชื่อ “The Fast and The Furious: Tokyo Drift” จะเป็นภาคที่ประสบความสำเร็จน้อยที่สุดและทำเงินได้น้อยที่สุด
จะว่าไปแล้วหนังรถซิ่งชุดนี้ไม่น่าจะถูกสร้างติดต่อกันมาได้ถึง 6 ภาค เพราะหากมองย้อนกลับไป 3 ภาคแรก ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ที่ได้รับล้วนลดน้อยถอยลงผกผันตามจำนวนภาคที่สร้างขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาค 3 ที่ใช้นักแสดงใหม่และไม่มีทั้งตัวละครหลักจากสองภาคแรกมาร่วมแสดง (มีวินซ์ ดีเซล โผล่มาสั้นๆตอนท้ายเรื่องเท่านั้น) แถมยังมีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับเป็นจัสติน ลิน (และจากภาคสามเป็นต้นมา ลินก็รับหน้าที่กำกับหนังชุดนี้มาตลอด)
แม้ภาค Tokyo Drift ของหนังชุด Fast&Furious จะถูกมองว่าล้มเหลวที่สุดในบรรดา 6 ภาค (แต่บ้านเรากลับได้รับความนิยมถล่มทลาย) แต่ถ้ามองในแง่ของคุณค่าหรือศิลปะทางภาพยนตร์ (ซึ่งอาจมีไม่มากนัก) Tokyo Drift ภาคนี้ถือว่าทำได้ใกล้เคียงที่สุด ตอบโจทย์ของการประลองความเร็วบนท้องถนน พัฒนาและนำจุดเด่นดังกล่าวมารับใช้เนื้อหาได้อย่างเหมาะสมลงตัวที่สุด
ในเมื่อพูดถึงเทคนิคการขับรถแบบดริฟท์ติ้ง Fast&Furious ภาคนี้จึงเดินทางเข้าไปในดินแดนที่ถือเป็นต้นกำเนิดของการแข่งรถด้วยเทคนิคแบบนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะไม่ได้บุกขึ้นภูเขาและเล่าแค่เรื่องการขับรถแข่งกันของเด็กวัยรุ่นในกรุงโตเกียว แต่ก็เน้นเทคนิคการขับรถแบบ Drifting และใช้มันเป็นนวัตกรรมสำคัญในหนังตลอดทั้งเรื่อง
นอกจากการเล่นกับเทคนิคการขับรถมากกว่าพล็อตไล่ล่า ไล่จับโจร แล้ว ด้านเนื้อหา Tokyo Drift ยังพยายามฉีกแนวออกไปจากสองภาคแรกที่ว่าด้วยพล็อตตำรวจแอบแฝงตัวมาในกลุ่มพ่อค้ายาเหมือนในสองภาคแรก ด้วยการหันไปเล่าถึงการประลองความเร็วบนท้องถนนของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกชักโยงโดยแก๊งอิทธิพลในญี่ปุ่น ตัวหนังไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเด็กหนุ่มอเมริกันบ้านแตก ต้องจากแม่ไปอยู่กับพ่อในแดนปลาดิบ เจอกลุ่มนักเรียนอันธพาล และสุดท้ายก็ท้าพนันกันด้วยการแข่งรถ โดยเริ่มจากลานจอดรถแคบๆ ในโรงเรียน ซึ่งเอื้อต่อการขับขี่โดยใช้เทคนิคดริฟท์ติ้ง แรกๆเจ้าหนุ่มอเมริกันนายนี้ก็ไม่ประสา แต่เพื่อการเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ และคนรัก เพื่อเอาชนะคำสบประมาท สุดท้ายเจ้าหนุ่มรายนี้ก็ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญและช่ำชอง ก่อนจะตัดสินใจลงสนามใหญ่ (ไม่ใช่สนามแข่ง หากแต่เป็นถนนหนทางในกรุงโตเกียวแทน) พร้อมเดิมพันก้อนโต
จะว่าไป Fast and Furious ภาคนี้ ถือว่าใช้ศาสตร์ของการขับแข่งรถมารับใช้เนื้อหาในหนังมากที่สุดกว่าทุกภาคก็ว่าได้ เผลอๆ การขับรถแบบนี้ต้องใช้สมาธิ ความละเมียดละไม เข้าใกล้ความเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว (หากอยากรู้ว่าดริฟท์ติ้ง เป็นศิลปะอย่างไร หาอ่านได้จากการ์ตูนมังงะ เรื่อง Initial D หรือไม่ก็หนังชื่อเดียวกันที่นำแสดงโดย เจย์ โจว และมีแอนดรูว์ เลา รับหน้าที่กำกับ)
หากแฟนหนังที่ติดตาม Fast and Furious มาทุกภาคจะพบว่าพล็อตทั้ง 6 ภาคจะคล้ายคลึงใกล้เคียงกัน คือ ถ้าไม่ซิ่งรถปล้นแบงก์ ขโมยเงินเจ้าพ่อ ก็ห้อรถหนีตำรวจ นอกจากฉากขับรถโชว์ความเร็วแล้ว ยังมีฉากแอ็กชั่นล้างผลาญประเภทยิงถล่มกันหูดับตับไหม้แทรกมาเป็นของแถม แต่สำหรับภาค Tokyo Drift นั้น เป็นเพียงเรื่องเดียวที่มีเนื้อหาแตกต่างออกไป ซึ่งว่าด้วยการขับรถแข่งกันล้วนๆ โชว์เทคนิคดริฟท์ติ้ง โดยไม่ต้องเสียเวลาให้กับฉากวินาศสันตะโรอื่นๆ แต่อย่างใด และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้สร้างเลือกจัสติน ลิน ให้มารับหน้าที่กำกับตลอด 4 ภาคที่ผ่านมานับจากนั้น
ภาค Tokyo Drift เกือบจะตัดสินชะตาของหนังชุด Fast and Furious จบลงแค่ภาคที่สามเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกไปว่าหนังในภาคนี้ทำรายได้ไม่เป็นที่น่าพอใจของผู้สร้าง รายได้ในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าขาดทุนด้วยซ้ำไป อานิสงส์ของการมีภาคต่ออยู่ที่การตัดสินใจมาปรากฏตัวในฉากสุดท้ายของวินซ์ ดีเซล นักแสดงนำในสองภาคแรกนั่นเอง
.......................................
(หมายเหตุ 'The Fast and The Furious : Tokyo Drift' : คอลัมน์ เอกขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม )