
คิดถึงครูเพลง'กานท์ การุณวงศ์'
คิดถึงครูเพลง'กานท์ การุณวงศ์' : คอลัมน์เป็นคุ้งเป็นแคว : โดย...เคน สองแคว
วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสายฝนพรำ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ นายบารมี ก. การุณวงศ์ หรือ ครูกานท์ การุณวงศ์ อดีตนักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม
ครูกานท์ เสียชีวิตด้วยโรคไตวาย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556 รวมอายุได้ 80 ปี เป็นเพลงเจ้าของบทเพลงอมตะมากมาย อาทิ เพลงที่ได้รับรางวัล รางวัลแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง “แสบหัวใจ” และ “ปืนบ่มีลูก” ในปี 2514 และได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย จากผลงานเพลง “บ่เป็นหยังดอก” “รู้ว่าเขาหลอก”โดยผลงานของครูนั้นมีประมาณกว่า 300 เพลง
อีกเพลงหนึ่งของครู ที่กลายเป็นเพลงอมตะที่คนร้องคาราโอเกะชื่นชอบกันนัก ก็คือ “รักเก่าที่บ้านเกิด”ที่สุริยา ชินพันธุ์ ขับร้องก่อน และเอกชัย ศรีวิชัย นำมาร้องซ้ำจนโด่งดัง
ผลงานเพลงของครูกานท์ ที่ผมจำได้ตั้งแต่วัยเด็ก คือ “รักกับพี่ดีแน่” ที่ขึ้นต้นว่า “นาดีๆ ควรใช้ข้าวปลูกพันธุ์ดี ...” ขับร้องโดย ดำ แดนสุพรรณ ตอนเด็กๆ ไม่ได้ลึกซึ้งกับเนื้อหาของเพลงเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่าเป็นเพลงจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้ขยับแข้งขยับขาเท่านั้น
แต่เมื่อโตขึ้นมาอีกสักหน่อย ก็เริ่มประทับใจกับประโยค “...ตะแบกบานแล้วร่วง สีม่วงที่พี่ชื่นชม ...” จากเพลง “เหมือนข้าวคอยเคียว” ที่เพลินพิศ พูนชนะ ขับร้อง เพราะสีประจำโรงเรียนเป็นสีม่วงขาว ได้ยินเพลงนี้ทีไร ภาพดอกตะแบกในโรงเรียนผุดขึ้นมาทุกที แต่ก็ยังไม่ได้รู้จักนักร้องนักแต่งเพลง
เมื่อได้ศึกษาไปเรื่อยๆ พบว่า บางเพลงที่ฟังแล้วทึ่งในการเลือกใช้คำต่างๆ นั้น เป็นผลงานของครูกานท์นี่เอง อย่างเช่น เพลง “หัวอกพ่อสื่อ” มีท่อนประทับใจในการเลือกการเปรียบเทียบที่คมคาย
“...นายพรานคนเก่ง ได้เก้งลืมหมา พรานยิ่มร่า แต่หมาขมขื่น
เนื้ออดหม่ำก็ชอกช้ำพอ กระดูกแขวนคอ แทบล้มทั้งยืน....” ภูมินทร์ อินทรพันธ์ ขับร้อง
“...เขาทั้งสวยทั้งรวยและกำลังรุ่ง ชื่อเสียงหอมฟุ้งไปไกลจากใต้จดเหนือ
ผู้ชายแมงเม่าเข้าไกล้ก็ตายเป็นเบือ ตกอ่างน้ำเกลือ ตายไม่เหลือเพราะหลงแสงไฟ ....” จากเพลง “อย่ารักเขาเลย” ที่ศรเพชร ศรสุพรรณ ขับร้องไว้ในช่วงที่เสียงดีสุดๆ
และยังมีเพลง “น้ำกรดแช่เย็น”ที่รังสี เสรีชัย ขับร้อง ก็มีวรรคทองที่ว่า
“...น้องยื่นน้ำเย็น พี่เห็นก็คว้ามาดื่ม ด้วยจิตใจปลื้ม ว่าร้อนคงถอนคงคลาย กว่าจะรู้ว่าน้องให้ของกินตาย ทุรนทุรายด้วยพิษร้ายน้ำกรดแช่เย็น”
“เป็นบันได เป็นเรือจ้าง เป็นหนทางให้เดิน
เขาพบบ่อทอง เขาพบบ่อเงิน เขาจะเมินไม่ว่า
รักเขามาก เราก็ให้เขาหมด เหลือแต่หยดน้ำตา ....” จากเพลง “รู้ว่าเขาหลอก” ที่เป็นเพลงเอกประจำตัว ศิรินทรา นิยากร
ครูกานท์แต่งเพลงได้แบบที่เคร่งครัดเรื่องสัมผัสนอกใน ทำให้คนฟังสามารถจำเนื้อเพลงได้อย่างแม่นยำเพราะคำที่คล้องจอง ผมเขียนเนื้อเพลงเหล่านี้จากความทรงจำล้วนๆ โดยไม่ต้องเปิดฟังเพื่อตรวจสอบเนื้อเพลงเลย
