บันเทิง

'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก ตอนที่ 2'

'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก ตอนที่ 2'

24 เม.ย. 2557

'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก ตอนที่ 2' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ

 
          เริ่มต้นดนตรีสากลในประเทศไทย ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 มาถึงยุคเพลงประกอบในหนังเงียบและละครเวที เฟื่องฟู จนเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเริงรมย์ของสื่อวิทยุ ในยุคเพลงจากสุนทราภรณ์ แตกแขนงมาสู่เพลงลูกทุ่ง และลูกกรุง ก่อนที่อิทธิพล เพลงร็อกแอนด์โรล จะเข้ามาเผยแพร่ส่งผลให้วัยรุ่นไทยคลั่งไคล้ดนตรีตะวันตกกันอย่างสุดขั้ว
 
          ต่อเนื่องถึง วงดนตรีในแบบชาโดว์ (สตริงคอมโบ) ก่อเกิดวงดนตรีที่เล่นเพลงสากลกันอย่างคึกคัก ในช่วงที่อเมริกันมาตั้งฐานทัพในบ้านเรา สู่การประกวดดนตรีในแบบสตริงคอมโบ โดยมี ดิ อิมพอสซิเบิ้ล (The Impossible) ชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และเริ่มมีการแต่งเพลงใหม่ๆ ขึ้น โดยใช้แนวทำนองดนตรีสสากล แต่ใส่เนื้อเพลงไทย เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ยังเล่นและร้องเพลงสากลเป็นหลัก แสดงตามคลับ ชั้นใต้ดินของโรงแรมหลายแห่งในกรุงเทพฯ
 
          ในยุคเดียวกัน นอกจากเพลง ร็อกแอนด์โรลจะเป็นที่นิยมแล้ว เพลงเพื่อชีวิต อีกฟากฝั่งของดนตรีก็มีอิทธิพลต่อหนุ่มสาวยุคนั้นก็ได้รับความนิยมแบบคู่ขนานไปด้วยเช่นกัน เป็นไปตามสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ที่เป็นยุคเริ่มต้นของช่วง “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” จนถึงช่วงตุลาคม 2519 นั่นถือเป็นการปักธงแนวเพลงประเภทเพลงเพื่อชีวิต ก่อนจะผลิบานไปสู่ผู้ฟังทั่วประเทศไน พ.ศ. ถัดๆ มา
 
ยุคเพลงไทยใส่สูท ลงคาสเส็ท
          ในขณะที่เพลงสากลยังเป็นดั่งอาหารจานหลัก ที่นักดนตรีต้องเล่นให้เหมือนต้นฉบับ เพราะผู้ฟังอยากฟังดนตรีที่เหมือนกับต้นแบบ นักดนตรีกลุ่มแรกๆ ที่พยายามใส่ความเป็นไทยลงไปโดยการนำเพลงเก่าที่เคยได้รับความนิยม ทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง มาห่อหุ้มด้วยทำนองเพลงสากล พยายามทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมานำเสนอ และค่อยๆ ได้รับการยอมรับ ในที่สุดการนำดนตรีดิสโก้มาผสม ทำให้เพลงประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง วงที่ประสบความเร็จในยุค ลูกทุ่ง ดิสโก้ คือ วงแกรนด์เอ็กซ์ (Grand’ Ex) และวงอื่นๆ ที่ทำเพลงลักษณะเดียวกันออกมาอย่างต่อเนื่อง อยู่พักใหญ่ เมื่อเริ่มค่อยๆ หมดความนิยม วงแกรนด์เอ็กซ์ได้นำเพลงเก่าๆ ที่เคยได้รับความนิยมอย่างเพลง บัวน้อยคอยรัก ภาพดวงใจ ลาก่อนความรัก มาเรียบเรียงดนตรีใหม่ ออกอัลบั้มชื่อ แกรนด์เอ็กซ์ โอ ออกจำหน่ายในปี 2524 โดยตัวเลขยอดจำหน่าย เทปคาสเส็ท สูงเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้ยุคเทปคาสเส็ทเฟื่องฟูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
          ขณะที่การนำเพลงเก่าที่เคยได้รับความนิยมกำลังเฟื่องฟู มาทำดนตรีใหม่ได้รับความนิยม ระบบธุรกิจเพลงจึงเริ่มเกิดการตื่นตัวแข่งขันกันมากขึ้น อีกฟากนึงก็เริ่มนำทำนองเพลงต่างชาติ ทั้งจีน และเพลงตะวันตกที่กำลังได้รับความนิยม มาแปลงเนื้อเพลงไทย ออกจำหน่ายไปพร้อมๆ กัน เป็นการเริ่มต้นจากการเลียนแบบ ดัดแปลง ก่อนจะเริ่มค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์เพลงไทยยุคใหม่ ที่แต่งใหม่ทั้งเนื้อเพลงและทำนอง ในเวลาต่อมา
 
