บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'The Railway Man'

เอกเขนกดูหนัง:'The Railway Man'

25 เม.ย. 2557

'The Railway Man' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
 
          เมื่อสัปดาห์ก่อน มีข่าวแม่ชาวอิหร่านนางหนึ่ง ตัดสินใจยกโทษให้แก่ฆาตกรที่ฆ่าลูกชายของเธอ ก่อนจะถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ และได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ... เหตุใดผู้เป็นแม่จึงสามารถละจากความอาฆาตแค้นเคือง กลายเป็นคนมีหัวใจอันยิ่งใหญ่ รู้ซึ้งถึงการให้อภัย แม้ในรายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่แม่ชาวอิหร่านเปลี่ยนใจให้อภัยฆาตกรที่ฆ่าลูกชายในนาทีสุดท้าย เป็นเพราะวิญญาณลูกชายมาเข้าฝัน ขอร้องมารดาอย่าได้แก้แค้นและตนเองไปสู่สุขคติแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สองสามีภรรยาตระหนัก ละวางจากความพยาบาทครั้งนี้ ก็คงมาจากการที่พวกเขาเรียนรู้ถึงความสูญเสียและเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อครั้งที่ลูกชายถูกแทงตาย เขาอายุแค่ 18 ปี สาเหตุจากแค่เรื่องทะเลาะวิวาท อีกทั้งคู่กรณีก็ไม่ได้เจตนาและเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ผ่านมานานถึง 7 ปีแล้ว
 
          หลายครั้ง บาดแผลในใจของคนเราอาจทุเลาเบาบางลงด้วยเหตุปัจจัยของเวลาที่ผ่านเลย ความทรงจำที่ลืมเลือนร่วงโรยไปตามวัยแต่หลายครั้งที่หลายคนกลับทุกข์ทนทรมานกับแผลในใจที่เกาะกิน บาดลึกเจ็บแปลบทบทวีตามเวลาที่ล่วงเลย และภาพเหล่านั้นผุดขึ้นแทบไม่เคยเลือนหาย ราวกับเพิ่งปรากฏอยู่ตรงหน้า
 
          ในหนังเรื่อง The Railway Man สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอริก โลแมกซ์ ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอังกฤษ ระหว่างถูกจองจำในฐานะเชลยศึก ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟที่จังหวัดกาญจนบุรี อาจดูคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากแม่ชาวอิหร่าน แม้เขาจะไม่ได้สูญเสียคนในครอบครัวที่รัก แต่ก็สูญเสียอิสรภาพ เสียเพื่อน และแทบจะเสียจริตจากการถูกทรมานทรกรรมหลังถูกจับกุมตัว เพราะแอบประกอบวิทยุพร้อมถูกตั้งข้อสงสัยว่าโลแมกซ์ลักลอบส่งข่าวคราวความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร
 
          หลังสงครามสงบและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มของโลแมกซ์ ย้อนกลับมาวนเวียนหลอกหลอนเขาอีกครั้งแม้เวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี ภาพความเจ็บปวดจากการถูกทรมานในค่ายกักกันเชลยศึกที่กาญจนบุรีนับวันดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงและส่งผลสะเทือนทางกายและใจหนักขึ้น อีกทั้งยังกระทบไปถึงแพตตี้ ภรรยาสาวของเขาซึ่งทั้งคู่ก็เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน



 
 
          แต่แล้ววันหนึ่งภาพหลอนและแผลในใจของโลแมกซ์ก็อาจมีหนทางได้รับการเยียวยาเมื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขา ได้เบาะแสของเคมเพไท หรือสารวัตรทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการทรมานโลแมกซ์ ซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นไกด์นำเที่ยวและผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ค่ายกักกันเชลยศึกที่กาญจนบุรี โลแมกซ์ จึงตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเผชิญหน้ากับ ‘ทาเคชินากาเสะ’ อดีตนายทหารหน่วยเคมเพไทคนนี้ที่เคยทรมานเขาหวังแก้แค้นลบรอยบาดแผลในใจที่เกิดขึ้นเรื้อรังมานานหลายปี แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อโลแมกซ์ได้เยือนสถานที่คุมขังในวัยหนุ่ม ความทรงจำอันปวดร้าวในอดีตกลับยิ่งผุดพรายออกมามากขึ้น พร้อมๆ กับแรงแค้นที่มีต่อนากาเสะ ซึ่งเคยกระทำกับเขาก็ยิ่งปะทุออกมาเรื่อยๆ เช่นกัน
 
          เรื่องราวของ เอริก โลแมกซ์ ใน The Railway Man สร้างจากเหตุการณ์จริง ที่ตัวเขาหยิบนำเอาความรู้สึกเหล่านั้นมาเขียนมาเป็นหนังสือ ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นหนังในเวลาต่อมา ความน่าสนใจคือ ไม่เพียงโลแมกซ์ บรรยายให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงคราม และความเลวร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกันเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงผลพวงสืบเนื่องที่เกิดจากสงคราม โดยเฉพาะบาดแผลในใจ ที่หมักหมมในจิตใต้สำนึกจนเกิดเป็นฝันร้าย กลายเป็นภาพหลอน วนเวียนปรากฏในห้วงคำนึงอยู่เสมอ
 
          ตลอดเวลาหลายปีสิ่งที่โลแมกซ์และแม่ชาวอิหร่านต้องเผชิญเหมือนกัน ก็คือ ‘ฝันร้ายในใจ’ ฝ่ายหลังนั้นสูญเสียลูกชาย ในขณะที่โลแมกซ์เอง นอกจากสูญเสียอิสรภาพแล้ว เขา ยังถูกทำร้ายร่างกายและคุกคามขู่เข็ญ รีดเค้นให้บอกความลับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โทษฐานลักลอบประกอบวิทยุของโลแมกซ์นั้น ก็มาจากแค่ความสนใจส่วนตัวบางอย่างเท่านั้น และที่สำคัญสิ่งที่โลแมกซ์และแม่ชาวอิหร่านตัดสินใจกระทำเหมือนกันคือการกลับไปเผชิญหน้า
กับผู้ที่สร้างฝันร้ายให้และเลือกกระทำบางอย่างซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเขาได้รับ
 
          หากเปรียบแผลใจเหมือนแผลกาย นอกจากความเจ็บปวดที่ได้รับแล้ว บางบาดแผลที่ฝังรอยลึกไว้เนิ่นนาน สร้างความเจ็บปวดทรมานไม่หาย การกลับสะกิดปากแผลให้เปิดออกอีกครั้งแม้จะมันเจ็บปวดบ้าง แต่การบ่งให้ฝีหนองเลือดช้ำที่คั่งอยู่ภายในได้พรั่งพรูหลั่งไหลออกมา ก็เป็นวิธีบำบัดความเจ็บปวด ลดความอักเสบ รักษาอาการบาดเจ็บจากบาดแผลเรื้อรังได้อีกทาง เหมือนเช่นการหันหน้าไปเผชิญเหตุแห่งทุกข์ และตัดสินใจปล่อยวางแรงพยาบาทอาฆาตแค้น ในใจ ตระหนักรู้และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เหมือนเราได้สลัดความทุกข์นั้นออกไปจากใจ ย่อมดีกว่าเก็บงำไว้จนตาย เป็นวิถีทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ตามทางแห่งธรรม ซึ่งเอาเข้าจริงหลักคิดของ ‘การให้อภัย’ ก็อยู่ในแนวคิดของทุกๆ ศาสนาเช่นกัน
 
          The Railway Man เป็นหนังที่สะท้อนถึงผลร้ายของสงครามในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแค่ถ่ายทอดความโหดร้ายของมันที่ตกทอดมาสู่ผู้คน จนเกิดเป็นบาดแผลในใจแล้ว หนังยังนำเสนอวิธีที่เหยื่อสงครามบางคนเลือกที่จะให้เยียวยาแผลร้ายในใจตน แม้จะต้องแลกกับการกลับไปสู่ความเจ็บปวดอีกครั้งบ้างก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อปมในใจถูกคลายออก ความทุกข์ที่บีบรัดมานานหลายสิบปีก็บรรเทา น่าเสียดายที่โลกเราทุกวันนี้วุ่นวายเต็มไปด้วยความรุนแรง ก็เพราะส่วนหนึ่งมนุษย์เราไม่เคยนึกถึงความรักและการให้อภัย ทั้งๆ ที่มันถูกพร่ำสอนมานานหลายพันปีผ่านคำภีร์ทางศาสนามากมาย
 
.......................................
(หมายเหตุ 'The Railway Man' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)