เมื่อมาเป็นนักจัดรายการวิทยุ ก็ยังมีเพลงหนึ่งที่ชอบเปิดมาก และเพิ่งจะทราบว่าเป็นผลงานครูกานท์ คือเพลง “เสียเส้น” สังข์ทอง สีใส ขับร้อง ที่ให้บรรยากาศภาพรถหนังขายยา เพลงนี้มีท่อนติดหู จับใจที่ว่า "....ของอะไรดีหรือไม่ดี ในยุคนี้ต้องโฆษณา" นั่นคือภาพเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบันเรายังตกเป็นทาสการโฆษณาที่นับวันลวงโลกหนักข้อขึ้นทุกที
เกี่ยวกับเรื่อง การโฆษณา ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ครูกานท์ มีลายมือของครูที่เขียนไว้เมื่อปี 2526 ที่กล่าวถึงเพลงและนักร้องที่ถูกจำกัดในเรื่องของสื่อว่า “...ไม่มีเพลงของเธอเปิดทั้งวันในวิทยุ เช่นนี้ก็แปลว่า ของดี ของดังจะต้องได้ยินจากโฆษณากรอกหู ....ความผิดของเธอคือ เธอไม่มีต้นสังกัด ไม่มีงบโฆษณา.”
“ของดี ไม่ดัง ของดัง (ไม่แน่ว่าจะ) ดี”
“ในยุคที่การโฆษณา ประชาสัมพันธ์เป็นลมหายใจ ...ผู้ที่ขาด”งบโฆษณา”มีลมหายใจก็เหมือนไม่มี”
“ถ้าผลิตเอง โปรโมทเอง ขายเอง ผมรับรองไม่ขาดทุน ดังหรือไม่ ไม่มีอะไรมาวัด แต่บอกก่อนนะครับ ผมจะไม่เอาบทก๋ากั่นให้นักร้องหญิง ไม่เอาบทกดขี่ทางเพศหรือย่ำยีเพศแม่ให้นักร้องชายคนไหนทั้งนั้น ถ้าต้องการเพลงจำพวกนี้ ผมไม่มี”
หนังสืออนุสรณ์ที่คณะจัดทำได้นำมาแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ชื่อ “คิดถึงครูกานท์ การุณวงศ์” ความหนา 94 หน้า นับได้ว่าเป็นหนังสือที่ระลึกของคนลูกทุ่งที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยได้รับมา โดยมีแผ่นซีดีรวมเพลงของครู 74 เพลงแนบมาด้วย เนื้อหาหนังสือทำให้ได้รู้จักชีวิตและงานของครูกานท์ในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งหลายเรื่องไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน จึงขอย่อมาให้อ่านกัน
ชื่อจริงของครูนั้น เป็นคนไทยที่มีชื่อกลางด้วย คือ บารมี ก. การุณวงศ์ แต่นามสกุลจริงๆ คือ กรุณวงศ์ เจ้าหน้าที่เผลอไปเติม สระอา ให้นามสกุลท่าน ครูกานท์เป็นชาวอำเภอบ้านนา นครนายก โดยกำเนิด ตอนเด็กๆ รอดตายจากการตกหลังควายและฟ้าผ่าบ้าน แต่ก็รอดชีวิตมาสร้างผลงานเพลงดีๆ ให้กับแผ่นดิน
สมัยครูยังเด็ก เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนปิดการเรียน แต่ครูกานท์ ได้พ่อเป็นครูสอนหนังสือให้ และยังซื้อหนังสือนอกเวลามาให้อ่าน ซึ่งครูเรียนเก่งมาก หลังจากเข้าโรงเรียนก็สอบได้ที่1-2 ตลอด จนกระทั่งเรียนได้แค่มัธยมต้นก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะแม่ป่วย
เมื่อครบอายุเกณฑ์ทหาร ครูยกมือสมัครเป็นทหารโดยไม่มีอาการลังเล ทั้งๆ ที่สมัยนั้นมีแต่คนวิ่งเต้นไม่ให้ลูกเป็นทหาร ครูรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี และตอนเป็นทหารก็เป็นนักมวยให้กองทัพด้วย ถือว่า ครูเป็นชายชาติทหารอย่างเต็มตัว และในบรรดาเพลงของครูมีเพลงชื่อ “เกียรติทหารเกณฑ์”ที่ รังสี เสรีชัย ขับร้อง
“บ้านเก่าที่เราอยู่มา ปีนี้จะลาไปรับใช้ชาติ
อายุยังเยาว์เข้าวัยฉกรรจ์ เตรียมตัวรบพลัน.....”
