บันเทิง

#บาดแผลก็เช่นกัน

#บาดแผลก็เช่นกัน

21 ก.ค. 2558

#บาดแผลก็เช่นกัน : คอลัมน์ ขบคิดขีดเขียน โดย... หญิงยศ

 
          ในช่วงที่ผ่านมา หญิงยศได้ออกหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มแรกของตัวเองค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนังสือเล่มเล็กที่สำนักพิมพ์ A Book เขาครบรอบ 12 ปี เขาเลือกบุคคลจากต่างอาชีพมา 12 คน เพื่อเขียนถึง 12 เรื่องราวในชีวิตของพวกเขา หญิงยศเป็นหนึ่งใน 12 บุคคลที่ได้รับเกียรตินั้นด้วย...
 
          ตอนที่ได้รับการติดต่อมานั้น พี่ตุ๊ก บก.ของหนังสือแสนเท่ A Day Bulletin เป็นคนโทรมาหาหญิงยศ พร้อมกับทาบทามว่า “ลองเขียนถึงแผลของเธอไหม? เห็นเป็นแผลบ่อยๆ” เชื่อไหมคะว่าจนถึงวินาทีที่ได้คำพูดนั้นจากพี่ตุ๊ก หญิงยศไม่เคยรู้สึกตัวเองเลยว่าเป็นคนที่เต็มไปด้วยบาดแผลมากแค่ไหน... ด้วยความที่เป็นเด็กที่โตมากับคุณแม่ที่ค่อนข้างเลี้ยงอย่างเข้มงวด ก็เลยไม่ค่อยจะเป็นแผลจากการใช้ชีวิตผาดโผนใดๆ เพราะแค่ไปแดนเนรมิตยังต้องมีคนไปคุมเป็นขบวน
 
          แต่ชีวิตก็ดำเนินมาจนหญิงยศได้ทำความรู้จักกับการเล่นกายกรรมเมื่อสองปีที่แล้ว พูดได้เลยว่า จำนวนแผลในช่วงสองปีที่ผ่านมา รวมแล้วมากกว่าที่เคยเป็นแผลมาทั้งชีวิต แต่มันแปลกตรงที่หญิงยศกลับไม่กลัว และเมื่อมานั่งทบทวนถึงมันแล้ว ก็สรุปความได้ว่า “บาดแผลใดก็ตาม ถ้ามันเกิดมาจากสิ่งที่เรารัก ต่อให้เจ็บมากแค่ไหน เราก็จะทนได้ และเราไม่เคยจำมันในฐานะบาดแผลเลย แต่กลับจำว่ามันคือส่วนหนึ่งของการเติบโตเท่านั้นเอง”
 
          ประสบการณ์จากการเขียนหนังสือเล่มนี้มันมีมากเกินกว่าที่หญิงยศจะคาดเดาได้ ครั้งแรกนั้นมันเกิดขึ้นตอนที่หญิงยศกำลังเรียบเรียบเรื่องราวจากบาดแผลต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแผลทางร่างกาย หรือแม้แต่แผลที่จิตใจ... การเขียนหนังสือคือการกลับไปที่จุดที่เราเคยอ่อนแอที่สุด เราขุด เราสะกิด เราแกะแผลเดิมออกมาเพื่อเอามาเป็นแรงขับให้ตัวหนังสือมันเคลื่อน สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ คือการเปิดปากแผลต่างๆ เหล่านั้น มันเหมือนการเปลือยใจให้ล่อนจ้อน และเปลือยผิวหนังให้อ่อนบาง ตลอดอาทิตย์นั้น หญิงยศกลายเป็นคนที่จมอยู่กับความเจ็บปวด ที่แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้รู้สึกรุนแรง แต่มันกลับแสดงออกมาในหลายๆอย่าง หลายๆงานของหญิงยศในช่วงอาทิตย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นสเตตัสต่างๆในโลกโซเชียล หรือแม้แต่คอลัมน์นี้เองที่หยิงยศเขียนในช่วงนั้น มันคงเต็มไปด้วยความอ่อนแอและบาดแผลที่หญิงยศขุดขึ้นมา จนทำให้มีเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนแสดงความเป็นห่วงเข้ามาว่าเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า ทำไมช่วงนี้ถึงฟังดูอ่อนแอเหลือเกิน...
 
          ปากแผลมันโดนเปิด โดยที่เราคงลืมปิดเมื่อเขียนหนังสือจบลงไปแล้ว เรียกว่าหนังสือจบแต่คนไม่จบนั่นเอง ณ วันนั้นหญิงยศได้รู้สึกถึงความทรงพลังของบาดแผล จากการเปิดปากแผลของตัวเองเป็นครั้งแรก ส่วนอีกครั้งที่ได้รับรู้ความทรงพลังของบาดแผล ก็เมื่อหนังสือ “12 บาดแผล” ได้เปิดตัวไปแล้ว ในวันที่หญิงยศไปงานเปิดตัวหนังสือนั่นเอง คืนนั้นที่พวกเรามาเข้าคลาส “กายกรรมเพื่อการแสดง” ครูเล้ง ราชนิกรเลือกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเป็นโจทย์ให้กับการแสดงกายกรรมของนักเรียนแต่ละคนค่ะ
 
