บันเทิง

'Anna and the King (1999)'

'Anna and the King (1999)'

11 มิ.ย. 2558

'Anna and the King (1999)' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย.. ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
 
           จำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีข่าวครึกโครมในวงการหนังเมื่อรัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้ทีมงานหนังเรื่อง Anna and the King เข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย ทำให้หนังต้องข้ามถ่ายทำในประเทศข้างเคียงอย่างมาเลเซียแทน เท่านั้นยังไม่พอ ครั้นถ่ายทำเสร็จ บริษัทผู้จัดจำหน่ายทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เตรียมนำเข้าฉายในไทย แต่ก็ไม่ผ่านการพิจารณาของกองเซ็นเซอร์ หรือคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่ขึ้นตรงกับตำรวจสันติบาลสมัยนั้น เนื่องจากมองว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม แม้ Anna and the King จะไม่มีโอกาสเยื้องกรายให้คนไทยได้ชื่นชมหรือมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อิงประวัติศาสตร์กรุงสยาม แต่หนังก็ไปประสบความสำเร็จในตลาดโลก ทำรายได้มากกว่าร้อยล้านดอลลาร์ เข้าชิงสองรางวัลออสการ์ (กำกับศิลป์และออกแบบเสื้อผ้า) และสองรางวัลลูกโลกทองคำ (ดนตรีประกอบและเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม How Can I Not Love You) แม้สุดท้ายจะพลาดไปทั้งหมด แต่ Anna and the King ก็ยังเป็นที่ชื่นชมในเรื่องของความงดงามจากการจัดองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดในหนัง
 
           อันที่จริงเรื่องราวความสัมพันธ์ของแหม่มสอนภาษาชาวอังกฤษและมหาราชาแห่งราชอาณาจักรสยาม เคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว ครั้งแรกเมื่อปี 2489 กำกับโดย จอห์น ครอมเวลล์ มี ไอรีน ดูนน์ รับบทเป็น แอนนา เลียวโนเวนส์ และ เล็กซ์ แฮริสัน รับบทเป็นคิงมงกุฎ Anna and the King เวอร์ชั่นนี้ คว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 19 ไปสองตัวในสาขากำกับภาพและกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ที่สำคัญหนังมีโอกาสเข้ามาฉายในบ้านเราที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงด้วย ความสำเร็จของหนังและความสนุกของนวนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam แต่งโดย มาร์กาเร็ต แลงดอน เมื่อปี 2487 โดยดัดแปลงมาจากบันทึกของแอนนา เลียวโนเวนส์ ที่เขียนขึ้นในปี 2413 หลังเธอเดินทางกลับจากสยาม จากการมาใช้ชีวิตในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษให้พระราชโอรสและธิดา รวมถึงเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเวลานานถึง 5 ปี แอนนาเขียนหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติออกมาสองเล่มในชื่อ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem
 
           ความสำเร็จของหนังที่ดัดแปลงจากนวนิยาย ในอีก 5 ปีต่อมา Anna and the King ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครเพลงบรอดเวย์ในชื่อ The King and I และครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น เปิดแสดงมากกว่า 1,200 รอบ ต่อเนื่องกันยาวนานร่วม 3 ปี ก่อนจะนำมาสร้างเป็นหนังเพลงอีกครั้งใน 2499 เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 สาขา และคว้ามาได้ถึง 5 รางวัล หนึ่งในนั้นคือนักแสดงนำชาย ยูล บรินเนอร์
 
           Anna and the King หรือ The King and I ถูกนำมาสร้างเป็นทีวีซีรีส์ใน 2515 ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ต่อมาถูกนำมาทำเป็นแอนิเมชั่นในปี 2542 ก็ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ และในปีเดียวกันนั้นเอง เวอร์ชั่นภาพยนตร์ก็ปรากฏอีกครั้งภายใต้การนำแสดงของ โจดี้ ฟอสเตอร์ ในบทแหม่มแอนนา โดยมี โจว เหวิน ฟะ มารับบทคิงมงกุฎ
 
           หนังสร้างได้อย่างประณีตมากโดยเฉพาะการจำลองฉากพระบรมหาราชวัง องค์ประกอบศิลป์โดยรวมทำได้งดงามทั้งงานกำกับภาพ แสง เงา รวมถึงดนตรีประกอบ (แม้จะเต็มไปด้วยเสียงดนตรีเครื่องสายแบบจีนก็ตาม) น่าเสียดาย ที่หนังไม่ได้ถ่ายทำในไทย นักแสดงสมทบจึงเป็นชาวต่างชาติที่พูดไทยไม่ชัด แต่การแสดงนั้นแต่ละคนทำได้ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะไป่หลิง นักแสดงเชื้อสายจีน ในบทเจ้าจอมทับทิม ถือว่านี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอเลยทีเดียว 
 
           หนังนำเสนอมุมมองที่มีต่อกษัตริย์ไทยในสายตาคนตะวันตก ที่ยกย่องในพระปรีชาสามารถ มีวิสัยทัศน์ในการปกครองบ้านเมืองนำพาประเทศไปสู่อารยะ เพิ่มแง่มุมทางประวัติศาตร์ใหม่ๆ ให้เราอยากไปศึกษาค้นคว้าต่อ
 
           ปีนี้ละครเพลง The King and I เปิดแสดงอีกครั้งที่บรอดเวย์ ได้การตอบรับอย่างล้นหลาม ทั่งยังคว้ารางวัลโทนี่ อวอร์ด ประเภทละครเวทีที่นำกลับมาทำใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม
 
           ประวัติศาสตร์ไทย ในแต่ละยุคสมัย ยังน่าสนใจเสมอ ไม่ว่าจะเล่าในมุมมองใดก็ตาม
 
.........................................
(หมายเหตุ 'Anna and the King (1999)' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย.. ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)