ในวงการเพลง ครูกานท์ นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องการแต่งเพลงที่ไม่เป็นรองใครแล้ว ยังเป็นนักแต่งเพลงคนเดียวที่ยึดคติประจำใจในการแต่งเพลงว่า
“ไม่ย่ำยีฉันทลักษณ์ ไม่แต่งเพลงประเภทกดขี่ทางเพศ
ไม่ลอกเลียนแบบทำนองผู้อื่น ไม่แต่งเพลงประเภทยั่วยุกามารมณ์
ไม่แก้ไขเนื้อเพลงผู้อื่น และไม่ยอมให้ผู้อื่นมาแก้ไขเนื้อเพลงของตนเอง”
ข้อสุดท้ายนี้ ในหนังสือก็มีข้อเขียนเล่าว่า ครูกานท์ ถึงขนาดยอมหักกับครูล้วน ควันธรรม แค่เพียงว่า ครูล้วนให้ตัดคำว่า ”เถอะ” ออกไปจากเพลง”อีกหน่อยเถอะ” ซึ่งต่างคนก็ต่างไม่ยอม จนต้องแยกย้ายกันไปคนละทาง
แม้แต่มนต์ เมืองเหนือ คนปั้นนักร้อง ที่เป็นเพื่อนกับครูกานท์ ได้เขียนคำอาลัยไว้ในหนังสือว่า “มีอยู่เพลงเดียวที่เราเถียงกันไม่จบ “ฆ่าก็ตาย ไม่ฆ่าก็ตาย” เพื่อนบอกว่า “สัตว์ทั้งหลายไม่อยู่ค้ำฟ้า” ผมไม่ชอบก็เลยไม่เอา ผมบอกว่า มันต้องเป็น “คน” ไม่ใช่ “สัตว์” เพื่อนก็เลยไม่ให้ พอเพื่อนไม่ให้ ผมก็ไม่เอา ถ้าเป็น “คนทั้งหลาย” ผมถึงจะเอา”
ข้อเขียนต่างๆ ที่บรรดาเพื่อนลูกศิษย์พี่น้องในวงการเขียนถึงครู ทำให้เราได้รู้จักตัวตนครูที่ดูแตกต่างแต่มีคุณภาพ และด้วยนิสัยส่วนตัวของครูนี่เอง ทำให้ไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นตัวครูมากนัก ซึ่งต่างจากนักแต่งเพลงทั่วไปที่มักจะพบเห็นในงานสังคม
ครูกานท์ มีอาชีพแต่งเพลงแต่ท่านไม่หวังรางวัลใดๆ ไม่คิดแข่งกับใคร รางวัลที่ได้ๆ มา เพราะคัดเพลงไปส่งกันเอง เพลงของครูกานท์ส่วนใหญ่ อุดมไปด้วยข้อคิดเตือนใจ ต่อต้านความไม่เป็นธรรม ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ อาทิเพลง “อยู่ดีกว่าตาย” “คนสมัยนี้” ขับร้องโดย ดำ แดนสุพรรณ ที่ฟังทีไรก็ยังรู้สึกว่า เนื้อหาเป็นสัจธรรม ความจริงที่ยังมีอยู่ในทุกวันนี้ และยังมีเพลงเนื้อหาคมๆ ให้ขบคิดมากมายหลายเพลง นักศึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์น่าจะนำไปวิเคราะห์กันดู เพราะงานของครูต่างจากงานตลาดทั่วๆ ไป
ผลงานเพลงสุดท้าย ครูแต่งให้ ศิรินทรา นิยากร เมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนที่ครูเสียชีวิต คือเพลง “เท่าไหร่ถึงจะพอ” ของค่ายนพพรซิลเวอร์โกลด์ และเพลงของครูที่ได้รับการบันทึกเสียงล่าสุดคือเพลง "เหมือนรักในตำนาน” จากภาพยนตร์เรื่อง ”ยังบาว เดอะมูวี่” ขับร้องโดย หลิว อาจารียา พรหมพฤกษ์
สิ่งหนึ่งที่ได้อ่านจากหนังสือ และติดตามความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ครูป่วย คือ ครูกานท์โชคดีที่ได้ลูกศิษย์ที่แสนดีมากนั่นคือ ศิรินทรา นิยากร ที่ผูกพัน ดูแลครูและเคารพเหมือนกับพ่อคนหนึ่งของเธอ ศิรินทราดูแลครูอย่างสม่ำเสมอตลอดมาโดยไม่ต้องเป็นข่าว แม้จนวันที่ร่างครูกลายเป็นเถ้าถ่าน
นี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของความรักความกตัญญูของครูกับศิษย์ในวงการเพลงที่ทุกวันนี้ หาได้ยากยิ่งนักในนักร้องสมัยใหม่
...............................
(คิดถึงครูเพลง'กานท์ การุณวงศ์' : คอลัมน์เป็นคุ้งเป็นแคว : โดย...เคน สองแคว)