บันเทิง

20ปี'Dogma 95'2ทศวรรษแนวทางเกรียนหนัง

20ปี'Dogma 95'2ทศวรรษแนวทางเกรียนหนัง

07 ก.พ. 2557

20ปี'Dogma 95'2ทศวรรษแนวทางเกรียนหนัง : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย.... นันทขว้าง สิรสุนทร

 
 
          ปีหน้า 2015 เป็นช่วงเวลาที่แนวทางอย่างหนึ่งฮิตระเบิดโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นั่นคือ Dogma 95 ที่ถ้าเป็นยุคนี้ต้องบอกว่าเป็นพวกเกรียนหนัง ที่มีสมอง 
 
          แล้วมันคืออะไรล่ะ เจ้า Dogma 95 ?
 
          ต้นทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา วงการหนังยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการพยายามค้นหารูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ โดยอาศัยพื้นฐานของหนังในช่วงยุค 30-60 (หว่อง คาร์-ไว กับ โรเบิร์ต เครเมอร์, จอห์น วู กับ เควนติน ตารันติโน มาจากแซม แพคกินพาห์, ไบรอัน เดอ พัลมา มาจาก อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก, ไมเคิล มัวร์ มาจาก แอกเนส วาร์ดา และอื่นๆ อีกมากมาย)
 
          แต่กลางทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา รูปแบบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและประกาศตัวเองว่าเป็นอิสระจากทุกอย่าง ก็คือ รูปแบบการทำหนังแนวอิสระหรือศิลปะบริสุทธิ์อย่าง Dogma (ส่วนหนึ่งที่รูปแบบนี้ฮิตอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะทางหนึ่งใครบางคนก็นำเอามาเล่นการตลาดกับ "อารมณ์ความรู้สึก" ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการ "ออกไปจาก" ความอึดอัดอุดอู้ของหนังในกระแสหลัก นี่ยังไม่นับความเท่ของคำว่า Dogma ที่เวลามีใครพูด อันไม่ต่างจากในอดีตที่อุตสาหกรรมดนตรี พยายามจะสร้างคำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อการตลาด) 
 
          แล้ว Dogma คืออะไรหรือ ? 
 
          Dogma นั้น เป็นแนวคิดของสร้างหนังหรือการทำหนัง ที่เน้น "ความบริสุทธิ์" หรือใช้กฎของความบริสุทธิ์ เหมือนกินอาหารก็ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่สีและกลิ่น (สีและกลิ่นทำให้อาหารดูสวยงามและน่าทาน)
 
          Dogma เกิดจากแนวคิดของคนทำหนังแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง เดนมาร์ค, สวีเดน, ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์ แต่แนวคิดนี้เริ่มก่อนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่กรุงโคเปนเฮเกนในปี 1995 โดยคนทำหนังกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม
 
          แนวคิดแบบ Dogma ได้รับการตอบสนองหรือสนับสนุนจากเทศกาลหนังโตรอนโตที่แคนาดาในเดือนกันยายน ปี 2001 ที่ผ่านมา ถึงขนาดมีการจัดโปรแกรมฉายให้กับหนังแนวนี้โดยเฉพาะ
 
          ถ้าจะอ้างถึงงานที่เป็น Dogma และประสบความสำเร็จ เรื่องหนึ่งที่ต้องให้เครดิตก็คือ Italian for Beginners ของผู้กำกับ โลน เชอร์ฟิก (ซึ่งเป็นผู้หญิงเสียด้วย) คอนเซ็ปต์ของการสร้างหนังแบบ Dogma ได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับได้รับความนิยม และขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับซบเซา
คนที่ดูหนังแบบฮอลลีวู้ดมาตลอด ยากที่จะรับหนังแบบแนวทาง Dogma
 
          เพราะ Dogma มีกฎอยู่ 10 อย่างให้ปฏิบัติ ราวกับบัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์
          1.ห้ามมีการจัดฉาก ต้องใช้สถานที่จริงถ่ายทำ
          2.ต้องบันทึกเสียงจริงๆ ในขณะถ่ายหนัง
          3.ต้องใช้มือถือถ่าย ห้ามใช้ขาตั้งกล้อง
          4.ห้ามจัดแสง เน้นแสงธรรมชาติ
          5.ห้ามใช้อุปกรณ์พิเศษใดๆ กับกล้อง
          6.ห้ามใช้การแสดงที่โอเวอร์ เพื่อเร้าอารมณ์และเพื่อจัดประสงศ์อื่นๆ
          7.เหตุการณ์ในหนังต้องเกิดขึ้นในปัจจุบัน
          8.เนื้อเรื่องต้องไม่ตื้นเขินแบบฮอลลีวู้ดหรือขาดเหตุผล
          9.ใช้ฟิล์ม 35 มม.
          10.ห้ามขึ้นชื่อผู้กำกับ
 
          จะเห็นว่ากฎบริสุทธิ์ของ Dogma นั้น ดูจะผูกมัดคนทำงาน แต่ผู้กำกับหนังแนวทางนี้บางคนบอกว่ามันให้ความรู้สึกเหมือน "ปลดปล่อย" มากกว่า เพราะอย่างหนึ่งก็คือเขาไม่ต้องทำหนังตามโจทย์ของสตูดิโอและนายทุน รวมทั้งใช้แค่ "กล้องมือถือ" ก็สามารถเป็น Dogma ได้แล้ว
 
          เขียนกันมาแบบนี้ เราคงนึกภาพกันไม่ออก เพราะมันไม่ใช่หนังสารคดีเพียวๆ (แม้ว่าจะมีรูปแบบบางส่วนที่ซ้อนทับ) ตัวอย่างที่พอจะสามารถไปหากันอยู่ได้หรืองานที่เข้าข่ายของ Dogma ก็มี 
          1.The Celebrate ของ โธมัส วินเทอร์เบิร์ก
          2.The Idiots ของ ลาร์ส ฟอน เทียร์, 
          3.Mifune ของ โซเรน จาคอฟเซน 
          4.The King is Alive ของ คริสเตียน เลฟริง
          5.Italian for Beginners ของ โลน เชอร์ฟิก 
          (หนังเหล่านี้มีขายในบ้านเรา แม้ว่าจะหายากสักหน่อย)
 
          หากดูหนังตัวอย่างหรือเคยดูหนังบางเรื่องที่กล่าวมา เราจะพบว่าหัวใจหลักๆ ของ dogma ก็คือการไม่พยายามจะ "เร้าอารมณ์" ของคนดูจนเกินเลย หรือทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมสูงสุด ซึ่งวิธีการแบบนี้เป็น "ภาคบังคับ" ที่อุตสาหกรรมหนังของฮอลลีวู้ดเอามาขายกับสังคมโลกมายาวนานคำถามที่น่าคิดก็คือ แล้ว Dogma จะมีชีวิตอยู่ในโลกของภาพยนตร์แค่ไหน?
 
          ถ้าจะเติบโตรุ่งเรือง คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังเสพความบันเทิงเพื่อบันเทิง (และไม่ผิด) 
 
          แต่คงไม่สูญหายไปไหน เว้นแต่ว่ามันถูกทำให้เท่ (cool, chic) ในช่วงเวลานี้เท่านั้น
          (อ้างอิงส่วนหนึ่งจาก Bis Week) 
 
.......................................
(หมายเหตุ 20ปี'Dogma 95'2ทศวรรษแนวทางเกรียนหนัง : คอลัมน์ หนังโรงเล็ก โดย.... นันทขว้าง สิรสุนทร)