ระบบธุรกิจเพลงไทยสากลก้าวเดิน 
          ที่ผ่านมาในช่วง ปี 2521-2526 ธุรกิจเพลงได้เริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่การแข่งขันและเติบโตอย่างต่อเนื่อง การทำเพลงดัดแปลง การนำเพลงเก่ามาร้องใหม่ เริ่มวนซ้ำ ส่งผลให้ตลาดต้องการสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้นักดนตรี ศิลปิน และค่ายเพลงต้องหาสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอ และแล้วก็เกิด คลื่นลูกใหม่ตามมา หลายแบบหลายแนวด้วยกัน
 
          วงประเภทเพื่อชีวิต อย่าง คาราบาว คาราวาน คนด่านเกวียน แฮมเมอร์ นำเสนอเนื้อหาเพลงในแบบการใช้ชีวิต ความไม่ยุติธรรมในสังคม หรือแม้กระทั่งการนำเสนอเรื่องการเมือง ก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้น แม้ว่าจะไม่ใด้แบ่งแยกผู้ฟังอย่างชัดเจน แต่เป็นเพราะมีศิลปินไม่มากนัก คนฟังจึงหลอมรวมไม่แบ่งแยกแนวเพลงและรสนิยมในการฟังอย่างชัดเจนอย่างในปัจจุบัน 
 
ค่ายเพลง ผู้นำเพลงไทยยุค 2527-2531
          นิธิทัศน์, แกรมมี่, อาร์ เอส ต่างได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงในแบบใหม่ๆ เริ่มแบ่งแยกแนวเพลง และมีศิลปินหลากหลายมากขึ้น สร้างสรรค์เพลงขึ้นใหม่ ทั้งเนื้อร้องและทำนอง อาจมีบางเพลงที่ยังเป็นการก๊อบปี้ทำนองต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็นับได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์เพลงไทยสากลในรูปแบบบใหม่ขึ้นมามากขึ้นกว่าแต่ก่อน
 
          นิธิทัศน์ มีศิลปินอย่าง แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ วงฟอร์เอฟเวอร์ วงเพื่อน พัชรา แวงวรรณ ออกผลงานอย่างต่อเนื่อง และได้รับความนิยมอย่างสูง
 
          แกรมมี่ ธงชัย แมคอินไตย์, นันทิดา แก้วสาย, เรวัต พุทธินันทน์, ฐิติมา สุตรสุนทร, ไมโคร, อัสนี-วสันต์ โชติกุล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินที่มียอดจำหน่ายเทปคาสเส็ทสูงระดับล้านตลับทั้งสิ้น
 
          อาร์เอส ประสบความสำเร็จสูงสุดจากการรวมนักร้องชายหญิงหลายคน มาร้องเพลงคู่ (เพลงเก่าที่ได้รับความนิยมในยุคเพลงลูกกรุง) จนได้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น จากอัลบั้ม “รวมดาว”
 
เพลงไทยสากลยุคเบ่งบาน
          ในทางการทำธุรกิจนั้น เมื่อการทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ ก็มักจะมีผู้ทำธุรกิจร่วมทางมาเดินร่วมทางด้วยเสมอ โดยการแข่งขัน ผลิตซ้ำเพื่อแย่งชิงตลาดผู้ฟัง เพื่อดึงความนิยมและเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าให้ได้มากที่สุดนั่นเอง สูตรสำเร็จที่เคยได้ผล อาจไม่ใด้ผลในวันต่อมา จึงต้องค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไปไม่หยุด
 
          มีข้อสังเกตว่าในวังวนเดิมๆ ของธุรกิจ ยังเริ่มมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเช่นเดียวกัน ปรังปรุง ส่วนผสม เพื่อนำเสนอต่อผู้ฟังในช่วงเวลานั้น โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน เพลงเปลี่ยน ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน เพียงแต่ขอให้ทุกขณะที่โลกกำลังเคลื่อน เราเคลื่อนไปกับโลกอย่างมีความสุขได้เท่านั้นก็พอ
 
.......................................
(หมายเหตุ 'โลกเปลี่ยนเพลง เพลงเปลี่ยนโลก ตอนที่ 2' : คอลัมน์ เพลงไทยที่ต้องฟังก่อนตาย โดย... โชคชัย เจี่ยเจริญ)