เป็นคุ้งเป็นแคว:'ชมรมเพลงแห่งสยาม'
20 มี.ค. 2557
'ชมรมเพลงแห่งสยาม' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว
เขียนค้างไว้ตั้งแต่คราวที่แล้วว่า จะเล่าถึงกลุ่มคนทำงานที่ใช้ชื่อว่า “ชมรมเพลงแห่งสยาม” ซึ่งเป็นชมรมเพื่อการเรียนรู้ อนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานเพลงไทยในอดีต ทั้งเพลงไทยสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน และเพลงไทยเดิม เป็นชมรมจิตอาสา มิได้มุ่งหวังผลกำไรแต่ประการใด
ชมรมเพลงแห่งสยาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 โดยกลุ่มนักจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุเพื่อการอนุรักษ์ เอฟเอ็ม 104.75 เมกะเฮิรตซ์ ได้ริเริ่มชักจูงและสรรหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมกิจกรรมสืบสานเพลงลูกกรุง ในรูปแบบของคอนเสิร์ตแล้วกว่า 70 คน และต่อยอดส่งเข้าประกวดเวทีต่างๆ อาทิ การประกวดเวทีศาลาเฉลิมกรุง ปี 2552 ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศหลายคน
และที่ฮือฮามาก คือ นายพีรยุทธ พัฒนาสันต์ ใช้เพลงลูกกรุงลงแข่งขันรายการ “ตีสิบ” ช่วงดันดารา ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับรถยนต์ 1 คัน
ทุกๆ ปี ชมรมเพลงแห่งสยาม จะจัดคอนเสิร์ต ซึ่งทำมามากกว่า 21 ครั้งแล้ว โดยครั้งที่ 22 ล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา เสนอในหัวข้อ “เพลงประทับใจเนื้อไทยทำนองเทศ” ภาค 2 ที่นำเสนอเพลงไทยที่นำทำนองต่างประเทศมาใส่คำร้องเป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่หอประชุมโรงพยาบาลพระมงกุฎ กรุงเทพฯ โดยมีแขกรับเชิญพิเศษ คือ นัดดา วิยกาญจน์ มาขับร้องเพลงสากลและเพลงไทยที่นำทำนองมาจากต่างประเทศ สร้างความประทับใจต่อผู้ชมมาก
คอนเสิร์ตของชมรมเพลงแห่งสยาม มีการทำสูจิบัตรทุกครั้ง ลงรายละเอียดเรื่องเพลง เนื้อเพลง ผู้ขับร้องทั้งต้นฉบับและผู้ขับร้องใหม่ นับเป็นบันทึกที่เป็นระบบระเบียบอันมีคุณค่าต่อวงการเพลงไทยอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าจะปรับปรุงในการแสดงคอนเสิร์ตคือ ความเรียบง่ายมากเกินไปจนทำให้ดูจืดชืดจนขาดเสน่ห์ และขาดจุดที่ทำให้ผู้ชมจดจำ เพราะน้องๆ จะขับร้องแสดงกันตามลำดับเพลง และค่อนข้างจะเกร็งๆ กันหลายคน ทำให้ผู้ชมต้องนั่งลุ้นกับนักร้องบางคนว่า จะร้องได้จบเพลงหรือไม่ ซึ่งถ้าบรรยากาศการแสดงดูผ่อนคลายมากกว่านี้ น่าจะทำให้คนดูได้หายใจโล่งขึ้นเยอะและอยากให้ใช้ความเป็นเด็กรุ่นใหม่มานำเสนอมากกว่าจะรีบทำให้นักร้องแก่เกินวัย เลียนแบบผู้ใหญ่แบบก๊อบปี้โชว์ ซึ่งน่าจะให้เขาได้แสดงออกถึงความสดใสที่สมวัยและมีความคิดสร้างสรรค์บ้าง
แต่ที่ผ่านมา หลายครั้งก็ทำได้ดีมาก อย่างเช่น คอนเสิร์ตขึ้นปีที่ 5 ของชมรม ที่มีแขกรับเชิญคือ ศวรณี โพธิเทศ ขับร้องเพลง โดยมีโก้ มิสเตอร์แซกแมน มาเป่าแซกโซโฟนคลอ เป็นสิ่งที่ดูร่วมสมัยและน่าจะดึงกลุ่มคนดูรุ่นใหม่มาร่วมสัมผัสบทเพลงดีๆ เหล่านี้มากขึ้น เพิ่มจากแฟนประจำที่มีอยู่ ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น เรายังได้ชมคุณ เอมอร วิเศษสุด นักร้องจากดุริยางค์ทหารเรือที่มาขึ้นเวทีขับร้องเพลงได้อย่างประทับใจยิ่ง ในเพลง “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” และ “แรมพิสวาส” ที่เธอเป็นต้นฉบับก่อนคุณรวงทอง ทองลั่นทม มาขับร้อง ซึ่งต้องชื่นชมทีมงานที่ไปเชิญท่านมาขึ้นเวที แบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
เอกลักษณ์ของวงดนตรีชมรมเพลงแห่งสยาม จะมีเพลงมาร์ช “เพลงแห่งสยาม” ขึ้นต้นและจบด้วย ”เพลงลาจากใจ” ที่เป็นเพลงประจำชมรม และในแต่ละตอนจะมีการคิดธีมออกมา เช่น วรรณคดี อินคอนเสิร์ต เพลงรักษ์จากแผ่นฟิล์ม เพลงรักดาวลับฟ้า เป็นต้น น่าเสียดายถ้ามีเวทีหรือสถานที่เปิดกว้างมากกว่านี้ เราคงได้เห็นเด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ทำงานคอนเสิร์ตในระดับชาติบ้าง ซึ่งคอนเสิร์ตเพลงไทยสากลทุกวันนี้ก็หาชมกันได้ไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตอื่นๆ ในบ้านเรา
คอนเสิร์ตเพลงแห่งสยาม ในครั้งที่ 23 ใช้ชื่อตอนว่า “ลูกทุ่ง-ลูกกรุงก็เหมือนกัน” จะเป็นการนำเสนอเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง ที่มีเรื่องราว เนื้อหาสาระเหมือนกัน หรือไปในทางเดียวกัน ต่างกันที่รูปแบบของการนำเสนอ จะจัดงานวันที่ 8 มิถุนายน ณ หอประชุมโรงพยาบาลพระมงกุฎ สถานที่เดิม ก็ฝากให้สนับสนุนกิจกรรมดีๆ ของคนรุ่นใหม่ ที่วันหนึ่งข้างหน้า เราต้องยอมรับว่า คลื่นลูกใหม่เหล่านี้ต้องมาทำหน้าที่สืบสานตำนานเพลงเหล่านี้ต่อไป ผู้ใหญ่คงต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อต้อนรับเขาเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมา มีคนในวงการที่ปากเปราะ ถึงขนาดให้ฉายาชมรมนี้ว่า เป็น ”แกะดำ” ของวงการเพลง อันแสดงถึงจิตใจที่คับแคบและคงไม่ได้เข้าไปสัมผัสการทำงานจริงๆ ของพวกเขา ถ้าคนรุ่นเก่าๆ บางคนหรือบางกลุ่ม ยังกีดกันไม่ให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้แสดงฝีมือ เพลงไทยสากลเหล่านี้คงสูญหายหรือตายไปจากวงการเพลงแน่นอนในอนาตคอันใกล้นี้
.......................................
(หมายเหตุ 'ชมรมเพลงแห่งสยาม' : คอลัมน์ เป็นคุ้งเป็นแคว โดย... เคน สองแคว)