บันเทิง

'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1'

'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1'

13 มี.ค. 2557

'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1' : คอลัมนื เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ

 
 
          เมื่อพูดถึงร็อกเกอร์ เรามักนึกถึง ความแข็งแรง ดุดัน ร้อนแรง ผู้ชายไว้ผมยาว รอยสัก เสื้อหนัง กางเกงยีนรัดรูป รองเท้าบู๊ท ผมสั้น ผมปัดข้าง ไถหลัง ไถข้าง ทาหน้าทาตา สีสันฉูดฉาด เจาะจมูก เจาะหู เจาะสะดือ จนหลุดโลก หากเขาเหล่านั้นมาเดินเล่นบนถนน หลายครั้งคนรอบข้างถึงขั้นเกรงใจไม่กล้าเข้าใกล้ แต่นั่นเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก ที่เรามักนึกออกทันทีเมื่อพูดเรื่องนี้ขึ้นมา
 
          ในความแข็งแรง มีความอ่อนโยน ในความน่ากลัว มีความสวยงามซ่อนอยู่เสมอ ในดนตรีร็อก ก็ไม่เว้น
 
          วงการเพลงทั่วทั้งโลก ดนตรีร็อกกับนักร้องผู้ชายทั้งเดี่ยว ทั้งวง มีให้เห็นกันมากมาย สัดส่วนมากกว่าหญิงหลายเท่า ขณะที่ร็อกเกอร์หญิงที่คนยอมรับในวงกว้างก็ยังพอมีให้ได้ฟังกันบ้าง เป็นสิ่งที่เติมเต็มความงามของวงการเพลงและทำให้วงการเพลงมีสีสันน่าอภิรมย์ขึ้นอีกมากมาย 
 
          ส่วนร็อกเกอร์สาวในวงการเพลงไทย นับตั้งแต่ยุคเพลงไทยสากลยุคใหม่ (ใหม่มาตั้งแต่ 2511 แล้ว...ฮา) 
 
          อัญชลี จงคดีกิจ ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่หวานเหมือนผู้หญิงทั่วๆ ไป และอาจไม่เรียกว่าสวย แต่เรียกว่าเป็นสาวเท่ ที่เท่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (คุณพ่อชื่อเท่ห์ จงคดีกิจ) จากครอบครัวที่รักดนตรี ทั้งร้องเพลง ทั้งเล่นกีตาร์ และเบสกีตาร์ ในวงพี่ชายเล่นเพลงร็อกในยุค เซเว่นตี้ ตั้งแต่เรียนมัธยม ในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีนักร้องร็อกที่เป็นผู้หญิงออกผลงานเลย จนมาถึงวันที่ คุณจิตรนารถ วัชระเสถียร แต่งเพลงให้ ปุ๊ อัญชี จงคดีกิจ ร้องในอัลบั้มชุดแรกชื่อ หนึ่งเดียวคนนี้ (พ.ศ. 2528) โดยมีเพลงร็อกหน้าหนึ่งเพลงหนึ่ง คือเพลงชื่อเดียวกับชื่อชุดเป็นเพลงเปิดตัว (ก่อนหน้านั้นจะตั้งชื่ออัลบั้ม “อยู่ไปวันๆ” ตามชื่อเพลง เพลงหนึ่งในอัลบั้ม) นับเป็นความแปลกใหม่ในวงการเพลงไทย ผสมกับเพลงที่ดี เธอจึงดังเป็นพลุแตก ทุกเพลงในอัลบั้มได้รับความนิยม เรียกว่าฟังกลับไปกลับมาอยู่หลายร้อยรอบ จนเทปคาสเส็ทยืดแล้วยืดอีก (ยุคนั้นศิลปินยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน) นับว่าเป็นยุคอัญชลี ฟีเวอร์ และในอีกสองปีต่อมา ออกอัลบั้มชุดเขย่าโลกในแนวร็อก ก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง และนอกจากนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นพรีเซ็นเตอร์ของน้ำอัดลมคู่กับศิลปินระดับโลก ทีน่า เทอร์เน่อร์ หนังโฆษณาที่มีฉากในคอนเสิร์ตของทั้งคู่บนเวทีเดียวกันอีกด้วย นับเป็นร็อกเกอร์สาวคนแรกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในสายดนตรีร็อกของเมืองไทย เรียกว่า ตัวเล็ก แต่หัวใจร็อก



\'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1\'
 
 
 
          ฐิติมา สุตรสุนทร สาวนิเทศฯ จุฬาฯ อดีต ดรัมเมยอร์ งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ร้องเพลงร็อกบันทึกเสียงครั้งแรกใน อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วัยระเริง นำแสดงโดย อำพล ลำพูน-วรรษมน วัฒโรดม โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้กำกับ ออกฉายเดือน กุมภาพันธ์ 2527 งานชุดนี้ทีมผลิตดนตรีคือ บัตเตอร์ฟลาย และ เรวัติ พุทธินันท์
 
          แม้ไม่ใช่เป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเธอเอง แต่ก็ถือเป็นร็อกเกอร์หญิง ที่ส่งพลังเสียงเข้าไปในภาพยนตร์ ได้อย่างน่าชื่นชม จึงมีภาพร็อก เปิดทางอย่างชัดเจน และออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก (ฉันเป็นฉันเอง) ในปีถัดมา โดยเพลงที่อยู่ในอัลบั้มนี้แตกต่างจากความเป็นร็อกเกอร์หญิงในอัลบั้มชุด วัยระเริง ไปมาก หากมีความเป็นฟังกี้ ของ เรวัติ พุทธินันท์ เข้ามาเคลือบอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ก็ยังเป็นร็อกเกอร์อยู่ดี
 
          ในปีถัดมา 2528 ร็อกเกอร์สาวอีกคน ที่มี DNA ร็อกเต็ม ๆ จาก ช.อ้น ณ บางช้าง พ่อบังเกิดเกล้า กำเนิด ร็อกเกอร์หญิง ที่มีใจรักดนตรี นรินทร ณ บางช้าง  หลังจากพ่ออยากจะเลิกเล่นดนตรี จึงพาไปฝากกับพี่ๆ ที่บัตเตอร์ฟลาย และได้ออกอัลบั้มชุดแรก ชื่อ ดอกไม้ จดหมาย ความรัก มีเพลงร็อกเป็นที่รู้จักคือ “พ่อฉันซ่า” ที่เนื้อเพลงพูดถึงชีวิตจริงของเธอกับพ่อได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นเพลงร็อกที่ลีลาดนตรีสนุกมาก จึงเป็นการเปิดทางไปสู่การเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นร็อกเกอร์หญิงแถวหน้าเมืองไทยอีกคนในเวลานั้น


\'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1\'
 
 
          ใช่ว่าดนตรีร็อกกับดอกไม้จะมีแค่นี้ แน่นอนยังมีที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งที่จะนำเสนอในครั้งหน้า โปรดติดตามครับ
 
 
          ชาตินี้ ยังไงก็ฟังเพลงทั่วไป ได้ไม่หมด
          ขอเลือกเพลงโปรด ฟังก่อนตาย ดีกว่า
 
.......................................
(หมายเหตุ 'ร็อกเกอร์หญิงไทย ตอนที่ 1' : คอลัมนื เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ)