
เอกเขนกดูหนัง:'Unfriended'
22 พ.ค. 2558
'Unfriended' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม
หากมีการจัดทำเนียบตัวแทนหนังแห่งยุคสมัย เชื่อแน่ว่า Unfriended คงจะมีรายชื่อหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัยอันที่จริงหนังเขย่าขวัญที่มีพล็อตประเภทการกลับมาแก้แค้นเอาคืนของคนที่เคยถูกกลั่นแกล้งทำร้ายเมื่อในอดีต ดูจะเป็นไอเดียสามัญประจำบ้านของหนังสยองขวัญวัยรุ่นอเมริกันอยู่พอสมควร แต่ไม่ว่าฆาตกรหรือผีร้ายวิญญาณหลอนในหนังเหล่านั้นจะทำงานบรรลุผลสำเร็จกวาดเงินจากคอหนังได้หรือไม่ก็ตาม แต่หนัง American Teen Horror ก็ยังได้รับความนิยม ปีๆ หนึ่งสร้างขึ้นหลายสิบเรื่องเลยทีเดียว ที่สำคัญหนังที่หลายคนอาจจะเบ้ปากใส่แค่แรกเห็น เพราะหาได้มีคุณค่าทางศิลปะหรือชั้นเชิงทางภาพยนตร์นอกจากเสียงหวีดร้องโหยหวนน่ารำคาญ พฤติกรรมโง่ๆ ของตัวละครที่วิ่งหนีจนตรอกจนคนดูสมน้ำหน้ามากกว่าจะเอาใจในชะตากรรมที่พวกเขาได้รับ แต่หลายต่อหลายเรื่องกลับสร้างปรากฏการณ์หรือไม่ก็กลายเป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยในช่วงเวลาต่อมา อาทิ Blair Witch Project หนังเขย่าขวัญที่ก่อให้เกิดแนวทางของหนัง Found Footage จนเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา (ไม่นับรวม Cannibal Holocaust หรือเปรตเดินดิน ต้นตำรับ Found Footage ในรูปแบบสารคดีปลอมๆ เรื่องแรกของโลก ที่สร้างความหวาดวั่นขวัญผวามาแล้วเมื่อ 35 ปีก่อน) ซึ่งไม่ใช่แค่หนังผีเท่านั้น หนังแอนตี้ฮีโร่ หนังสัตว์ประหลาดวัยรุ่นก็เดินรอยตามและประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น Chronicle, Cloverfield หรือหนังวัยรุ่นสยองขวัญชุด Scream ที่สร้างติดต่อกันถึง 4 ภาค, Final Destination 5 ภาค, I Know What You Did Last Summer 3 ภาค, Wrong Turn 6 ภาค และอีกหลายต่อหลายเรื่องมากมาย
อันที่จริงพล็อตของ Unfriended ก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากหนังเหล่านั้น หากแต่กลวิธีการเล่าเรื่องต่างหากที่เหนือชั้นและถ่ายทอดออกมาได้อย่างชาญฉลาด นั่นก็คือการสะท้อนภาพสังคมร่วมสมัยที่เราต่างสื่อสารกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สไกป์ ฯ ที่เราต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ราวกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากหนังจะจำลองรูปแบบการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินความเข้าใจหรือทำให้ผู้ชมเข้าถึงได้โดยง่าย ดังนั้นหนังจึงใช้วิธีง่ายๆ คือการเล่าเรื่องของวัยรุ่น 6 คน ที่เผชิญชะตากรรมจากบุคคลลึกลับร่วมกัน ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม สไกป์ ไปตลอดทั้งเรื่อง แต่ไม่น่าเชื่อว่าหน้าจอแบนๆ ขาดไร้ซึ่งมิติความชัดลึกแบบหนังทั่วไป กลับทำให้เราจดจ่อรอดูผลลัพธ์จากความคึกคะนองของวัยรุ่นทั้ง 6 จากการกระทำของพวกเขาในอดีต
Unfriended สามารถเป็นตัวแทนของยุคสมัยได้อย่างชัดเจนทีเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่การสะท้อนภาพสังคมการสื่อสารของวัยรุ่น ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้น หากแต่หนังยังใช้องค์ประกอบจากความไม่สมบูรณ์ของการสื่อสารผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ในการสร้างอารมณ์ร่วมระทึกขวัญได้ไม่ด้อยไปกว่าหนังสยองขวัญทั่วๆ ไป สัญญาณภาพขาดๆ หายๆ ภาพล้ม บิดเบี้ยวจากความไม่เสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตกลับช่วยสร้างความน่ากลัว ความไม่น่าไว้วางใจต่อภาพบนจอคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า หนังยังไม่ทิ้งอารมณ์ขันท่ามกลางสถานการณ์ร้ายๆ อย่างที่หนังสยองขวัญวัยรุ่นอเมริกันทั่วไปชอบทำกัน หากแต่ Unfriended คิดเยอะแต่ทำน้อยหากได้ผลทางอารมณ์มากไปกว่านั้น เมื่ออาศัยช่องทางจากการทำงานผิดพลาดของคอมพิวเตอร์เมื่อจู่ๆ เพลงในคลังจัดเก็บเกิดดังขึ้นมาในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่ตัวละครเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย ฉากที่ฮามากคือเพลง How You Lie, Lie, Lie ดังขึ้นในช่วงเวลาที่ตัวละครกำลังจะเผยความลับบางอย่างออกมา (หนังไม่ได้ใส่มุกนี้มาลอยๆ หากแต่จงใจตั้งแต่แรก เมื่อให้ตัวละครเปิดเพลงฟังไปด้วยในขณะที่คุยกับกลุ่มเพื่อนผ่านสไกป์ด้วยซ้ำไป)
ที่สำคัญการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียงเหล่านั้น ไม่เพียงผ่านการคิดและใช้งานเพื่อตอบรับเนื้อหาและบริบทในหนังเท่านั้น หากแต่หนังยังใช้ประโยชน์จากความเป็นจริงของสื่อใหม่และสื่อออนไลน์ ทั้งสไกป์ โปรแกรมเฟสไทม์ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ แมสเสจแอพพลิเคชั่น และสโตร์เรจไฟล์บนคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ไม่เพียงเป็นที่นิยม หากแต่สามารถใช้งานได้จริงและบันดาลได้ทุกอย่างภายใต้ต้นทุนแสนต่ำและการทำงานที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน Unfriended ใช้ทุนสร้างเพียงแค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แต่ทำรายได้ทั่วโลกกลับมาสูงถึงกว่า 42 ล้าน) ใช้เวลาถ่ายทำ 16 วันในบ้านหลังเดียว โดยให้ตัวละครทั้ง 6 แยกห้องกันอยู่ หนังเปลี่ยนชื่อถึงสองครั้ง หลังจากชื่อแรก Offline ดูจะธรรมดาเกินไปและไม่อธิบายเรื่องราวให้กระจ่างนัก ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Cybernatural พร้อมนำออกฉายในเทศกาลหนังแฟนตาซีและได้การตอบรับที่ดียิ่งจนค่ายหนังยูนิเวอร์แซลตัดสินใจซื้อไปจัดจำหน่าย และมองว่าชื่อนี้ดูจะตรงตัวเกินไป เปลี่ยนมาใช้ Unfriended ซึ่งเป็นชื่อแรกเริ่มเดิมทีของหนังตั้งแต่ยังเป็นบทด้วยซ้ำไป ในการนำออกฉายในวงกว้าง
การจำลองโลกออนไลน์ได้อย่างสมจริง ถูกนำเสนอผ่านสื่อออฟไลน์อย่างการดูหนังในโรง ที่ดูเหมือนจะล้อกันไปมาของสองเทคโนโลยีได้อย่างสนุกสนาน กลมกลืน ถือเป็นประสบการณ์หรือแนวคิดแปลกใหม่ในการทำหนัง ที่นับวันเราเสพติดกับหนังมหากาพย์ฟอร์มยักษ์ที่อะไรๆ ต้องดูอลังการงานสร้าง จนละเลยกับความรู้สึกและอารมณ์ร่วมเล็กๆ น้อยๆ ของการดูหนังไปจนเกือบหมดแล้ว
.......................................
(หมายเหตุ 'Unfriended' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)