          โจทย์มีอยู่ว่า นักเรียนที่จะขึ้นไปแสดง ก่อนจะขึ้นผ้าให้เปิดหนังสือ 12 บาดแผล นี้ไปที่หน้าไหนก็ได้ แล้วให้ย้อนไปที่ชื่อตอนของบาดแผลนั้น แล้วให้เล่าประสบการณ์ตรงของตัวเอง นักเรียนคนแรกเป็นช่างทำผมอันดับต้นๆของเมืองไทย ที่บนจอทีวีหรือในหน้าหนังสือนิตยสาร เราจะเห็นพี่หรั่ง แห่งร้าน The Lounge ในมาดของแฮร์สไตลิสต์ที่น่าเกรงขาม แต่สำหรับพวกเราในสตูดิโอกายกรรม พี่หรั่งเป็นพี่ที่แสนจะน่ารัก มีน้ำใจและมีความจริงใจให้น้องๆ ทุกคน คืนนั้นพี่หรั่งเปิดหนังสือ แล้วได้บทความตอนที่ชื่อว่า “รอดชีวิต” พี่หรั่งเล่าให้เราฟังว่ามันมีเหตุการณ์มากมายเหลือเกินที่เกิดขึ้น ตลอดชีวิตของพี่หรั่งที่เรียกว่าเกือบตาย แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ และมันทำให้พี่หรั่งเป็นพี่หรั่งในทุกวันนี้ พูดจบครูเล้งก็เปิดเพลงแล้วพี่หรั่งก็เริ่มปีนผ้า แต่คราวนี้พี่หรั่งกลับปีนขึ้นไปนั่งนิ่งๆ อยู่บนผ้า นิ่งอยู่นานเลยค่ะ แล้วสุดท้ายเราเห็นพี่หรั่งเอามือเช็ดน้ำตาพร้อมกับเสียงสะอื้นออกมา แต่พี่หรั่งก็ไม่ลง... เราเห็นพี่หรั่งรวบรวมสติแล้วปีนขึ้นไปบนผ้า ทุกการเคลื่อนไหวเราเห็นว่ามันผ่านไปด้วยน้ำตา และเราได้ยินเสียงพี่หรั่งสะอื้นอยู่เป็นระยะๆ หญิงยศไม่ใช่คนเดียวที่น้ำตาไหลตลอดการแสดงของพี่หรั่ง จนเพลงจบ พี่หรั่งลงมาจากผ้า พวกเราเข้าไปกอดพี่หรั่งทีละคนจนครบ เราเฉลิมฉลองการรอดชีวิตที่พี่หรั่งยอมเปิดบาดแผลทั้งหมด เพื่อแชร์กับพวกเราแล้วปล่อยให้กายกรรมช่วยบำบัดทุกแผลให้หายดี
 
          คนต่อไปคือ น้องบิวตี้ เด็กน้อยวัยแปดขวบ  บิวตี้ได้บทความตอน “ตกให้เป็น” เด็กน้อยวัยแปดขวบไม่ได้คิดลึกซึ้งไปกว่า “หนูเพิ่งตกไปค่ะ” แต่สิ่งที่บิวตี้พูดต่อไปก็คือ “หนูจะยอมตกให้เป็น จนกว่าฝันของหนูจะเป็นจริง” บิวตี้ขึ้นไปเล่นกายกรรมในคืนนั้นเรียกว่าผู้ใหญ่ทุกคนตกใจ จนพอลงมา ครูเล้งถึงต้องถามว่าหนูฝันอะไรไว้ลูก บิวตี้พูดว่า “หนูฝันอยากเก่งเหมือนครู หนูจะเก่งให้ได้เหมือนครูค่ะ” พูดไม่จบดี เด็กน้อยก็ต้องตกใจกับสิ่งที่ประดังเข้ามา บิวตี้ร้องไห้จนครูเล้งต้องกอดเอาไว้นาน... บาดแผลแรกของเด็กน้อยแสนบริสุทธิ์ ความเศร้า ความผิดหวัง บาดแผลต่างๆ มันเข้ามาในชีวิตของเราตั้งแต่เรายังเด็กน้อยเหลือเกิน และมันอยู่กับเรา สอนให้เราเอาชีวิตให้รอดไปจนวันที่เราสิ้นลมหายใจ
 
          ในคืนนั้นหญิงยศได้เห็นกับตาและได้รู้สึกด้วยใจว่า “บาดแผล” มันมีอานุภาพยิ่งใหญ่เพียงใดในชีวิตของแต่ละคน ถ้าเปรียบความรักเป็นภาษาสากลที่คนทุกชาติทุกภาษาต่างก็เข้าใจตรงกันได้ บาดแผลก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ไม่มีใครหลีกหนีได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะเซ่นบาดแผลนั้นด้วยเลือดหรือน้ำตา แต่สุดท้ายเมื่อแผลหาย เราจะได้บทเรียนที่ดีในชีวิตติดมาด้วย หญิงยศหยุดกลัวการเป็นแผลเพราะเชื่อว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้ว ดีทั้งนั้น
 
.......................................
(หมายเหตุ #บาดแผลก็เช่นกัน : คอลัมน์ ขบคิดขีดเขียน โดย... หญิงยศ)