
ของปลอมกับโลกดิจิตอลพ่นพิษBKPปิดฉากยีปั๊วขายแผ่นซีดี
26 ม.ค. 2558
ของปลอมกับโลกดิจิตอลพ่นพิษBKPปิดฉากยีปั๊วขายแผ่นซีดี : ลูกทุ่ง
ปิดฉากลงของร้านยีปั๊วขายซีดีไปเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาสำหรับบริษัท BKP 1990 จำกัด หลังจากเป็นคนกลางขายแผ่นซีดีมา 33 ปี ทีมข่าวบันเทิง "คมชัดลึก” พูดคุยกับ สมศักดิ์ ทรงธรรมมากุล ผู้บริหารบริษัท BKP 1990 จำกัด ถึงสถานการณ์ตลาดซีดีที่หลายคนบอกว่าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของวัสดุชนิดนี้แล้ว
“BKP เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเพลง ภาพยนตร์เริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 ย่างเข้า 33 ปีแล้ว ตอนเราเปิดเป็นยุคของเทปคาสเสท พรบ.ลิขสิทธิ์ออกในปี 2521 ตอนนั้นคำว่าลิขสิทธิ์จะใหม่มาก คนไม่เข้าใจว่าลิขสิทธิ์คืออะไร พัฒนาการมาเรื่อยๆ จนมาถึงยุคซีดี วีซีดี ดีวีดี ตอนนี้มาเป็นดาวน์โหลด บ้านเราซีดีเริ่มมาประมาณ 2538-2539 พอซีดีในต่างประเทศเริ่มแพร่หลาย BKP เราเป็นบริษัทหนึ่งที่ซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากเจ้าของเพลงไปผลิตเป็นแผ่นซีดีในต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย ตอนนั้นโรงงานผลิตซีดีในประเทศไทยยังไม่มี ส่วนมากจะผลิตที่เยอรมัน สิงค์โปร ส่วนใหญ่เป็นเพลงไทยมีสตริง ลูกทุ่ง บ้านเรามาผลิตซีดีเองประมาณปี2540"
สมศักดิ์ แห่ง BKP กล่าวถึงการเป็นยี่ปั๊วขายซีดีให้ฟังว่า ปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวแล้ว ทำให้การเป็นยี่ปั๊วของเขาเริ่มได้รับผลกระทบ
“ตอนนี้พอมันเข้ายุคดิจิทัลเต็มรูปแบบแล้ว การเข้าถึงงานที่เป็นรูปของเพลง ของภาพยนตร์มันเข้าถึงได้ง่ายมากครับ โดยการเข้าถึงนั้นมันไม่ได้ผ่านการซื้อขายซึ่งเป็นการละเมิด ในแง่ของการควบคุมก็ยาก เลยได้รับผลกระทบนอกเหนือจากนั้นก็ยังมีโรงงานบางโรงงานที่เข้ามาไม่ถูกต้องตามกฎหมายมาผลิตแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ขายแข่งอีกด้วย มันเลยกลายเป็น 2 ส่วนที่ทำตลาดแย่ลง การขายซีดีก็ตกลงเรื่อยๆ"
สองปัจจัยนี้ ทำให้เขาเห็นสัญญาณบางอย่างว่าอุตสาหกรรมซีดีในประเทศไทยจะตกต่ำลงและอาจต้องเลิกลากันไปเพราะทำแล้วไม่คุ้มค่า
“เราในฐานะเป็นผู้จัดจำหน่ายอยู่ตรงกลาง เราติดต่อกับทางซัพพลายเอ่อร์ ซึ่งก็เป็นค่ายเพลงทั้งเล็กและใหญ่เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายย่อย เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดว่า จากเดิมที่ร้านค้าสามารถที่จะค้าขายเพลงแล้วอยู่ได้ยอดขายก็ค่อยๆ ลดลงแล้วก็ขายอย่างเดียวอยู่ไม่ได้แล้ว เริ่มต้องไปเอาซีดีเพลงไปขายผสมกับอย่างอื่น เมื่อก่อนถ้าเป็นร้านขายซีดีมันก็จะเป็นซีดีอย่างเดียวเลยอยู่ได้เลย พอมันละเมิดกันมากๆ ก็เริ่มอยู่ไม่ได้ หลังๆ มาหาร้านขายซีดีอย่างเดียวหายากมาก ร้านค้าพวกนี้ลดน้อยลงเยอะ”
อีกจุดหนึ่งที่สมศักดิ์ ทรงธรรมมากุล บอกกับเราคือ พฤติกรรมของผู้ผลิตกับบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้เขาต้องลดขนาดองค์กรลงอย่างต่อเนื่อง
“พฤติกรรมของผู้บริโภค เขาจะไม่ซื้อเหมือนสมัยก่อน พอโทรศัพท์แพร่หลายมันทำให้ช่องทางการใช้เงินของวัยรุ่นจากเดิมที่นิยมซื้อแผ่นซีดีฟัง เขาก็เอาเงินไปใช้เกี่ยวกับโทรศัทท์มือถือ ทำให้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมซีดีมันลดลง ผู้สร้างเพลงก็ผลิตงานน้อยลง คนขายก็มีของขายน้อยลง ร้านค้ารายย่อยก็ลดจำนวนลง BKP เรายอดขายก็ลดลง เราก็ปรับตามสภาพโดยลดค่าใช้จ่ายลง ลดคนลง ลดขนาดองค์กร จนเหลือน้อยมากแล้วตอนนี้ ฉะนั้นค่ายเพลงที่คิดว่าจะผลิตซีดีให้อยู่ได้เป็นเรื่องยากมากเรียกว่าทำไม่ได้เลยดีกว่า”
ส่วนยุคดิจิทัลที่เข้ามาอยู่ตอนนี้นั้น สมศักดิ์มองว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำธุรกิจได้เหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งตัวเขาคิดเช่นกันว่าอาจจะต้องเลิกถ้าไม่ไหว
“ก็ต้องรอดูว่ารูปแบบใหม่ในอนาคตมันจะมายังไง มาแล้วสามารถทำเป็นธุรกิจได้ไหม ปัจจุบันมันมาแบบดิจิทัลมาแล้วทำธุรกิจไม่ได้ มันเอื้อให้กับคนที่ใช้ ทุกคนในอุตสาหกรรมล้วนแล้วต้องปรับตัว ค่ายเพลงก็หันไปทำทีวีหรือโชว์มากขึ้น คนจำหน่ายอย่างเราก็ต้องปรับตัว ร้านค้ารายย่อยก็เลิกไปเยอะ อีก 3-4 ปี บางค่ายเพลงจะมีอยู่แต่ไม่เยอะแล้ว บางค่ายอาจจะไม่ผลิตเพราะสิ่งที่เป็นสัญญาณก็คือตอนนี้เพลงใหม่ก็ทำกันน้อยลงแล้ว ออกเพลงก็ไม่ออกเป็นอัลบั้มเหมือนสมัยก่อน แล้วก็ไม่ได้ทำเป็นแผ่นออกมาจำหน่ายเพราะยอดขายมันน้อยมาก เปลี่ยนไปดูออนไลน์วัดเรตติ้งนักร้องจากยอดวิว หลายค่ายเริ่มไม่ผลิตงานเพลงสตริง อย่างเราถ้ามองแล้วว่ามันไปไม่ได้ก็คงต้องเลิก"