The Butler
The Butler : คอลัมน์เอกเขนกดูหนัง : โดย...ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
ว่ากันว่า นี่คือหนังชิงออสการ์ปีนี้อย่างน้อยก็ 4-5 สาขา ไม่ว่าจะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชาย นำหญิง สมทบชาย หรืออาจจะรวมถึงบทดั้งเดิมด้วยก็ได้ ก่อนอื่นลองมองข้ามเครดิตทีมงาน ทั้งผู้กำกับและนักแสดง มาจับจ้องมองที่ตัวหนังกันล้วนๆ ว่ามีคุณภาพถึงขั้นชิงออสการ์ รวมถึงอีกหลายๆ สถาบันที่มีจะมีการประกาศผลกันในปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า
เริ่มตั้งแต่พล็อตหนัง ที่เอื้อต่อการโกยรางวัล ด้วยอารมณ์ Dramatisation สูงมาก โดยเล่าถึงชีวิตของ "เซซิลเกนส์" พ่อบ้านในทำเนียบขาว ที่รับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาหลายชั่วอายุคน นับจาก Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีคนที่ 34 ขึ้นครองตำแหน่ง จนถึงประธานาธิบดีคนที่ 44 Barack Obama
หนังเปิดเรื่องก็เล่าถึงชะตากรรมรันทดของตัวละคร เมื่อพ่อของเซซิลถูกยิงตายต่อหน้าต่อตาในไร่ฝ้าย หลังแสดงความไม่พอใจที่ลูกชายเจ้าของไร่จูงมือเมียรักเข้าไปข่มขืน จากนั้นเจ้าหนูเซซิล ที่กลายเป็นเด็กกำพร้า ได้รับการอุปการะจากเจ้าของไร่คนขาว เข้าไปทำงานรับใช้ในหน้าที่พ่อบ้าน โดยได้รับการสั่งสอนอบรมอย่างเข้มงวดจนสามารถทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ได้อย่างดีเยี่ยม ครั้นโตมาเป็นหนุ่ม เซซิล เบื่อหน่ายการถูกกดขี่ในฐานะทาสรับใช้ จึงหนีจากมาใช้ชีวิตเร่ร่อน ระหกระเหิน หิวโซจนวันหนึ่งตัดสินแอบเข้าไปขโมยของกินในร้านอาหาร และสถานที่แห่งนี้เองที่ได้เปลี่ยนชีวิตของหนุ่มน้อยไปตลอดกาล เมื่อได้มาเจอกับ เมย์นาร์ด พ่อบ้านใจดี ที่ไม่เพียงปฏิเสธที่จะจับหัวขโมยอย่างเขาส่งตำรวจ หากแต่ยังรับเข้าทำงานและสนับสนุนให้โอกาสในการไปทำงานในโรงแรมหรู ก่อนที่งานบริการอันยอดเยี่ยมที่ได้รับการพร่ำสอนอย่างเข้มงวดในอดีตจะเข้าตาหัวหน้าพ่อบ้านประจำทำเนียบขาว จนได้รับการชักชวนให้มาทำหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ประธานาธิบดีแห่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ในยุคของ "นายพลไอเซน ฮาวเออร์"
ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของเซซิล ดูจะสวนทางกับชีวิตครอบครัวของเขา ความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน ทำให้เขาห่างเหินกับ "กลอเรีย" ภรรยา จนเธอวอกแวกวอแวเผลอพลั้งไปคบชู้ และโดยเฉพาะ "หลุยส์" ลูกชายคนโต ที่มีแนวคิดสวนทางกับผู้เป็นพ่ออย่างสุดโต่ง
The Butler ไม่เพียงเล่าชีวิตเซซิลเกนส์ ตั้งแต่เด็กจนช่วงบั้นปลาย ผ่านร้อนผ่านหนาว พบเจออุปสรรคมากมาย หากแต่ยังประวัติศาสตร์อเมริกันในห้วงเวลาที่น่าสนใจโดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของคนผิวสี เซซิล เห็นการกดขี่คนดำมาตั้งแต่เด็ก ยินดีที่จะเรียกตัวเองว่า ‘นิโกร’ โดยไม่สนใจไยดีว่าคนผิวสีรอบข้างจะเจ็บแค้นแค่ไหน (จนมีฉากหนึ่งที่เพื่อนคนผิวสีด้วยกันถึงกับตบหน้าด้วยความแค้นเคือง)
เซซิล ใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์อเมริกัน หลายยุคหลายสมัย (โดยเฉพาะการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม) ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่ประธานาธิบดีคนแรกที่เขามีโอกาสรับใช้ ดไวท์ ไอเซนฮาวเออร์ ที่ให้คนขาวกับคนดำเรียนร่วมกันได้ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีคนแรกที่ต้องเผชิญกับม็อบคนผิวสีกว่าสองแสนคนที่เดินทางมาร่วมชุมนุมกันที่กรุงวอชิงตันดีซี ภายใต้การนำของ มาร์ตินลูเธอร์คิง จูเนียร์ มาถึงยุคของประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน ก็เกิดกลุ่มแบล็ค แพนเธอร์ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวสี สมัยถัดมาที่ริชาร์ด นิกสัน ดำรงตำแหน่ง สหรัฐอเมริกาก็ส่งทหารเข้าไปรบในสงครามเวียดนาม จนมาถึง จิมมี คาร์เตอร์ ที่ให้คนผิวสีดำรงตำแหน่งทูตสหประชาชาติ จนถึงยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่การต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมแพร่ออกไปยังกลุ่มคนอื่นๆ นอกจากคนผิวสี เช่นกลุ่มรักร่วมเพศ หรือกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิสตรี และเป็นการทำงานในตำแหน่งพ่อบ้านประจำทำเนียบขาวครั้งสุดท้ายของเซซิลเกนส์
The Butler ระดมดาราใหญ่ ยอดฝีมือ ที่ต่างคนต่างเล่นเยอะ เล่นใหญ่ ช่วงชิงความโดดเด่นในแต่ละฉากที่ตนปรากฏตัว ตั้งแต่บทรับเชิญในฐานะประธานาธิบดีแต่ละยุคสมัย ทั้ง โรบิน วิลเลียมส์ ในบท ไอเซนฮาวเออร์, เจมส์ มาร์สเดน กับบท จอห์น เอฟ เคนเนดี้, ลีฟชไรเบอร์ ในมาด ประธานาธิบดี ลินดอน บี จอห์นสัน, จอห์น คูแซค เป็นริชาร์ด นิกสัน และ อลัน ริคแมน ในบทโรนัลด์ เรแกน (ส่วนจิมมี คาร์เตอร์ ปรากฏในภาพข่าว) และน่าจะเป็นหนังเรื่องของฟอร์เรสต์ วิทเทคเกอร์ ที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายจากบทเซซิลเกนส์ รวมถึง โอปราห์ วินฟรีย์ ในบท กลอเรีย ศรีภรรยา ที่สาขานักแสดงนำหญิงปีนี้ก็อาจมีชื่อของเธอในฐานะผู้เข้าชิงด้วยเช่นกัน
ส่วน เดนียล ลี ผู้กำกับนั้น ผลงานเรื่องที่ 4 ของเขา ก็ยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างหนาหู และประสบความสำเร็จด้านรายได้ไม่น้อยหน้า หลังสร้างชื่อจากเรื่อง Precious เมื่อ 4 ปีก่อน
..........................
(The Butler : คอลัมน์เอกเขนกดูหนัง : โดย...ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)